เปิดงานวิจัยทุจริตด้านการศึกษาประเทศไทย ไฉน สพฐ. น่าห่วง-สุ่มเสี่ยงมากสุด!
"...บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นความคาดหวังสำคัญของสังคม ที่จะช่วยปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันในห้วงเวลาเพียง 2 – 3 เดือน ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถูกกล่าวหาว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต การทุจริตค่าอาหารกลางวัน และการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น..."
"ในงานวิจัยชิ้นนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 งบประมาณ 517,077 ล้านบาท ปี 2560 งบประมาณ 513,962 ล้านบาท และปี 2561 ได้รับงบประมาณ 510,962 ล้านบาท นับว่าเป็นงบประมาณสูงสูดเมื่อเทียบกับส่วนราชการอื่น อย่างไรก็ดี ในงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับดังกล่าว กว่าครึ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวคือ สพฐ. ได้รับงบประมาณ ปี 2559 จำนวน 319,321 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 306,201 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 303,759 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบุคลากรกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 484,479 คน ดังนั้น ด้วยงบประมาณที่มีมาก จำนวนบุคลากรที่มาก ย่อมมีความเสี่ยงสูงในการทุจริตหากระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
"ด้วยเหตุที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลากรจำนวนมากถึง 484,479 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับโดยภาพรวมได้รับการจัดงบประมาณจำนวนมาก แม้ว่างบประมาณดังกล่าวเมื่อกระจายไปทั่วประเทศจะทำให้ดูเหมือนว่าเม็ดเงินที่แต่ละหน่วยได้รับจะไม่มากนัก แต่ถือได้ว่าด้วยบุคลากรที่มีมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมมีความเสี่ยงสูง ต่อการกระทำที่อาจไม่ถูกต้องหรือการทุจริต โดยหากมีการทุจริตเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน ชุมชนและสังคม เพราะบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของสังคมในการเป็นแม่แบบเบ้าหลอมแห่งความดี อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูงยิ่ง"
ประโยคข้อความดังกล่าว คือ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ของ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 9 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีการจัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “กะเทาะเปลือกกลโกง การศึกษาไทย” ไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : ผลวิจัย ป.ป.ช.ชี้ สพฐ.เสี่ยงทุจริตมากสุด ได้งบเกินครึ่งก.ศึกษาฯ3แสนล.-คดีร้องเรียนอันดับ1)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดงานวิจัยศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่ามีข้อมูลหลายส่วนที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงได้นำมาเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้
@ ที่มาและความสำคัญของปัญหา
ในงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุถึงที่มาและความสำคัญของปัญหา ว่า การพัฒนาคนผ่านระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการจัดระบบการศึกษาจะต้องมีการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากร และมีโครงสร้างที่โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสามารถตรวจสอบได้ จากสถิติผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระหว่างปีงบประมาณ 2558 - 2560 พบว่า ปี 2558 มีจำนวนคดีคงค้าง 9,522 เรื่อง เป็นเรื่องรับใหม่จำนวน 3,051 เรื่อง รวมทั้งหมด 12,573 เรื่อง ปี 2559 มีจำนวนคดีคงค้าง 10,954 เรื่อง รับใหม่จำนวน 5,382 เรื่อง รวมทั้งหมด 16,336 เรื่อง และปี 2560 มีจำนวนคดีคงค้าง 13,925 เรื่อง รับใหม่จำนวน 4,896 เรื่อง รวมทั้งหมด 18,821 เรื่อง (สำนักงาน ป.ป.ช.; ณ วันที่ 31 มกราคม 2561) จากสถิติดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการทุจริตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงได้มีการวางยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ซึ่งกำหนดให้ใช้ในห้วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” โดยมีพันธกิจหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต การยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และการปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เป็นการดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ (1) สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต (2) ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต (3) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย (4) พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก (5) ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต และ (6) ยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 คือ ประเทศไทยมีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สูงกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางและกลไกในการดำเนินงานที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ในประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้งานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยของเราสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างามท่ามกลางกระแสโลกในปัจจุบัน (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 2559)
จากงานวิจัยเรื่อง คอร์รัปชันในวงการศึกษาของไทย : กรณีศึกษาในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่างของรัตนะ บัวสนธ์ (รัฐพงศ์ บัญญานุวัตร, 2560) ผลการวิจัยได้พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามในประเด็น ที่เป็นความหมายของการกระทำที่นำไปสู่ช่องทางของการคอร์รัปชัน ปรากฏพบช่องทาง 4 ประการ ได้แก่ (1) การรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องมาจากการอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้าง หรือประกวดราคาวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการศึกษา เพื่อสร้างรายได้ส่วนตัว (2) ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์จาก ส่วนราชการ เช่น การอนุมัติไปราชการ การเบิกจ่ายต่างๆ และการบรรจุตำแหน่ง เป็นต้น (3) การอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างหรือประกวดราคาวัสดุครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง โดยเอื้อประโยชน์เฉพาะราย และ (4) การใช้สิ่งของวัสดุ หรือครุภัณฑ์ของส่วนราชการในการทำงานส่วนตัว (รัตนะ บัวสนธ์, 2545) สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองประธานคณะกรรมการอำนวยการการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวว่ามีผู้ร้องเรียนปัญหาการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นข้อร้องเรียนการทุจริตของผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีหลายประเด็น (รัฐพงศ์ บัญญานุวัตร, 2560) และยังได้กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการนั้นมีมากถึง 35 เรื่อง โดยสาเหตุของปัญหานั้นมาจากเจ้าหน้าที่ในกระทรวงและเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง นโยบายของรัฐที่ผ่านมาทำให้มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการทุจริตระดับย่อยลงมาอีก โดยแบ่งออกเป็นระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับผู้อำนวยการโรงเรียน และระดับบุคลากรในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตในแวดวงการศึกษาปี พ.ศ. 2561 กรณีกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นเหตุการณ์หนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในแวดวงการศึกษาของไทย ซึ่งยังไม่สามารถหาทางป้องกันให้เหตุการณ์เหล่านี้ลดลงหรือหายไปจากสังคมไทยได้ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลรายงานประจำปีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ประจำปีงบประมาณ 2560 สามารถยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐระบุว่า หน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกชี้มูลความผิดมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน จำนวน 16 ราย รองลงมา คือ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จำนวน 15 ราย กรมที่ดิน จำนวน 15 ราย กรมการปกครองจำนวน 14 ราย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจำนวน 8 ราย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 8 ราย กรมการท่องเที่ยว 8 ราย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ราย ตามลำดับ (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 2560)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นับว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการศึกษาของประเทศไทย เนื่องจากต้องรับผิดชอบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - 2561 สพฐ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีรวมทั้งสิ้น 319,321 ล้านบาท, 306,201 ล้านบาท และ 303,759 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.75, 59.58 และ 59.44 ของงบประมาณรายจ่ายที่กระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับตามลำดับ แต่จากข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาพบว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาด้านการคอร์รัปชันที่ทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณอย่างมหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในลำดับรั้งท้ายของอาเซียน รวมถึงกระทบต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความเท่าเทียม และโอกาสเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมเรื่อง “โลกของการศึกษา” ที่เมืองดากา ประเทศสาธารณรัฐเซเนกัล ในทวีปแอฟริกา ปี ค.ศ. 2000 ที่สรุปไว้ว่า การคอร์รัปชันในวงการศึกษากำลังทำลายประเทศในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ และระบบการเมืองการปกครองในอนาคต ด้วยเหตุผลที่ว่า การคอร์รัปชันในวงการศึกษาถือเป็นตัวทำลายสังคมและประเทศ มากกว่าการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นๆ และส่งผลต่อเยาวชนในระยะยาว เนื่องจากการคอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามการเข้าถึงความเสมอภาค คุณภาพ และระดับของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา หรืออาจเข้าถึงได้เฉพาะสถาบันการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้คนเหล่านั้นไม่สามารถเปลี่ยนสถานภาพหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เลย เช่นเดียวกับประเทศที่ยอมรับการคอร์รัปชัน ย่อมไม่สามารถผลิตบุคลากรที่เคารพในสิทธิมนุษยชนและกฎหมายได้ ดังนั้น หากเยาวชนมีทัศนคติโน้มเอียงไปในทางที่ยอมรับความสำเร็จที่มาจากการบังคับข่มขู่หรือใช้อิทธิพลของการจ่ายเงินใต้โต๊ะนั้นก็หมายความว่า สังคมประเทศนั้นๆ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างแรง (วิโรจน์ เดชนำปัญญาชัย, 2552)
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้วางแผนการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานด้านการศึกษาของไทยด้วยการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการวางแผนงานที่เกี่ยวกับการไม่ทนต่อการทุจริต โดยมีการจัดประกวดแผนงานการป้องกันการทุจริตในสถาบันอาชีวศึกษาและนำแผนงานของนักศึกษาอาชีวะที่ชนะเลิศการประกวดมาจัดทำเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อใช้เป็นตัวแบบกระจายไปยังสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการในการนำแนวทางการมีส่วนร่วมกับการป้องกันการทุจริตดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีการประเมินแผนการดำเนินงานดังกล่าวว่าเป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่ (พล.อ.บุณวัจน์ เครือหงส์ , 2561) สำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันในวงการศึกษาไทยเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข รวมทั้งสืบค้นถึงสาเหตุและต้นตอของการเกิดปัญหาได้มีมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ที่เน้นเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีจำนวนไม่มากนัก แม้ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นระดับชั้นการศึกษาที่สำคัญต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมเพื่อให้เกิดแนวคิดและการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้ดีที่สุด
ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าและพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐานที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการรวบรวมข้อมูล เอกสารที่สำคัญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยเพื่อใช้ในการวิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบที่ทำให้เกิดการทุจริต รวมถึงการนำเสนอยุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันการทุจริตของหน่วยงาน และวิธีการผลักดันให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ข้อมูลสถานการณ์การทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย
ในงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุถึงโครงสร้างและอัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ประกอบด้วย (1) สำนักงานรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง (3) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (4) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (6) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ (7) องค์การมหาชน/องค์กร ในกำกับ
ส่วน งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดเมื่อเทียบกับส่วนราชการอื่น ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาข้อมูลงบประมาณของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดเช่นกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีงบประมาณ จะพบว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน และด้วยเหตุที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลากรจำนวนมากถึง 484,479 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับโดยภาพรวมได้รับการจัดงบประมาณจำนวนมาก แม้ว่างบประมาณดังกล่าวเมื่อกระจายไปทั่วประเทศจะทำให้ดูเหมือนว่าเม็ดเงินที่แต่ละหน่วยได้รับจะไม่มากนัก แต่ถือได้ว่าด้วยบุคลากรที่มีมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมมีความเสี่ยงสูง ต่อการกระทำที่อาจไม่ถูกต้องหรือการทุจริต โดยหากมีการทุจริตเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน ชุมชนและสังคม เพราะบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของสังคมในการเป็นแม่แบบเบ้าหลอมแห่งความดี อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูงยิ่ง
ขณะที่บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นความคาดหวังสำคัญของสังคม ที่จะช่วยปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันในห้วงเวลาเพียง 2 – 3 เดือน ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถูกกล่าวหาว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต การทุจริตค่าอาหารกลางวัน และการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการศึกษา ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากตารางจะเห็นว่าเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการแยกตามหน่วยงานที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเท่ากับ 6,967 เรื่อง อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 1,655 เรื่อง ในขณะที่อันดับสองรองลงมาคือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรื่องที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงมีจำนวนถึง 1,963 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 104 เรื่อง
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ซึ่งรับผิดชอบการร้องเรียนของหัวหน้าหน่วยงานระดับผู้อำนวยการลงมา พบว่า การร้องเรียนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระหว่างปี 2551-2561 รวมเวลา 11 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,278 เรื่อง โดยปีที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปี 2559 มีจำนวนถึง 597 เรื่องรองลงมาคือปี 2558 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 491 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระดับหน่วยงานแล้ว พบว่า ระหว่างปี 2558 – 2561 หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการร้องเรียนผ่านความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ท. คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 469 เรื่อง มากเป็นอันดับสอง รองจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวน 477 เรื่อง แต่ในปี 2558 และปี 2561 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องที่ร้องเรียนเข้าสู่การดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ท. พบว่า
(1) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2560 มีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่สำนักงาน ป.ป.ท. จำนวน 1,106 เรื่อง
(2) ในบรรดาเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อ (1) จำนวน 1,106 เรื่องนั้น พบว่าผู้ถูกร้องเรียนมากที่สุดสังกัดมหาวิทยาลัย 477 เรื่อง รองลงมาคือสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 461 เรื่อง
นอกจากนี้ผลการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ 2560 พบว่ากลุ่มคดีด้านการจัดซื้อจัดจ้างมีจำนวนมากที่สุด จำนวน 273 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.45 ของจำนวนคดีที่ชี้มูลความผิดทั้งหมด 770 ราย กลุ่มคดีอื่นๆ เช่น ร่ำรวยผิดปกติ เบียดบังทรัพย์และการใช้ทรัพยากรของรัฐ จำนวน 136 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.66 ของจำนวนทั้งหมด กลุ่มคดีด้านการให้บริการสาธารณูปโภค จำนวน 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.90 ของจำนวนทั้งหมด กลุ่มคดีด้านสังคมและการศึกษา จำนวน 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.31 ของจำนวนทั้งหมด
ส่วนเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ตรวจสอบและมีการรายงาน พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2560 มีกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องเข้าไปตรวจสอบสืบสวน การตรวจสอบการดำเนินงานหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปรากฎผลการตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลัง หรือพฤติการณ์ทุจริตในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จำนวน 43 แห่ง กล่าวคือปีงบประมาณ 2558 จำนวน 7 แห่ง ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 19 แห่ง และปีงบประมาณ 2560 จำนวน 17 แห่ง ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะประการหนึ่งที่สำคัญว่า ข้อบกพร่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือ สาเหตุที่มีการทุจริตมาจากการที่ไม่มีการจัดระบบการควบคุมภายในให้มีมาตรฐาน และไม่มีการจัดระบบการตรวจสอบภายในอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่าในช่วงปีงบประมาณ 2558 – 2560 มีกรณีที่มีการกล่าวหาหรือเข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกล่าวหาหรือตรวจสอบ ที่น่าสนใจหลายกรณี ทั้งนี้ เรื่องที่เข้าไปตรวจสอบดังกล่าว มีการเผยแพร่หรือเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว เช่น ทางสื่อมวลชน รายงานประจำปี ของสำนักงาน ป.ป.ช. รวมทั้ง เว็ปไซด์สำนักงาน ป.ป.ช. แต่อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกตรวจสอบดังกล่าวยังไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล บุคคลเหล่านี้จึงยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ตัวอย่างเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วหรืออยู่ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง
ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้แก่
(1) คดีทุจริตการจัดสร้างสนามฟุตซอล
(2) เรื่องการปรับปรุงห้องเรียน (e-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพ สู่มาตรฐานสากล (e-Library)
(3) เรื่องทุจริตการบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5
(4) การจัดซื้อจัดจ้าง CCTV
(5) การทุจริตของผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา
(6) การเรียกรับค่าตอบแทนรับนักเรียนชั้น ม.1 ด้วยวิธีพิเศษของผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
(7) เรื่องร้องเรียนกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ
(8) เรื่องผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิเรียกรับเงินผู้ปกครอง
@ บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร
ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กรณีปัญหาการทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเกิดทุจริต ปัญหาการทุจริตเกิดจากบุคลากรขาดจริยธรรมหรือศีลธรรมตั้งแต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจนถึงผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลาง โดยมีการผูกขาดอำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่มีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้รับจ้างให้แก่สถานศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายนั้น โดยไม่พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นจะเหมาะสมแก่สถานศึกษานั้นหรือไม่
ขณะที่การแก้ปัญหา ควรให้ผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ความจำเป็น และลักษณะของสถานศึกษาแต่ละแห่งหากมีการกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในสถานศึกษา ควรมอบหมายให้สถานศึกษาดำเนินการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ แต่ละแห่ง
ส่วนศึกษาธิการจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ระบุถึงปัญหาการทุจริต ว่ามีหลากหลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากระบบการควบคุม และกลไกการตรวจสอบที่ไม่จริงจัง เนื่องจากบุคลากรทำงานอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้เกิดความเกรงใจและปกป้องพวกพ้อง และบุคลากรขาดคุณธรรมและจริยธรรม ดังจะเห็นได้จากปัญหาการจัดซื้ออาหารกลางวันของโรงเรียนที่นำงบประมาณบางส่วนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบายโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมและความต้องการอย่างแท้จริงของโรงเรียนในพื้นที่ และปัญหาอื่น ๆ เช่น การใช้ระบบอุปถัมภ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย และผู้ได้รับตำแหน่งมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง ทำให้เกิดการปกป้องช่วยเหลือผู้กระทำผิด มิให้ได้รับการลงโทษ หรือลงโทษในระดับต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีระบบการตรวจสอบภายในของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว แต่ควรจะต้องมีองค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เช่น การตรวจสอบข้ามหน่วยงาน (สพฐ 1 ตรวจสอบ สพฐ.5) รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต หรือจัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมที่สนับสนุนการแก้ปัญหาการทุจริต เช่น เสนอให้มีโปรแกรม Thai School Lunch ในเชิงโภชนาการ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตเรื่องอาหารกลางวัน อีกทั้งควรจัดให้มีการอบรมและพัฒนากระบวนการตรวจสอบอย่างจริงจังในเนื้อหาไม่ใช่เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์หรือรูปแบบเอกสารเท่านั้น
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตมีตั้งแต่ผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ไปจนถึงข้าราชการในระดับปฎิบัติการ จึงถือเป็นภารกิจหลักของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าประสงค์ต่อไป