กรมชลฯ เพิ่มความถี่วัดพฤติกรรมเขื่อนทุก 15 วัน ป้องกันซ้ำรอย ‘เซเปียน-เซน้ำน้อย’ แตก
อธิบดีกรมชลประทาน สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทุกเขื่อนตลอด 24 ชม. หลังเกิดเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาวแตก เพิ่มความถี่วัดพฤติกรรมอ่างเก็บน้ำทุก 15 วัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 26 ก.ค. 2561 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ตามคำสั่งของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงและสภาพน้ำของเขื่อนทุกเขื่อน ภายหลังเกิดเหตุการณืโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก จนส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างน้อย 7 หมู่บ้าน ในเขตสะหนามไซ ประเทศลาว ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 26 ราย ผู้สูญหาย 131 ราย และ 1,300 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน
นายทองเปลว กล่าวว่า เขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สามารถเก็บกักได้ 224 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำราวร้อยละ 53 หรือคิดเป็น 120 ล้านลบ.ม. มีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 1 แสนล้านลบ.ม. พบมีความแข็งแรง เช่นเดียวกับ 25 เขื่อนขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก จึงได้สั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเขื่อนของประเทศไทย โดยจัดให้เจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนเฝ้าติดตามตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถประสานกับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นไป พร้อมกับเตรียมเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำกรณีที่ฝนตกหนักท้ายเขื่อน
ทั้งนี้ การตรวจสอบเขื่อนขนาดใหญ่ มี 2 วิธี คือ การตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ซึ่งอุปกรณ์จะฝังไว้ในเขื่อน เฉพาะเขื่อนขุนด่านปราการชล มีอุปกรณ์ 158 ชิ้น ฝังอยู่ 580 จุด ของเขื่อน ประกอบด้วย การวัดความดันตัวเขื่อน การวัดทรุดตัว การวัดสไลด์ ซึ่งวิธีการนี้โดยปกติแล้วจะใช้เกณฑ์ทดสอบเดือนละ 1 ครั้ง แต่ขณะนี้ได้เพิ่มความถี่เป็นทดสอบทุก ๆ 15 วัน จากนั้นจะนำไปวิเคราะห์ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
อีกวิธีหนึ่ง คือ การเดินสำรวจตรวจสอบด้วยตาเปล่าว่า เกิดการเซาะและเกิดรูโพรงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เขื่อนถูกทำลาย พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า เขื่อนทั้งหมดภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน เขื่อนขนาดใหญ่ 25 เขื่อน เขื่อนขนาดกลาง 478 เขื่อน และเขื่อนขนาดเล็ก 1,097 เขื่อน มีสภาพพร้อมใช้งาน มั่นคงแข็งแรง
สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำทั้งหมด 49,466 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 25,546 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 มากกว่าช่วงเดียวกันในปี 2560 ประมาณ 5,203 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 517.22 ล้านลบ.ม./วัน และปริมาณน้ำระบายออก 185.27 ล้านลบ.ม./วัน สามารถรับน้ำได้อีก 2,6541 ล้านลบ.ม.