‘พงศกร’ กับผีสาว...มาลัยวรรณ...แห่ง ‘บางกอกนฤมิต’
“ผมสร้างมาลัยวรรณให้เป็นผู้หญิงทะเยอทะยานในชีวิต ใฝ่ฝันอยากจะเป็นดารา เป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งหากมาลัยวรรณเป็นคนจริง ๆ เธอคงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่เมื่อวันหนึ่งที่มีใครบางคนขึ้นมาเทียบรัศมี เธอจึงต้องทำเพื่อรักษาบัลลังก์ของตนเองไว้”
เป็นครั้งแรกที่นวนิยายของ ‘หมอโอ๊ต’ หรือนพ.พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ ถูกนำไปสร้างเป็นละครช่อง One ซึ่งเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกเสียจาก ‘บางกอกนฤมิต’
‘บางกอกนฤมิต’ ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารหญิงไทย ระหว่างปี 2550-2552 ก่อนจะรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เพื่อนดีถึง 3 ครั้ง และครั้งที่ 4 กับกรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ถูกนำมาสร้างเป็นละครโดยผู้กำกับ ‘สถาพร นาควิไลโรจน์’ ที่ฝากฝีไม้ลายมือกำกับมาแล้วร่วม 10 เรื่อง
ด้วยภาษาการเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย กระชับฉับไว ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยม จนสามารถปลุกให้แฟนนักอ่านรู้สึกได้ถึงความชั่วร้ายของ ‘มาลัยวรรณ’ ดาราละครร้อง ตัวเอกของเรื่อง ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองยืนอยู่บนบัลลังก์ความนิยมได้
หมอโอ๊ต บอกเล่ากับ ‘พราวกระซิบ’ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่อมีโอกาสได้ชมละครเวทีบรอดเวย์ Phantom of the Opera ทำให้เกิดภาพในการเรียงร้อยเรื่องราวได้มากขึ้น
“จริง ๆ แล้ว ก่อน Phantom of the Opera เริ่มต้นตอนที่ได้เขียน ‘สาวหลงยุค’ ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องพีเรียดในสมัยรัชกาลที่ 6 คราวนี้ในเรื่องจะต้องมีฉากเกี่ยวกับละครร้อง เลยรู้สึกว่า ละครร้องของไทยมีความน่าสนใจเยอะมาก จากการสืบค้นหาข้อมูล ซึ่งเท่าที่ทราบสมัยนั้นมีราว 20-30 คณะ เรื่องดัง ๆ เช่น สาวเครือฟ้า เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการละครร้องไทย”
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เขาอยากจะเขียนเรื่องนี้ขึ้น แต่ยังไม่มีโอกาส จนกระทั่งได้ไปชมละครบรอดเวย์เรื่องที่กล่าวถึง “ผมรู้สึกชอบ เพราะโรงละครมีความลึกลับ เลยคิดว่า น่าจะนำมาปรับใช้กับละครร้องของไทยได้ โดยนำบรรยากาศและความรู้สึกจากละครบรอดเวย์เรื่องนั้นมาเขียน โดยเน้นเรื่องราวลึกลับที่เกิดขึ้นในโรงละครและการชิงรักหักสวาท”
หมอโอ๊ต กล่าวต่อถึงการตั้งชื่อนวนิยาย แรกเริ่มเดิมทีคิดว่าจะตั้งชื่อจากเหตุการณ์ ตัวละคร หรือสถานที่ ท้ายที่สุด สรุปเป็นสถานที่ จึงพยายามคิดชื่อโรงละคร ซึ่งคิดหลายชื่อมาก และได้คุยกับ บก.นิตยสารหญิงไทย ช่วยกันเลือกว่าจะใช้ชื่อไหนที่อ่านหรือฟังดูแล้วลึกลับ จึงได้ชื่อว่า ‘บางกอกนฤมิต’
โดยนวนิยายความยาว 35 บท หากเขียนรวดเดียวจบ จะใช้เวลาเขียนประมาณ 5 เดือน แต่สำหรับบางกอกนฤมิต ที่ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหญิงไทย ซึ่งเป็นนิตยสารรายปักษ์ ทำให้ใช้เวลาเขียนนานกว่า 1 ปี
ถามว่ายากหรือไม่ เขาตอบว่า การเรียงร้อยไม่ค่อยยาก เพราะก่อนเขียนได้มองเห็นภาพตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว “ความยากของบางกอกนฤมิตอยู่ที่การรวมเล่มมากกว่า เพราะตอนรวมเล่มต้องมาดูเรื่องของความต่อเนื่องของฉาก หรือการบรรยายที่มีความซ้ำซ้อนเยอะ เนื่องจากการเขียนเป็นตอน ๆ เมื่อเริ่มตอนใหม่ต้องเท้าความตอนเก่าก่อน เพราะเดี๋ยวผู้อ่านจะลืม แต่เมื่อนำมารวมเล่ม ผู้อ่านจะอ่านรวดเดียวจบ จึงต้องแก้ไขเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนออกไป ทำให้บางกอกนฤมิตเวอร์ชั่นรวมเล่มมีความกระชับและดำเนินเรื่องฉับไวมากขึ้น”
