ประกาศใช้แล้ว!กม.ป.ป.ช.ใหม่ อธิบดี-ผู้ว่าฯ-ปลัดกระทรวง ต้องเปิดเผยทรัพย์สิน
พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับ 2561 ประกาศในราชกิจจาฯแล้วมี 11 หมวด 200 มาตรา พบระบุคุณลักษณะเข้มข้น ชี้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องเคยเป็น ตุลาการ-ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ-อาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างใดอย่างหนึ่งไม่น้อยกว่า 5 ปี -ชี้ ปปช.มีอำนาจปิดรายละเอียดทรัพย์สินหากเป็นอันตรายต่อเจ้าของข้อมูล
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2561 โดยมีรายละเอียดคร่าวๆของ พ.ร.บ.ฯ คือมีทั้งสิ้นจำนวน 200 มาตรา แบ่งเป็นทั้งสิ้น 11 หมวด และ 1 บทเฉพาะกาล โดนทั้ง 11 หมวดได้แก่ 1.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2.การไต่สวน 3.การดําเนินการกับผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งเฉพาะ 4.การดําเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 5.การดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน 6.การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 7.การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 8.ความร่วมมือกับต่างประเทศ 9.สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 10.กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ 11. บทกำหนดโทษ
โดยสาระสำคัญของ พ.ร.ป.ฯนี้ในส่วนของที่มาของ ป.ป.ช.นั้น การกำหนดไว้ในมาตรา 9 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการ จํานวนเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา โดยมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(4) ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรอง การประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(6) เป็นผู้มีความรู้ความชํานาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจํากัดมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสิบปี
(7) เคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
ขณะที่ส่วนของการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีสาระสำคัญระบุไว้ในมาตราที่ 102 มาตราที่ 103 มาตราที่ 105 และมาตราที่ 106 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตราที่ 102 ระบุว่า ให้ผู้ดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้แก่ ป.ป.ช. ได้แก่
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(3) ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
(4) ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
(5) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง ซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
(6) ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดํารงตําแหน่ง ตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
(7) ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง
(8) ตําแหน่งอื่นตามที่กฎหมายอื่นกําหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
(9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
ในขณะที่มาตราที่ 103 ระบุว่าเจ้าพนักงานของรัฐตําแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กำหนด
ส่วนในมาตราที่ 105 มีการระบุว่าในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกํากับไว้ในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน และสําเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทํารายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินที่ยื่นด้วย ทั้งนี้ ทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการ ให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน ในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือ ดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย
และมาตราที่ 106 ได้ระบุเอาไว้ว่า ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบต้องไม่ระบุถึงรายละเอียด ทางทะเบียนของทรัพย์สิน และภาพถ่ายทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จําเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด โดยการเผยแพร่ ให้กําหนดช่วงระยะเวลาในการดําเนินการที่ชัดเจน
หมายเหตุ:ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF)