เคาะงบ กยศ.-กรอ.4.6 หมื่นล้าน ระบุนศ.เฟรนไชส์มหา’ลัย ต้องผ่านมาตรฐานสกอ.จึงกู้ได้
ครม.ผ่านงบกู้ยืมการศึกษา 4 .6 หมื่นล้านบาท มั่นใจเด็กไม่เบี้ยวหนี้ กรอ.เพราะเป็นสาขาที่ตลาดต้องการ กยศ. เตรียมสอบสถาบันใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เผยเฟรนไชส์มหา’ลัยจะกู้ได้ต้องผ่านมาตรฐานสกอ.
วันที่ 21 พ.ค. 55 ที่กระทรวงการคลัง จัดแถลงข่าว “นโยบายและทิศทางการดำเนินกองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. ” โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดำเนินโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อส่งเสริมความสามารถสำหรับผู้ที่มีความรู้เฉพาะสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และไม่มีทุนทรัพย์ ตั้งแต่นักศึกษาปีที่ 1 จนถึงผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี โดยไม่จำกัดรายได้ครอบครัว ควบคู่ไปกับกองทุ นกยศ.ที่ให้ทุนนักศึกษายากจนครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์หรือมีรายได้ครอบครัวผู้กู้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
โดยเงื่อนไขชำระเงินคืนของ กยศ.ให้ผู้กู้ยืมปลอดหนี้ได้ 2 ปี ส่วนกรอ.ให้ผู้กู้ชำระคืนเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ 16,000 บาท โดยผู้กู้ต้องแจ้งเงินรายได้ให้กับกองทุนฯ ทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี หากไม่แจ้งถือว่าผู้กู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระแล้ว
ดร.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่าได้จัดเตรียมงบประมาณของกองทุนปีนี้ 40,000 ล้านบาท สำหรับ กยศ.ผู้กู้ทั้งรายเก่า-รายใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 970,000 คน และ กรอ. 6,000 ล้านบาท รองรับนักศึกษาได้ 70,000 คน
“แต่ละปี กยศ.ได้รับเงินชำระคืนคิดเป็นร้อยละ 60 หรือกว่า 10,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ร้อยละ 78 หรือกว่า 2,700,000 คน ส่วนผู้ที่ยังไม่ชำระร้อยละ 22 หรือกว่า 500,000 คน จำนวนนี้มีประมาณ 100,000 คน ที่มียอดค้างชำระเกินกว่า 4 ปี และจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยธนาคารกรุงไทยจะเป็นตัวแทนทวงหนี้” ดร.ธาดา กล่าว
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กรอ.เป็นกองทุนเปิดใหม่ แต่มีการสนับสนุนนักศึกษาที่ตลาดแรงงานต้องการ จึงคาดว่าเมื่อจบการศึกษาจะมีงานทำ ดังนั้นเรื่องต้นทุนหนี้เสียที่มาจากสาเหตุหลักนักศึกษาตกงานนั้นน่าจะลดน้อยลง จำนวนยอดค้างชำระหนี้น่าจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ กยศ.
ดร.ธาดา กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีที่สถานศึกษานำเงิน กยศ.ไปบริหารงานผิดวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมแก่นักศึกษา ได้ออกเกณฑ์ควบคุมและมีมาตรการกำกับลงโทษ โดยการแจ้งความดำเนินคดีทั้งด้านกฎหมายแพ่งฯและอาญาเพื่อเรียกค่าเสียหายคืน พร้อมกับให้สำนักงาน กยศ.ตรวจสอบขบวนการนำเงินกองทุนไปงานบริหารทุกมหาวิทยาลัยแล้ว
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอเรื่องสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยแพร่ผลสรุปการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ พบว่ามีศูนย์การศึกษาของ 6 มหาวิทยาลัย รวมกว่า 60 ศูนย์ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ธาดา มาร์ติน เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่า กยศ.และ กรอ.จะให้สิทธิในการกู้ยืมเงินแก่นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดสาขาถูกต้องตามระเบียบของ สกอ. และ สกอ.รับรองมาแล้วว่าสถานศึกษาเหล่านั้นได้มาตรฐานเท่านั้น .
-