‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ พรป.ป.ป.ช. เร็ว-แรง ไต่สวนคดีต้องเสร็จใน 2 ปี
ถอดบทเรียนปราบโกงจากมาเลย์ ประธานองค์กรต้านทุจริตเผยไทยยังห่างไกลความหวัง จับผู้นำทุจริตสูงสุดมาลงโทษ ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ เชื่อมั่น กม.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ เร็ว-แรง ไต่สวนคดีต้องเสร็จใน 2 ปี พิจารณาลับหลังจำเลยได้ ด้าน 'กษิต ภิรมย์' เเนะรัฐบาลเร่งปฏิรูปบริหารจัดการกองทัพ เลิกนำทหารเกณฑ์มารับใช้ ชี้เป็นทุจริตรูปเเบบหนึ่ง
วันที่ 24 ก.ค. 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดเสวนา หัวข้อ ปราบโกงต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย ณ ห้องบอลรูม 2 เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุโดยยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาใหญ่ และได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้จากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นปัญหาที่เชื่อว่าต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยมีการนำผู้กระทำผิดระดับสูงมาลงโทษ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมไทย อาทิ ศาล หรือองค์กรอื่น ๆ ทำงานรวดเร็วขึ้น
“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการจัดตั้งศาลทุจริต ทำให้กระบวนการมีความรวดเร็ว นอกจากนี้มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ช่วยลดโอกาสทุจริต และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม กระทั่งล่าสุด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ออกมา ซึ่งเราคงอยากจะเห็นว่า ต้องเป็นยักษ์ที่มีกระบอง ไม่ใช่มีแต่ไม้จิ้มฟัน จึงหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีผลดีจริง”
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังกล่าวว่า ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี ถ้าจะปราบปรามการทุจริตจริงจัง ต้องสามารถนำผู้ทุจริตระดับสูงสุดมาลงโทษให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ได้เอาจริงเอาจัง แต่ไทยพบว่า ยังห่างไกลจากความหวังที่ตั้งไว้อยู่
ด้านรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เมื่อปี 2547-2548 และปี 2556-2557 เกี่ยวโยงกับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยกลับแตกต่างกับมาเลเซีย เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือพื้นฐานที่ประชาชนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และถึงแม้จะดำเนินการได้ในช่วงปี 2549 และ 2557 แต่กลับพบว่า ยังมีข้อครหา ข้อติติง หรือประเด็นที่ไม่สามารถสรุปได้ ว่าท้ายที่สุด เป็นบริบทกับกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือประชาชนหรือไม่ ช่วยกันทำให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่ไทยกำลังแสวง
ทั้งนี้ หากมองในบริบทของกฎหมาย กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ระบุว่าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เห็นได้ว่า กฎหมายทุกฉบับมีการสานกันในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้มแข็งและช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะสำเร็จได้ คือ การไม่ให้คนที่มีแนวโน้มว่าจะคดโกงเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่มาเลเซียทำได้สำเร็จ
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกลไกการทำงานของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเพิ่งบังคับใช้ ทั้งเร็วและแรง โดยเร็วนั้นได้แก้ไขให้กระบวนการทำคดีรวดเร็วขึ้นภายใน 2 ปี ยกเว้นในบางกรณี สามารถขอขยายเวลารวมได้ไม่เกิน 3 ปี เพราะหากไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ทุจริตอย่างรวดเร็ว หลักฐานพยานจะหาย ขณะที่แรง ได้แก้ไขให้สามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ซึ่งการมีกระบวนการแบบนี้ทำให้ไม่สามารถประวิงเวลาได้ แต่ปัญหาเดียวที่จะเกิด คือ ไม่สามารถนำผู้ทุจริตมาลงโทษได้ แต่สิ่งที่เชื่อมโยงกับผู้ทุจริต เมื่อพิจารณาพิพากษาแล้ว คือ การยึดทรัพย์ การแสวงหาทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินการได้แล้ว
