ปมศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ. เล็งปรับหลักเกณฑ์จำกัดการค้ำประกันใหม่
กยศ. พร้อมช่วยเหลือ ‘ครูวิภา บานเย็น’ ค้ำประกัน นร.กู้ยืมเงิน เตรียมถอนการยึดทรัพย์ 4 คดีแรก อย่างช้า 31 ก.ค. 61 ที่เหลืออีก 17 คดี ให้ชะลอไว้ก่อน เล็งปรับหลักเกณฑ์สัดส่วนผู้ค้ำต่อผู้กู้ใหม่ ระบุไม่มีแผนนำรายชื่อผู้ผิดนัดชำระเข้าเครดิตบูโร
วันที่ 25 ก.ค. 2561 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดแถลงข่าวชี้แจงความพร้อมให้ความช่วยเหลือกรณีครูวิภา บานเย็น ครูค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืมเงินแล้วค้างชำระหนี้จนถูกยึดทรัพย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กยศ. อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ถ.รัชดาภิเษก
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมเงินตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย ในระดับชั้นม.4 และ ม.5 โดยจำนวนทั้งหมดนี้มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย
ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย โดยในขั้นตอนการสืบทรัพย์ ปรากฏว่า ทั้ง 4 ราย ไม่พบทรัพย์ แต่ได้พบทรัพย์ของครูวิภา ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น จึงได้ยึดทรัพย์ของครูวิภาแทน
“จำนวนเงินที่ครูวิภาค้ำประกันอยู่ในระดับชั้นมัธยม ฉะนั้นจำนวนเงินจึงไม่มาก เพราะกู้เฉพาะค่าครองชีพ ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/ราย” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว และว่า ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วทั้ง 4 คดี ซึ่ง กยศ. จะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดี จ.กำแพงเพชร อย่างช้า วันที่ 31 ก.ค. 2561
“คดีส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การบังคับคดีเป็นเรื่องยากในการสืบทรัพย์ครบทุกคน นักเรียนตอนกู้อายุ 16-17 ปี ขณะที่ผู้ค้ำประกันอายุประมาณ 40 ปี อีก 10 ปี ผ่านไป ผู้ค้ำประกันมีทรัพย์สิน ขณะที่ผู้กู้เมื่อเรียนจบ ยังไม่มีทรัพย์สิน ฉะนั้นโอกาสจะพบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันจึงค่อนข้างสูงมากกว่า”
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้กู้ที่เพิ่งเรียนจบ ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีเพียงเงินเดือน ไม่ได้มีอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่ดิน บ้าน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลไม่พบทรัพย์ แม้ว่าเราจะทราบเลขบัตรประจำตัวประชาชนในการติดตามข้อมูลของผู้กู้ก็ตาม
ส่วนอีก 17 คดีที่เหลือ เงินต้นค้ำประกันราว 1.9 แสนบาท นายชัยณรงค์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการบังคับคดี ซึ่งตามขั้นตอนปกติ ต้องดำเนินการสืบทรัพย์ของผู้กู้ 17 ราย และครูวิภาด้วย แต่สำหรับวันนี้คดีเดิมช่วยเหลือถอนบังคับคดี ส่วนคดีใหม่ จะชะลอการบังคับคดีในส่วนของผู้ค้ำประกันไว้ก่อน แต่จะไปดำเนินการสืบทรัพย์ของผู้กู้ก่อนแทน
ทั้งนี้ หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถตามผู้กู้ 17 ราย มาชำระหนี้ได้ จำเป็นต้องยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย กรณีไม่พบการสืบทรัพย์ของจำเลยหรือผู้กู้
ขณะที่แนวทางให้ปลดภาระหนี้สินที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบไปเป็นผู้ปกครองของผู้กู้แทนนั้น ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและครูวิภาอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกัน มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งผูกพันคู่ความ ดังนั้นจะปลดภาระแบบนั้นไม่ได้ แต่อาจต้องหาแนวทางบรรเทาด้วยวิธีอื่น ซึ่งคิดว่าครูวิภาทราบที่อยู่-ของผู้กู้ทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าการติดตามตัวคงไม่ยาก ขณะเดียวกันข่าวที่ถูกนำเสนอออกไป เชื่อว่า ทุกคนจะติดต่อกลับมาแน่นอน ซึ่งเมื่อเช้านี้มีบางคนได้ติดต่อเข้ามาแล้ว
ผู้จัดการ กยศ. ยังระบุถึงมาตรการป้องกันในอนาคตจะจำกัดหลักเกณฑ์การค้ำประกัน ว่า กยศ.มีหลักการให้กู้ยืมเงินกับนักเรียนขาดแคลน มีฐานะยากจน จึงไม่ได้วิเคราะห์โดยยึดหลักเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ แต่ยึดหลักใครมีฐานะยากจนสามารถกู้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตจะต้องปรับหลักเกณฑ์จำกัดการค้ำประกันใหม่ให้ผู้ค้ำประกัน 1 ราย สามารถค้ำประกันผู้กู้ได้กี่ราย และวงเงินไม่เกินเท่าไหร่
นอกจากนี้มาตรการหักเงินเดือนผู้กู้ ในเดือน ก.ค. จะเริ่มหักเงินเดือนข้าราชการสังกัดกรมบัญชีกลาง ส.ค. ข้าราชการกระทรวงการคลัง และต.ค. ข้าราชการทุกกรม กระทรวง ที่รับเงินผ่านระบบจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ส่วนภาคเอกชนนั้นจะเริ่มปี 2562 โดยเริ่มจากองค์กรขนาดใหญ่ก่อน โดยคาดว่า จะสมบูรณ์แบบ 100% ภายในปี 2563 จากจำนวนคนที่อยู่ในระบบเงินเดือนราว 1 ล้านคน
ทั้งนี้ ยังไม่มีแผนหารือเกี่ยวกับนำรายชื่อผู้กู้เงิน กยศ.เข้าสู่ระบบของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) หรือเครดิตบูโร
เมื่อถามถึงความกังวลของ กยศ. อาจไม่มีผู้กล้าค้ำประกันจนส่งผลกระทบกับผู้กู้ที่มีฐานะยากจน นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีทำให้ผู้ค้ำประกันตระหนักถึงความสามารถค้ำประกัน ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ลูกศึกษาต่อ จำเป็นที่ต้องค้ำประกันให้ลูก หรือญาติพี่น้อง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้กู้ยืมเงิน อย่างไรก็ตาม มีกรณีเช่นเดียวกับครูวิภา ซึ่งกำลังตรวจสอบ แต่นอกจากครูเป็นผู้ค้ำแล้ว อีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ.ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียนนักศึกษาแล้ว 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย คิดเป็นเงิน 7 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1.2 ล้านราย .