"ธนาธร"ถอนทหาร! กับข้อเสนอทางการเมืองในบริบทไฟใต้
จังหวะก้าวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์กลางเดือนกรกฎาคม นับว่าน่าสนใจ
นอกจากการเปิดเวทีเสวนาที่ ม.อ.ปัตตานี เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของคนในพื้นที่ จนนำมาสู่คำประกาศทางการเมืองว่าด้วยเรื่อง "ถอนทหาร" แล้ว ธนาธรยังไปเยือนมัสยิด 300 ปีที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ด้วย
ผมค่อนข้างตื่นตาตื่นใจกับการเลือกพื้นที่ลงไปทำกิจกรรมของธนาธร (ไม่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังรวมภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ) เพราะถือว่าทั้งตัวเขาและทีมงาน "ไม่ธรรมดา" ทั้งยังทำการบ้านมาเป็นอย่างดี
อย่างมัสยิด 300 ปีที่ธนาธรเลือกลงพื้นที่ และพบกับอิหม่าม ตลอดจนผู้นำศาสนาอย่างเงียบๆ ก็มีปัญหายืดเยื้อเกี่ยวกับโครงการปรับภูมิทัศน์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับโลก ใช้งบประมาณเฉพาะส่วนของการก่อสร้างมากถึง 149 ล้านบาท แต่โครงการกลับล่าช้ามาหลายปีเพราะมีความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาทำโครงการ ซึ่งถูกตรวจสอบพบว่าเป็น "บริษัทล้มละลาย" ทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและผู้นำศาสนา จะเดินหน้าต่อก็ยาก เพราะแค่บริษัทผู้รับเหมาจะเข้าพื้นที่ไปทำงานก็ยังไม่ได้
โครงการนี้กลายเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาล คสช.ไม่ยอมเข้าไปจัดการ ปล่อยให้ส่วนราชการอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับหน้าเสื่อเป็นหนังหน้าไฟ แก้ปัญหาไปตามมีตามเกิด
ฉะนั้นการที่ "คนการเมือง" เข้าไปแสดงบทบาท จึงถือเป็นความกล้า และเป็นการสร้างความหวังใหม่ๆ ว่าปัญหาที่คาราคาซังมีโอกาสได้รับการแก้ไข
เช่นเดียวกับคำประกาศที่ว่าถ้ามีอำนาจจะ "ถอนทหาร" พ้นพื้นที่ แม้หลายคนจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่เร็วและแรงเกินไป ทั้งยังกระทบจิตใจคนไทยพุทธที่น่าจะไม่เห็นด้วยนัก แต่ก็ถือเป็นความ "ใจถึง" ที่ฝ่ายการเมืองกล้าเสนอนโยบายที่แตกต่าง เพราะทุกอย่างจะตัดสินกันที่สนามเลือกตั้งว่าชาวบ้านจะเอาหรือไม่เอา
คล้ายๆ กับเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "นครปัตตานี" แม้จะแพ้เลือกตั้งยกสามจังหวัด แต่มันก็กลายเป็นปรอทวัดว่าประชาชนในพื้นที่คิดอย่างไร และต้องการอะไรกันแน่
หรืออย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เคยชูนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" แล้วตรากฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมา ยกสถานะให้ ศอ.บต.มีบทบาทการแก้ไขปัญหาเทียบเท่ากับ กอ.รมน. จนสามารถกดให้ "งบดับไฟใต้" ลดลงจากปีละ 2 หมื่นกว่าล้าน ลงมาเหลือแค่หมื่นกว่าล้าน สอดคล้องกับสภาพความร้ายแรงของปัญหาที่ลดระดับลง ก็ถือเป็นทิศทางดับไฟใต้ที่ดี ก่อนที่ทุกอย่างจะถอยหลัง กลับมาเป็น "ทหารนำ ฝ่ายอื่นตาม" เมื่อ คสช.เข้ามามีอำนาจ
จังหวะก้าวของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นจังหวะก้าวของสีสันประชาธิปไตยที่ห่างหายไปนาน หลังจากปล่อยให้ "รัฐราชการ" ภายใต้การนำของ คสช.เลี้ยงไข้ปัญหามานานหลายปี แถมยังซุกงบมหาศาลไว้ใต้พรม ตรวจสอบอะไรไม่ได้ นอกจากข้ออ้างว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น (ซึ่งในบางมิติก็ดีขึ้นจริง) แต่ทิศทางการก้าวต่อไปกลับย่ำอยู่ที่เดิม
วันนี้ทุกองคาพยพที่ชายแดนใต้ต้องการข้อเสนอทางการเมืองและแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นจริงๆ เพื่อพลิกสถานการณ์ที่กำลังดีขึ้น ให้ดีอย่างยั่งยืน และสันติสุขอย่างถาวร
------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ชายแดนใต้กับจังหวะก้าว"ธนาธร" ชงถอนทหาร - เยือนมัสยิด 300 ปี!