ความสุข ความเจริญ หนีไม่พ้นโรคภัยไข้เจ็บ
หลังจากได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปลงพื้นที่กับหน่วยแพทย์เดินเท้า พอ.สว. ครั้งที่ 17 นี้ นอกจากจะเหนื่อยจากการเดินเท้าขึ้นลงไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ทำให้ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยชาวดอยมากขึ้น และสังเกตเห็นโรคร้ายสารพัดที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านสารพัดทั้งหนักทั้งเบา นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสออกจากพื้นที่หน่วยไปยังตัวบ้านของผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเดินมารับบริการถึงหน่วยได้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้พิการ หรือผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงอย่างมะเร็งระยะสุดท้าย
ทั้งนี้การไปเยี่ยมชาวบ้านถึงตัวบ้าน ก็เปิดโอกาสให้ผมได้สำรวจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ประกอบกับที่ได้คุยกับพี่ ๆ หมอและเภสัช ก็ได้เห็นภาพใหญ่ ๆ ว่า วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่สอดคล้องกับภูมิประเทศกลางหุบเขานั้น มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพและโรคที่พบเจอได้บ่อยในหมู่ชาวบ้านอยู่มากเลยทีเดียว
เริ่มต้นจากวิถีชีวิตบนดอย อาชีพยอดฮิตที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคือเกษตรกรรม ชาวบ้านที่นี่ปลูก ’ข้าวดอย’ ซึ่งไม่ได้อร่อยล้ำอย่างข้าวสวยหอมมะลิที่เรากินกันข้างล่างนี้ รวมถึงผักชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาล ซึ่งในทุก ๆ วันก็จะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางข้ามดอยสูงไปยังพื้นที่ไร่นาของตัวเองเพื่อทำงานอย่างหนัก และเดินข้ามดอยกลับหมู่บ้านไปในเวลาพลบค่ำ
การใช้แรงกายตั้งแต่การเดินทางไป-กลับที่ทำงาน จนถึงการทำไร่ทำนากันอย่างเหน็ดเหนื่อย มันก็เป็นกิจวัตรในทุก ๆ วันของชาวบ้านที่นี่
แล้วผลที่ตามมาจากการทุ่มแรงกายในทุก ๆ วันเพื่อหาเลี้ยงปากท้องเป็นอย่างไรล่ะ
ก็ ‘ปวด’ สิครับ !
ไม่ว่าจะปวดหลังจากการก้มระหว่างทำไร่นา ปวดเข่าจากการเดินขึ้นลงดอยวันละหลายกิโลฯ ปวดข้อ ปวดเอว ปวดแขน ปวดขา ปวดสารพัด ทั้งหมดก็เป็นผลพวงมาจากการใช้แรงกายนั่นแหละครับ อาการเหล่านี้มักจะพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก
อาการต่อมาเกิดจากวิถีการรับประทานอาหารครับ เริ่มต้นด้วยอาหารส่วนใหญ่ที่ชาวดอยรับประทานกันคือ ‘ข้าวกับน้ำพริก’ ชาวดอยที่นี่กินน้ำพริกมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก นั่นหมายความว่าพวกเขารับรสจัดเป็นเรื่องปกติมาเป็นเวลานานมากแล้ว อาการป่วยที่เจอได้มากเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็คงจะหนีไม่พ้นโรคกระเพาะ และโรคไต
.
นอกจากปัญหาเรื่องอาหารที่กินในทุกวันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของตัวผู้กินเองด้วย เนื่องจากวิถีชีวิตที่ไม่อาบน้ำสระผม ล้างมือ แปรงฟัน ทำให้มีเนื้อตัวที่ค่อนข้างสกปรก เลอะดินเลอะโคลนอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งในเวลากินข้าวซึ่งนิยมใช้มือเปล่าที่เลอะดินนั่นแหละ ไม่ใช้ช้อนใช้ส้อม จึงมีปัญหาในเรื่องของพยาธิเข้ามาเพิ่มอีก
นอกจากนี้เรื่องของการเป็นอยู่ในที่สูงและมีอากาศหนาวโดยเฉพาะในฤดูหนาว ก็ต้องหาวิธีการมารับมือกับความหนาวเหน็บยามค่ำคืนในบ้านที่สร้างขึ้นจากไม้ที่ไม่มิดชิด ไม่สามารถกันลมหนาวได้
ที่ไม่มิดชิด เพราะไม้ไม่ได้ตัดและประกอบให้พอดีกับแบบบ้าน มีขนาดความหนาสั้นยาวไม่เท่ากัน เมื่อนำมาสร้างบ้านจึงทำไห้เกิดช่องว่างตามผนัง ปล่อยให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้
พวกเขาจึงเลือกที่จะก่อกองไฟผิงเอาในบ้าน !