(ปู ไปรยา สวนดอกไม้ ที่มา:http://www.one31.net/news/detail/2685)
แน่นอนว่าตัวละครเอกของเรื่อง คือ ‘มาลัยวรรณ’ สาวละครร้องของบางกอกนฤมิตที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวในโรงละครแห่งนี้ทั้งหมด
หมอโอ๊ต กล่าวว่า ‘ปู’ ไปรยา สวนดอกไม้ ถ่ายทอดบทบาทของผีสาว ‘มาลัยวรรณ’ ได้ค่อนข้างตรงกับบทประพันธ์ มีความสวยแบบวินเทจ ทั้งยังมีสีหน้าแววตาแฝงไปด้วยความมุ่งมั่นในการอยากเป็นนักแสดง
“มองว่าเหมาะ แต่อายุอาจจะน้อยกว่าคาแรกเตอร์ในบทประพันธ์เล็กน้อย ซึ่งนั่นไม่ใช่ข้อจำกัดอะไร เพราะภาพที่เห็นคือคุณปูถ่ายทอดบทบาทออกมาได้อย่างดี”
เขากล่าวว่าได้มีโอกาสเจอคุณปูในวันเปิดกล้องละคร ซึ่งเธอได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้มาก่อนจะรับเล่นด้วย นั่นจึงทำให้เธอมีภาพคาแรกเตอร์อยู่ในใจ
ขณะที่ความหลอนในละครนั้น คุณสถาพร ผู้กำกับการแสดง ได้ลำดับเรื่องราวใหม่ให้มีความหลอนมากขึ้น แตกต่างจากนวนิยายจะมีน้อยกว่า ทั้งนี้ เพื่อทำให้ผู้ชมติดตาม ซึ่งถือว่าตรงใจ
“ผมสร้างมาลัยวรรณให้เป็นผู้หญิงทะเยอทะยานในชีวิต ใฝ่ฝันอยากจะเป็นดารา เป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งหากมาลัยวรรณเป็นคนจริง ๆ เธอคงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่เมื่อวันหนึ่งที่มีใครบางคนขึ้นมาเทียบรัศมี เธอจึงต้องทำเพื่อรักษาบัลลังก์ของตนเองไว้”
(Gloria Swanson : ที่มา https://www.sacurrent.com)
การสร้าง ‘มาลัยวรรณ’ ขึ้นมา ไม่มีต้นแบบ เพียงแค่คิดว่า หากจะให้เป็นคนจริงๆ แล้วเธอต้องเจอกับสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ จะต้องทำอย่างไร พยายามสร้างจินตนาการขึ้นมา
แต่ถามว่านึกถึงภาพใครหรือไม่ หมอโอ๊ต ตอบว่า นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Sunset Boulevard ที่นำเสนอเรื่องราวของราชินีภาพยนตร์เงียบ ซึ่งวันหนึ่งหมดความนิยม เพราะภาพยนตร์สีเสียงเข้ามาแทนที่ ทำให้บัลลังก์นางเอกสั่นคลอน หากใครเคยได้ชมจะสัมผัสได้ว่า นางเอกของเรื่องมีอารมณ์คล้ายกับมาลัยวรรณ
“Gloria Swanson นางเอกมีบุคลิกคล้ายกับคุณปู ไปรยา ในเรื่องความเด่น ความเป็นซุปเปอร์สตาร์ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ชอบเหวี่ยงและโวยวาย เพราะกลัวว่า จะต้องเสียบัลลังก์ไป”
เมื่อให้พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นเหมือนเช่นมาลัยวรรณ “ทุกคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตและความใฝ่ฝัน แต่ว่าในโลกความเป็นจริง ชีวิตเรากับเรื่องที่ฝันอาจเป็นคนละเรื่องกันก็ได้ มีหลายคนที่ฝันและสามารถทำได้ แต่บางคนฝัน แต่ทำไม่ได้ ด้วยวิถีชีวิตและกรอบอะไรบางอย่าง ทำให้เราต้องมีอาชีพอื่น อย่างไรก็ตาม การมีความฝันในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ชีวิตของเรามีจุดมุ่งหมาย ทำให้รู้ว่าจะต้องเป็นหรือทำอะไร ซึ่งการจะได้สิ่งนั้นมาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรามีความฝัน จะทำให้เรามีพลังที่ก้าวเดินต่อไป”
ตัวละครเอกในเรื่องอย่าง ‘มาลัยวรรณ’ มีความฝัน แต่วิถีทางที่จะไปถึงฝัน กลับใช้เล่ห์เหลี่ยมและสิ่งที่ได้มาอาจไม่ใช่ความสุขอย่างแท้จริง
‘...เพราะฉะนั้นความฝันเป็นสิ่งที่ดี เราต้องมี ส่วนได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การทำให้ถึงฝั่งฝัน จะต้องเป็นวิถีทางที่ถูกที่ควร...’
มาลัยวรรณ .