ส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถามว่า จำเป็นหรือไม่ต้องมีคุณสมบัติสูงขนาดนั้น กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า เท่าที่ลองศึกษาในหลายประเทศไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติสูงขนาดนั้น แต่คุณสมบัติที่สูงแน่นอน คือ คุณธรรมจริยธรรม จะต้องเห็นประจักษ์ ซึ่งหลายประเทศมีการคัดสรรเป็นสาธารณะ คนตัดสินใจเลือกและไม่เลือก ต้องระบุเหตุผลประกอบ แล้วเข้าไปลงความเห็นกันในสภา
“กรณีมาเลเซีย หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เดิม ไม่เคยทำเรื่องนายนาจิบ ราซัด ไม่เคยตัดสินใจต่อสู้ จะเป็นไปได้ยาก ณ วันหนึ่งเมื่อมีการเลือกตั้ง แล้วผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไม่เลือกนายนาจิบ กรรมการป.ป.ช. จะสามารถดำเนินการ แล้วนำข้อมูล หลักฐาน หรือพยาน ออกมาได้ แต่เพราะท่านทำไว้แล้ว ดังนั้นเมื่ออำนาจทางการเมืองเปลี่ยน จึงสามารถดำเนินการได้ นี่คือความสำคัญของการมีคณะกรรมการป.ป.ช.ที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ ในทางกลับกัน เกิดเดิมทีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นพวกของนายนาจิบ ต่อให้เลือกตั้งแล้วแพ้ อาจยากจะดำเนินการ ซึ่งเมื่อนำเอาบทเรียนมาเลเซียสะท้อนมาไทย ถ้าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกันกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยน ก็อาจทำอะไรไมได้ โดยเฉพาะถ้าหากมีกลไกเอื้อประโยชน์ทำให้สามารถรักษาฐานเป็นพวกกันไว้ได้ระยะยาว และจะเป็นปัญหาอย่างมาก แม้กฎหมายจะเขียนไว้ดี ในบทหลักเรื่องหนึ่ง บทเฉพาะกาลอาจเรื่องหนึ่ง ในหลักการมีเทวดานางฟ้า แต่พวกมารอยู่ในรายละเอียด ดังนั้นต้องระมัดระวังให้มาก” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ส่วน นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวเพิ่มเติมภายหลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำให้ไทยมีความหวังและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เนื่องจากออกแบบให้กระบวนการทำคดีรวดเร็วขึ้น กรอบเวลาไต่สวนต้องไม่เกิน 2 ปี ในกรณีคดียากขยายเวลารวมได้ไม่เกิน 3 ปี
ยกเว้นคดีระหว่างประเทศ หรือคดีสินบนข้ามชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่าปงระเทศอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังกับกฎหมายใหม่มาก เพราะหลายเรื่องได้มาจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น กฎหมายบัญญัติเรื่องการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ต่อไปนี้ หน่วยงานต่าง ๆ จะอ้างไม่ได้ว่า หาไม่เจอหรือไม่มีเอกสาร เพื่อประวิงเวลา เพราะจะถือเป็นความผิดในตัวเอง
ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวเชื่อมั่นว่า รัฐบาลปัจจุบันยังสามารถทำอะไรได้อีกมาก แต่ประเด็นปัญหา คือ รัฐบาลมาจากกองทัพ ซึ่งยังเป็นปัญหา เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นำทหารเกณฑ์มาเป็นผู้รับใช้ ซึ่งถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นจะทำอะไรไม่ได้มาก หากยังไม่มีการปฏิรูปการบริหารจัดการภายในกองทัพ เพราะกองทัพแปรสภาพมาเป็นรัฐบาลแล้ว
ส่วนเรื่องการรักษากฎหมาย บทบาทหน้าที่ขึ้นอยู่กับปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้เชื่อมระหว่างข้าราชการประจำกับฝ่ายการเมือง ดังนั้น ตัองให้ความสำคัญกับปลัดกระทรวงหรือซี 11 ทุกคน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกฎหมายของตนเอง เพราะหากหัวไม่กระดิก หางจะไปไม่ได้
สุดท้ายนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ถ้าผู้มีอำนาจลงมือทุจริตเสียเอง คงไม่มีใครที่ไปแจ้งความในสิ่งที่ตนเองทำ เพราะฉะนั้นต้องคิดว่ากระบวนการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร กรณีที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าสามารถครอบคลุมหน่วยงานทำให้การร้องเรียนเป็นอุปสรรคสำคัญ ฉะนั้นวันนี้สิ่งหนึ่งที่มองเห็นและเป็นประโยชน์มาก คือ โลกโซเชียล เมื่อมีผู้เห็นว่าไม่ถูกต้องแล้วนำมาบอกโลกโซเชียลเพื่อช่วยกันกระพือข่าว ดังนั้น ถ้าใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์เชื่อว่า จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แล้วกฎหมายจะไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือต่อไป แต่สามารถเข้าไปสู่การดำเนินคดีและตรวจสอบได้