ยิ่งทรงบ้านไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีปล่องไฟด้วย ควันที่ลอยออกมาจากไฟจึงอบอยู่แต่ในบ้าน อาจจะมีทะลุออกไปตามช่องลมบ้าง แต่ด้วยความที่ตัวบ้านมีเพียงห้องเล็ก ๆ ห้องเดียว ต้องกิน นอน ทำอาหารในห้องนอนห้องเดียว ขับถ่ายบริเวณระเบียง โดยรวมแล้วชาวดอยจึงถูกรมควันมาทั้งชีวิตเลยครับ
ผมเพียงแค่เดินเข้าไปในตัวบ้านไม่กี่นาทีก็แทบจะทนไม่ได้กับการถูกรมควันเสียแล้ว แต่พวกเขาก็ทนกันเป็นเรื่องปกติ !!
ปัญหาที่ตามมาคือโรค COPD ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หรือกระทั่งมะเร็งปอด สร้างอาการหายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย อาจมีการไอเรื้อรังในบางกรณี
ทั้งหมดเกิดจากการสูดดมควันเข้าไปนี่แหละครับ
นี่ยังไม่นับอุบัติเหตุที่เกิดจากการนอนใกล้กองไฟในบ้านเกินไปเพราะหนาวมาก แล้วในเวลากลางคืนก็ดันละเมอกลิ้งเข้าไปในกองไฟอีกนะ ฮ่า ฮ่า ตลกร้ายเลย ถ้ากรณีนี้คงหนักต้องลงไปหาหมอในโรงพยาบาลของอำเภอ
พูดถึงการลงไปที่อำเภอของชาวบ้าน ทุกครั้งที่จะลงไปในเมืองจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายราว 3,000 บาท ขากลับอีก 3,000 บาท รวมเป็นไปกลับเบ็ดเสร็จ 6,000 บาท
หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาก็ไม่มีสัญญานโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลหรือหน่วยฉุกเฉินขึ้นมารับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็คงจะใช้เวลาอย่างน้อยทั้งวันเพื่อลงไปที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ
หากเป็นเหตุฉุกเฉินจริง ๆ บางครั้งก็ลงไปไม่ทัน จบชีวิตระหว่างทาง ซึ่งก็มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้งมาก
ลองคิดดูสิ ถ้าเราขึ้นไปอยู่บนดอยแล้วเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นมา..นรกของจริง !
นี่ยังไม่รวมโรคติดต่ออีกมากมายหลายแขนงไม่ว่าจะเป็น ไข้ป่า มาลาเรีย หรือไข้เลือดออก อีกนะ
ลองมาคิดดูอีกครั้งหนึ่งก็จะเห็นได้ว่า โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน และโรคหลอดเลือดในสมอง กลับไม่ค่อยพบอยู่ในหมู่ชาวบ้านมากมายเท่ากับคนเมืองอย่างเรานัก
ชาวดอยอาศัยอยู่กับธรรมชาติ และต้องหาทางต่อกรกับธรรมชาติในยามที่มันสำแดงความโหดร้าย ธรรมชาตินำมาซึ่ง ‘การบังคับให้ต้องปรับตัว’ หากไม่ปรับตัวก็จะไม่ถูก ‘คัดเลือก’ ให้ไปต่อ และไม่สามารถดำรงเผ่าพันธ์สืบไปได้ คำว่า ‘คัดเลือก’ ในที่นี้มาจากทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมธรรมชาติ (Natural Selection) ของคุณลุงชาลส์ ดาร์วิน
โดยหากจะพูดว่ากลไกของทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมธรรมชาตินั้นยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นท่ามกลางวิถีชีวิตเหล่าชาวบ้านผู้ยากไร้บนดอยสูงห่างไกลความเจริญ ก็คงไม่ผิดนัก
...แต่ก็อีกนั่นแหละ คิดในมุมตรงกันข้าม...
