ปฏิบัติหน้าที่ต่อก็ไม่เกิดปย.! ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมยกขบวนลาออกดาวเทียมTHEOS-2
รองปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ทำหนังสือแจ้ง ผอ.GISTDA คณะผู้สังเกตการณ์ 6 ราย ตามข้อตกลงคุณธรรม แจ้งยกขบวนลาออกโครงการดาวเทียมTHEOS-2 ระบุเหตุผลหน่วยงานเจ้าของโครงการ ไม่ให้ความสนใจรายงานแจ้งเตือน ปัญหากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ลั่นหากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดปย.-สิ้นเปลืองงบประมาณ
โครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพิลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กำลังถูกจับตามอง เมื่อคณะผู้สังเกตการณ์จำนวน 6 ราย จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้แจ้งลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการ ไม่ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือน เกี่ยวกับปัญหาขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
สำนักข่าวอิศรา www.isranes.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการลาออกของคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน 6 ราย ที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพิลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ภายหลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอโครงการนี้เข้าร่วมในโครงการตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)
ระบุเหตุผลว่า คณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2560 ถึงปัจจุบัน พิจารณาแล้วเห็นว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2561 เป็นต้นไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะผู้สังเกตการณ์ 6 ราย ที่แจ้งลาออกครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 1. ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ 2. พล.ต.ต.แสงชัย สุวัฒน์ภักดี 3. นางชไมพร ตันติวงศ์ 4. รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ 5. ดร.ธีรพล กาญจนากาศ และุ 6. น.ส.โสตถิยา อ่อวิเชียร
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา คณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 ราย ได้ทำหนังสือแจ้งต่อประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า นับตั้งแต่โครงการนี้ เริ่มพิจารณาผลด้านเทคนิค และนำไปสู่การเปิดซองราคา จนกระทั่งคณะกรรมการจัดซื้อมีมติเสนอให้ยกเลิกการประกวดราคา ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาพิจารณาทบทวนและแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาเพิ่มเติม แต่ก็เกิดความขัดแย้งภายในคณะกรรมการจัดหา ผู้บริหารหน่วยงานเจ้าของโครงการจึงได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาเดิม และตั้งคณะกรรมการจัดหาชุดใหม่ เพื่อเดินหน้าโครงการจนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาเป็นทางการ คณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 ราย ได้ทำรายงานแจ้งเตือนขั้นตอนการดำเนินงานไปแล้วถึง 4 ฉบับ แต่หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจรายงานแจ้งเตือน และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงขอลาออกจาการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าว ขณะที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึงแล้ว (อ่านประกอบ : 6 คำถามเรื่อง 'ธรรมาภิบาล' กับการประมูลดาวเทียมTHEOS-2 มูลค่า 7.8 พันล้าน, ทิ้งทวน!จัดซื้อดาวเทียม THEOS2 มูลค่า 7.8 พันล้านสวนทางธรรมาภิบาล?)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้ง ไม่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาประกอบการในประเทศ ประกอบกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) เพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศต่างๆ โดยสำรวจจากระดับความรู้สึกหรือการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลกโดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้เพื่อให้เกิดความ โปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ มีการตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการเสนอราคา ผู้สังเกตการณ์ (Observer)
ส่วนผู้สังเกตการณ์คัดเลือกมาจากสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ส่วนโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) นั้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 20:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส กรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นสักขีพยานร่วมกันในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญาดาวเทียมธีออส 2 ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับ Airbus Defence & Space SAS ตามที่ได้มีการลงนามไปแล้วในประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขด้านต่างๆ รวมถึงการเตรียมการทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ สำหรับการดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2560 วงเงินอยู่ที่ 7,800 ล้านบาท โดยมอบให้ GISTDA รับผิดชอบโครงการ เพื่อสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชตที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องใน 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมืองและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805850)