วช.แนะรัฐอุ้มเอสเอ็มอีปรับตัวรับค่าแรง300จี้เร่งแก้เหลื่อมล้ำเงินเดือนป.ตรี
คณะวิจัยวช.หวั่นเกิดความเหลื่อมล้ำวงราชการ แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาปรับเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี หนุนงบอุ้มเอสเอ็มอีรับมือผลพวง300บาททำคนหนุ่มสาวโรงงานถูกลอยแพอื้อ
จากกรณีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทปรับขึ้นเงินเดือนปริญญา 15,000 บาทของรัฐบาลซึ่งยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง วันที่ 21 พ.ค.55 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เปิดงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศึกษาผลกระทบการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขึ้นที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์กรุงเทพฯ โดยศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวช. กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทปรับอัตราเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000บาทของรัฐบาล ระยะยาวอาจส่งผลให้มีอัตราการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากในความเป็นจริงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้แรงงานต่างด้าวหรือการจ้างงานรับช่วง แต่ด้วยแรงงานไทยขาดความอดทนต่อการทำงานที่ยากลำบาก แรงงานไทยจึงมีแนวโน้มลาออกสูงผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีความอดทนสูงและสู้งานมากกว่าเพื่อทดแทนแรงงานไทย ส่งผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก เพราะรายได้ของบริษัทอาจไม่ครอบคลุมต้นทุนที่สูงขึ้นและบริษัทไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้
“ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับเงินเดือนได้ ขอให้พิจารณาแนวทางโดยเพิ่มเงินเดือนตามสัดส่วนให้พนักงานเป็นรายบุคคลหรือปรับเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ตามงบประมาณที่มีอยู่ของบริษัท โดยบริษัทหรือผู้ประกอบการต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้าง หรือเน้นติดตามประเมินผลควบคู่ไปกับการฝึกอบรมทักษะ เพิ่มประสิทธิพนักงานให้ทัดเทียมอัตราค่าจ้างใหม่ของรัฐบาล”
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำส่งผลกับผู้ประกอบการเอกชนที่มีคนงาน 10-99 คนหรือเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก แรงงานส่วนใหญ่จะหลุดออกไปทำงานช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างและในกิจการเอกชนที่มีแรงงานขนาดต่ำกว่า10 คนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลค่าจ้างได้ รวมถึงกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-24 ปีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของเอสเอ็มอี –กิจการขนาดใหญ่มากสุด ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ว่างงาน
“แม้เพิ่มค้าจ้างขั้นต่ำทำให้ลดความเหลื่อมล้ำรายได้ของแรงงานได้มาก ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่ได้ค่าจ้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนย้ายแรงงาน สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลงจะทะลักเข้ามาอยู่ภาคเกษตร อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยเหมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ดูดซับแรงงาน แต่รัฐก็ไม่ควรเพิกเฉยที่จะเข้าไปส่งเสริมทักษะแรงงานทักษะต่ำให้ดำรงอยู่ได้รวมทั้งแรงงานสูงอายุที่อาจไม่มีโอกาสกลับเข้ามาสู่ระบบค่าจ้างใหม่รัฐจะช่วยเหลือเขาอย่างไร”
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการนโยบายปรับอัตราเงินเดือนปริญญาว่า ข้าราชการที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีในต่างจังหวัดมีรายได้ สวัสดิการดีกว่าข้าราชการระดับเดียวกันในกรุงเทพฯ เพราะตลาดแข่งขันกรุงเทพฯ ภาคเอกชนมีบทบาทค่อนข้างสูงการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีในต่างจังหวัดภาคราชการดีกว่า โดยเฉพาะข้าราชการกลุ่มใหญ่คือครูของรัฐที่เป็นกลุ่มใหญ่กว่าครูโรงเรียนเอกชน ปัญหาที่จะตามมาคือความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการที่อยู่มาก่อน มีช่วงเวลาทำงานมากกว่าคนเพิ่งเข้ามา รัฐบอกจะให้ปริญญาหมื่นห้าแล้วคนที่อยู่มาก่อนทำงานมานานที่ไม่เคยได้รับการพิจารณาในอัตราส่วนที่ไม่เข้าเงื่อนไขจะทำอย่างไร
“การปรับจะปรับยังไงจะปรับให้ลดช่องว่างหรือจะปล่อยช่องว่างระหว่างคนใหม่กับคนเก่าถ่างมากขึ้น การปฏิบัติมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะหากลากยาวไปถึงปี2557คนที่ใกล้เกษียณจะทำยังไง ถ้าไม่มีการปรับฐานเงินเดือน ปรับค่าครองชีพ ตรงนี้สะท้อนว่าเป็นความยุติธรรมกับคนกลุ่มนี้หรือไม่ เพราะยังรวมถึงการส่งเงินสมทบกบข.ด้วยว่าจะมีการปรับอัตราการจ่ายเงินสมทบอย่างไร”ดร.วรวรรณ กล่าว
รศ.ดร.ยงยุทธ์ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า นโยบาย 300 บาททำให้เงินรายได้แรงงานไทยปี2555 เพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท ปีต่อไปประมาณ 500 ล้านบาทโดยประมาณการรวมทั้งแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านบาทเป็น70 ล้านบาทในปีถัดไปคาดหวังว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในประประเทศเพิ่มขึ้นสัดส่าวน 40 % ของจีดีพี เพื่อทดแทนภาระการส่งออกที่มีปัญหาในอนาคต นโยบายรัฐอาจจะชดเชยได้หลายส่วนแต่นั้นก็เป็นการคาดเดา แต่เงินที่ถูกดึงออกมาจากกระเป๋านายจ้างมาให้ลูกจ้าง ผลกระทบย่อมหลีกหนีไม่พ้น เมื่อผู้ประกอบการรับภาระไม่ไหว แรงงานจะตกงาน ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นรัฐต้องเข้ามารดูแล ถ้าทำไม่ได้จะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคให้แรงงาน แม้จะลดความเหลื่อมล้ำแต่ก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน กิจการงานที่คนไทยไม่ทำแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เอสเอ็มอีจะเป็นส่วนกระทบแรงสุด อยู่รอดได้หรือไม่ต้องปรับตัว ทั้งนี้รัฐทำให้เกิดการระบบการจ้างงานที่ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงาน โดยให้เอกชนเข้าร่วม รัฐสนับสนุนงบประมาณ
“ภาพรวมเหมือนจะดี แต่รัฐต้องลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้คุณภาพชีวิตคนงานดีมากขึ้น การลดภาษีธุรกิจอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก จุดที่เน้นคือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้าง เพื่อให้ทดแทนคุ้มค่ากับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมมือกับรัฐโดยรัฐสนับสนุนงบประมาณโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ส่วนการเลิกจ้างในหมู่กลุ่มเยาวชนวัยทำงาน รัฐต้องหามาตรการรองรับ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่แก้ยาก” ผอ.วิจัยพัฒนาแรงงานฯ กล่าว
ที่มาภาพ:http://www.isnhotnews.com/tag/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87300/