วิถีชีวิตชาวเมืองอย่างเราที่อยู่ท่ามกลางความศิวิไลซ์ โดยมีเทคโนโลยีทางต่าง ๆ มากมายรวามถึงการแพทย์อันล้ำสมัยที่เข้ามาจัดการกับสารพัดโรคภัยไข้เจ็บที่ธรรมชาติเคยสร้างเอาไว้ แต่ธรรมชาติก็คือ ‘ความเป็นจริง’ ที่ต่อให้พัฒนาเทคโนโลยีเอาไว้มากมายแค่ไหน ก็ไม่อาจหนีพ้นโรคภัยไข้เจ็บได้หรอก สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเอง กินหวานมากไปจนเบาหวานขึ้น ทำงานหนักเกินไปจนเครียด แม้จะมีรถขับ ไม่ต้องเดินข้ามดอยไปทำงาน ดื่มเหล้ามากไปจนความดันขึ้น ติดยา ดราม่ากับชีวิต ผิดหวังจากความรัก นอนไม่หลับ บลา บลา บลา….
เพียงอาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการที่เกิดจากการถูกบีบให้เกิดโดยความโหดร้ายของธรรมชาติ หากแต่เป็นเพราะความ ‘สบาย’ ที่เทคโนโลยีได้มอบให้เราล้วน ๆ
เราอาจมีทางเลือกมากกว่าการกิน ‘ข้าวกับน้ำพริก’ ที่มีรสจัด แต่เราก็ต้องมาป่วยเพราะความหวาน
เราอาจได้อาบน้ำแปรงฟันวันละ 2 หน แต่ความสะอาดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีความ ‘งดงาม’ ยิ่งกว่าที่ได้รับมาจากธรรมชาติ นำไปสู่การศัลยกรรมใช้มีดกรีดใบหน้าเก่าและแต่งของใหม่ลงไปแทน
เราอาจจะมีบ้านที่อบอุ่น และปลอดภัยจากอุบัติเหตุไฟไหม้ แต่กลับมีคนตายเพราะถูกไฟฟ้าช็อต
โรงพยาบาลหรือคลินิกหมออาจตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเรา แต่เมื่อไปถึงก็ยังพบผู้ป่วยที่ต่อคิวรอรับยาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก….และมากขึ้นทุกปี....
เราอาจปลอดภัยจากมาลาเรียในยุคปัจจุบัน แต่ก็มีไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นตอมาจากสัตว์กระจายระบาดอยู่เป็นระยะ และมันก็ยังสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่ต่างจากมาลาเรียเลย
ในขณะที่เราหาทางต่อกรกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ตัวธรรมชาติเองกลับทำเพียงแค่ ‘อยู่เฉย ๆ’ เท่านั้น…
อันที่จริงไอ้ระบบกลไกของการคัดเลือกโดยธรรมชาติเนี่ย มันอาจถูกปรับแต่งซ่อมแซมใหม่นิดหน่อยเพื่อนำมารับมือกับมนุษย์โดยเฉพาะ หากเรียกว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติอาจจะดูล้าสมัยไปหน่อย ผมก็จะขอเรียกมันว่า ‘การคัดเลือกโดยทุนนิยม’ แล้วกันนะครับ
ความหมายก็ง่าย ๆ ก็คือใครที่แข็งแร่ง (รวย) ก็อยู่อย่างสุขสบาย ส่วนใครที่อ่อนแอ (จน) โดยส่วนมากก็จะมักเป็นคนที่ทำงานให้คนที่แข็งแกร่งกว่าได้สุขสบายยิ่งขึ้น
เป็นกลไกที่ว่าด้วย ‘ชนชั้น’ ซึ่งมีค่านิยมและมายาคติมากมายทำให้ชนชั้นที่อยู่ข้างล่างมองขึ้นไปที่ชนชั้นข้างบนอย่างยอมรับนับถือ (Look up above) ขณะที่ชนชั้นข้างบนกลับมองลงมาที่ชนชั้นข้างล่างอย่างไม่อยากจะเข้าใกล้นัก (Look down upon)
เป็นระบบที่มีความซับซ้อนจนผู้อ่อนแออันไร้ปัญญา หรือถูกทำให้ไร้ปัญญา ไม่สามารถเข้าใจ ‘ความจริง’ ของระบบและถูกกดทับโดยผู้แข็งแกร่งซึ่งมีกำลังอำนาจพอที่จะควบคุมกลไกการขับเคลื่อนของระบบ คือเงิน และกดทับคนข้างล่างต่อไปเพื่อความสุขความเจริญของตัวเองที่มีอยู่เพราะระบบแสนดีระบบนี้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า
โดยสุดท้ายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยกลไกของระบบการปกครองก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด และจบที่การคร่าชีวิตกันเองของมนุษย์ด้วยกันเอง
ตั้งแต่ต้นจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงจะเห็นแล้วว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบจัดการกับปัญหาขนาดไหน จัดการปัญหาที่ขัดแย้งกับทุกสิ่งโดยเฉพาะกับธรรมชาติ ในเรื่องโรคภัยไข้จ็บ เมื่อคิดหาทางรักษาโรคเก่าได้ ก็จะต้องเจอกับกรณีใหม่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
เมื่อข้ามผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติมาได้ ก็ต้องมาเจอกับการคัดเลือกโดยระบบทุนนิยมอยู่ดี
สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาหรือความขัดแย้งต่าง ๆ โดยมนุษย์ ก็มักจะส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาให้แก้แทนซ้ำไปตลอดอย่างไม่จบไม่สิ้น
อย่าคิดว่าชาวดอยด้อยความเจริญ
และอย่าคิดว่าชาวเมืองเจริญ
ทั้งชาวดอยและชาวเมืองอย่างพวกเราล้วนเผชิญกับปัญหา เพียงแต่เป็นปัญหาคนละลักษณะเท่านั้น..
เพราะปัญหาก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ รวมถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์เองก็อยู่ในกรอบของธรรมชาติเช่นเดียวกับปัญหา และก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์และปัญหาจะเวียนมาพบกันอยู่สม่ำเสมอ แต่ด้วยความที่มนุษย์นั้นไม่ชอบเจอกับปัญหาเท่าไรนัก พวกเขาจึงหาวิธีการแก้ปัญหา ให้ตัวเองไม่ต้องพบเจอกับปัญหาโดยพาตัวเองให้หลุดออกมาจากกรอบของธรรมชาติ ด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีขึ้นมา เมื่อคิดว่าตัวเองสามารถเอาชนะเหนือธรรมชาติได้แล้ว กลับพบกับปัญหาใหม่ที่เกิดจากนวัตกรรมที่ตนได้คิดค้นขึ้นมาอยู่ดี พวกเขายังคงดิ้นรนฝืนกรอบของธรรมชาติต่อไปและหาทางซ่อมแซมส่วนบกพร่องให้เกิดความสมบูรณ์แบบโดยที่ลืมไปเสียว่ามนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กำเนิดมาจากธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์ได้สร้างนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างเช่นกัน
ประเด็นคือธรรมชาติคือความไม่สมบูรณ์แบบ...
...มนุษย์คนไหนที่กำลังวิ่งหาความสมบูรณ์แบบ ก็ลืมไปได้เลยครับ
เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละครับ คือความสมบูรณ์แบบที่ธรรมชาติได้ให้เอาไว้อย่างเท่าเทียมกับสรรพสิ่งบนโลกใบนี้หมดแล้ว
ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1854356184601312&id=100000808465712
ลุงคนนี้เป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้มาทั้งชีวิตแล้ว ไม่มีบัตรผู้พิการ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถเข้ารับการดูแลจากภาครัฐได้ เป็นหนึ่งในประชากรตกหล่นตามชายขอบ แกยิ้มน้อยยิ้มใหญืเมื่อมีคนนอกเข้ามาเยี่ยมยือนถึงบ้าน