กรมศุลฯ ยันไม่รู้เรื่องสินบน20ล.! เกี่ยวโรงไฟฟ้าขนอมแค่จับปรับEGCO นำเข้าเหล็ก4.2ล.
'ชัยยุทธ คำคุณ' โฆษกกรมศุลฯ แถลงยืนยันคดีที่หน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องโรงไฟฟ้าขนอม มีเพียงแค่จับปรับ EGCO 4.2 ล้าน กรณีนำเข้าไม้ -เหล็กยึดโยงครื่องจักรในขั้นตอนการขนส่งสินค้าเท่านั้น ไม่ทราบ ป.ป.ช. ระบุเรื่องสินบน 20 ล้าน ข้อมูลส่วนไหน ยันไม่ตั้งคกก.สอบเพิ่มเติม รอแจ้งผลประสานงานอีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2561 ที่กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงยืนยันกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เข้าไปเกี่ยวกับกับกรณีการจ่ายเงินสินบน 20 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่การทางไทย ของ บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ว่า ข้อมูลในส่วนที่กรมศุลกากร เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าขนอม มีเพียงแค่ในช่วงปี 2558 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจากด่านศุลกากรสิชล ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบข้อมูลว่าทางบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (EGCO) มีการนำเอาไม้ เอาโครงสร้างเหล็กเข้ามาในราชอาณาจักร โดยที่ไม่ได้สำแดงในรายการสินค้า ซึ่งทาง บริษัทฯ แจ้งว่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ก็เพื่อจะนำมายึดโยงเครื่องจักรหนักในโรงไฟฟ้ามูลค่าหลายพันล้านในขั้นตอนการขนส่ง และการที่บริษัทไม่ได้สำแดงว่าจะนำเอาสินค้าจำพวกดังกล่าวเข้ามานั้นเพราะเกิดจากความเข้าใจว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องจักรเลยไม่ต้องสำแดง
นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านสิชลมีความเห็นว่า แม้สินค้าเหล่านี้จะไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นอุปกรณ์เพื่อยึดโยงเครื่องจักรในระหว่างขั้นตอนการขนส่ง แต่ก็เป็นสินค้าที่มีความคงทน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้น จึงอยู่ในประเภทที่จะต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ด่านของกรมศุลกากรเลยตั้งข้อหากับบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในข้อหาหลบเลี่ยงภาษีและสำแดงสินค้าอันเป็นเท็จ โดยปรับเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,253,450 บาท ซึ่งบริษัทก็ยินยอมที่จะจ่ายค่าปรับและจ่ายมาแล้วเมื่อปี 2560
"ส่วนกรณีการจ่ายเงินสินบน 20 ล้านบาท นั้น กรมศุลกากร ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลส่วนไหน และคงจะไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเพิ่มเติมอะไรอีก จะรอการแจ้งประสานงานจาก ป.ป.ช. มาก่อน เพื่อไม่ให้การดำเนินงานมีความซ้ำซ้อนกัน " นายชัยยุทธระบุ
นายชัยยุทธ ยังกล่าวถึงสถานการณ์นำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ว่า ตามข้อมูลสถิติในปี 2560 พบว่ามีปริมาณนำเข้า 166,802.15 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2561 มีปริมาณนำเข้า 313,895.38 ตัน ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ร่วมมือและบูรณาการงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันไปสินค้าไม่ถูกต้องออกไปแล้วจำนวน 54 ตู้ โดยเป็นการผลักดันที่ท่าเรือกรุงเทพ 11 ตู้ ท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 43 ตู้ ขณะนี้มีตู้สินค้าที่ต้องรอส่งกลับอีก 47 ตู้ และสินค้าซึ่งยังตกค้างอีกจำนวนประมาณ 600 กว่าตู้ที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันส่งกลับต่อไป โดยประเทศต้นทางที่ส่งสินค้ากลับไปนั้น มีอาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับต้นๆ
อ่านประกอบ
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ
ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม