ประธาน ป.ป.ช. รับกม.ใหม่เข้มมาก กำหนดกรอบเวลาทำคดีทุจริต ไต่สวนให้เสร็จภายใน 2 ปี
พล.ต.อ.วัชรพล ระบุชัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เข้มข้นมาก ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยที่มีกำหนดกรอบระยะเวลาการทำหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย
วันที่ 23 ก.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปสู่การปฏิบัติและเป็นการเผยแพร่หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ตลอดจนการสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันหลักสูตรฯ ให้เกิดเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ณ ห้องจูปิเตอร์ 11 – 13 อาคารซาเลนเจอร์ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง โดยระบุถึงปัญหาทุจริตสำคัญมาก หลายรัฐบาลพยายามหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI ) คะแนนดูเหมือนดีขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลจากหลายๆประเทศ เช่น สิงคโปร์
"ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (2560-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ตั้งเป้าปี 2564 คะแนน CPI ได้มากกว่าร้อยละ 50" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว และว่า ฉะนั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะดัชนีชี้วัดมีหลายตัวมากมาย โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางประชาธิปไตย ที่ทำให้คะแนนของไทยลดลง
ประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงสถานการณ์คอร์รัปชั่น โดยผลสำรวจการจ่ายเพิ่มใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อให้ได้งาน หรือสัญญา พบว่า ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายใต้โต๊ะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5-15 ของงบประมาณ หรืองบประมาณ กว่าแสนล้านบาท ที่เราต้องสูญเสียไป เงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างระบบขนส่งมวลชนได้มากกว่า 1 สาย
นอกจากนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้วนั้น มีบริบทการทำงานที่เข้มข้นขึ้น นำสู่ความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้มีการทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยที่มีกำหนดกรอบระยะเวลาการทำหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย การรวบรวมพยานหลักฐาน
"กฎหมายใหม่ป.ป.ช.กำหนดระยะเวลาดำเนินการคดีต่างๆ ทำให้เสร็จภายใน 2 ปี (นับตั้งแต่วันเริ่มไต่สวน) สามารถขยายเวลาได้อีก 1 ปี หากเกินกว่านั้นต้องมีเหตุผล โดยให้ผู้บังคับบัญชา ระบุเหตุผลทำไมถึงล่าช้าด้วย ซึ่งเป็นความคาดหวังของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดกรอบระยะเวลาเพื่อต้องการเร่งรัดการปราบปรามการทุจริต นอกจากเอาผู้กระทำความผิดมารับโทษโดยเร็วแล้วยังต้องการป้องปราม ไม่ให้คนกล้ากระทำความผิดอีก"
ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจ ดําเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาได้ กฎหมายก็ระบุ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จําเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จําเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดําเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จําเป็นก็ได้
ทั้งนี้ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องเคร่งเครียดพอสมควรที่กฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่มีกรอบระยะเวลาหมด แต่ก่อนไม่มีระยะเวลา ซึ่งนอกจากกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.แล้ว แต่รวมไปถึงการทำงานของอัยการด้วย ที่ต้องส่งฟ้องภายใน 180 วัน ตั้งแต่วันรับสำนวน และหากพยานหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ อัยการต้องตั้งคณะกรรมการร่วมภายใน 90 วัน ซึ่งยังหาข้อเท็จจริงไม่ได้อีก ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีเอง เป็นต้น
ส่วนประเด็น การตรวจสอบทรัพย์สินในกฎหมายใหม่ นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ต้องเปิดเผยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย ขณะเดียวกันคนให้เบาะแสกฎหมายใหม่ ระบุไว้ชัด ให้นำเข้าทะเบียนเป็นเอกสารลับ
"กฎหมายฉบับนี้ จึงเน้นปิดเป็นหลัก เปิดเผยมีเหตุผลความจำเป็นและต้องไม่เกิดความเสียหาย"
อ่านประกอบ: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF