ปปง.อายัดทรัพย์อดีตบิ๊ก สกสค. กับพวก 30 รายการ คดีทุจริตปล่อยกู้ 2.5 พันล.
ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับเงินใน 30 วัน ! ปปง.อายัดทรัพย์‘เกษม กลั่นยิ่ง’ อดีต บิ๊ก สกสค. กับพวก 30 รายการ สะพัด 400 ล. หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตปล่อยกู้ บ.บิลเลี่ยน อินโนเวชั่น กรุ๊ป ‘สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา’นักธุรกิจชื่อดัง 2.5 พันล.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรมในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติ ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 ให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด รายนายเกษม กลั่นยิ่ง กับพวก ไว้ชั่วคราว จำนวน 30 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน โดย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ปปง.ได้ให้ ออกประกาศ ขอให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีข้างต้น และไม่อาจดำเนินการเพื่อขอคืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืนความเสียหายดังกล่าวได้ตามกฎหมายอื่นหรือ ดำเนินการตามกฎหมายอื่นแล้วแต่ไม่เป็นผล ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหาย และจำนวนความเสียหายที่ได้รับ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สานักงาน ปปง. ภายในกาหนดเวลา 30 วัน ประกาศ นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/175/T9.PDF
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตประธานที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ คณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ (ช.พ.ค.) บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือ เสี่ยบิ๊ก นักธุรกิจชื่อดัง รวม 20 ราย ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ให้บริษัท บิลเลี่ยนฯ โดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท บิลเลี่ยนฯ
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2556 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ได้รับหนังสือเชิญชวนให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท จากบริษัท บิลเลี่ยนฯ หลังจากนั้นบอร์ดช.พ.ค. ในการประชุมครั้งที่ 15/2556 เมื่อวันที่25 ธ.ค.2556 มีมติอนุมัติให้นำเงินของกองทุนช.พ.ค. ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยนฯ จำนวน 2,100 ล้านบาท โดยพิจารณาจากเอกสารของบริษัท บิลเลี่ยนฯ ที่เชิญชวนเพียงฉบับเดียว ทั้งที่หนังสือเชิญชวนกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องมีธนาคารเป็นผู้อาวัล (การค้ำประกันการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน) เต็มจำนวน ดอกเบี้ยร้อยละ 7 กำหนดเวลา 1 ปี 1 วัน แต่บอร์ด ช.พ.ค. ไม่พิจารณาในรายละเอียด หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องของบริษัท บิลเลี่ยนฯ ไม่ว่าจะเป็นสถานะของบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเดือน พ.ย.2555 ทุนจดทะเบียนบริษัท ผลประกอบการ ไม่ตรวจสอบเอกสารอาวัลของธนาคาร อันเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้การซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินสมบูรณ์ตามคำเชิญชวนนั้น
นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีความจำเป็นรีบด่วนพิจารณาซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยนฯ รวมถึงภายหลังการอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพียง 2 วัน บอร์ดช.พ.ค. รีบเร่งโอนเงิน 2,100 ล้านบาทให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ แต่ภายหลังบริษัท บิลเลี่ยนฯ ไม่มีการขอให้ธนาคารทำการอาวัลเพื่อรับรองตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และแม้ต่อมาระหว่างรออาวัลจากธนาคาร บริษัท บิลเลี่ยนฯ ได้นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน เช็คธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และดร๊าฟของธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้คอร์ปอเรชั่น จำกัด มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2,300 ล้านบาท มาให้สำนักงาน สกสค. ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน แต่จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ราคาประเมินที่ดินรวม 37 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเช็คไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ดร๊าฟดังกล่าวเป็นดร๊าฟปลอม บริษัท บิลเลี่ยนฯ ไม่สามารถหาธนาคารอาวัลตั๋วได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 บอร์ด ช.พ.ค.ยังอนุมัติเงินเพิ่มให้บริษัท บิลเลี่ยนฯ อีก 400 ล้านบาท ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกยังไม่มีการอาวัล และในรอบต่อมาก็ไม่มีการอาวัลเช่นกัน แม้ต่อมาบริษัท บิลเลี่ยนฯ จะนำใบหุ้นของสโมสรเรดดิ้ง จำนวน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 ปอนด์ (รวม 50 ล้านปอนด์) วางเป็นหลักประกัน แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่า เป็นใบหุ้นปลอม และตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับใกล้ครบกำหนดชำระ บอร์ด ช.พ.ค. กลับยินยอมขยายเวลาชำระหนี้แก่บริษัท บิลเลี่ยนฯ ออกไปอีก เดิมครบกำหนด 28 ธ.ค.2557 ขยายไปถึงวันที่ 31 ม.ค.2558 และปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินสกุลโครเอเชีย 950 ล้านเหรียญโครเอเชีย ที่บริษัท บิลเลี่ยนฯ มาวางเพื่อขยายระยะเวลานั้น แม้เป็นเงินสกุลโครเอเชียจริง แต่มีการยกเลิกการใช้งานไปแล้ว
พฤติการณ์ดังกล่าวของบอร์ด ช.พ.ค. ที่อนุมัติเงินกองทุน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท จึงเอื้อประโยชน์ให้บริษัท บิลเลี่ยนฯ ได้รับเงินทั้ง 2 ครั้ง รวม 2,500 ล้านบาท โดยมิชอบ และโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน ช.พ.ค. และสำนักงาน สกสค. การกระทำของบอร์ด ช.พ.ค. มีมูลความผิดทั้งทางวินัย และอาญา
ทั้งนี้ รายชื่อผู้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทั้ง 20 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม
1.นายเกษม กลั่นยิ่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ช.พ.ค. มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 8 และ 11 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
2.นายสมศักดิ์ ตาไชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานบอร์ด ช.พ.ค. และเลขาธิการ สกสค. นายสุรเดช พรหมโชติ นายนิเทศ บัวตูม นายเพทาย ทองมหา นางปิยาภรณ์ เยาวาจา นายพรเทพ มุสิกวัตร นางมยุรี ตัณฑวัล นายสุเทพ ริยาพันธ์ และ น.ส.กัญญาณัฐ แจ่มมี บอร์ดช.พ.ค. และปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงาน สกสค. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 8 และ 11 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
3.นายประวิทย์ บึงไสย์ นายนเรศ แสนมูล นายสมศักดิ์ ทองแก้ว นายอุดม รูปดี และว่าที่ร้อยตรี เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ บอร์ด ช.พ.ค. มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
4.นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง บอร์ด ช.พ.ค. และผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน มีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 8 และ 11 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
และ5.บริษัท บิลเลี่ยนฯ นายสิทธินันท์ หลอมทอง นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ และนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา มีความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
สำหรับ คดีเกี่ยวกับเงินกู้ ช.พ.ค. ที่ร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. มีเบื้องต้น 3 คดี คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ส่วนอีก 2 คดี คือ การอนุมัติเงินของกองทุน ช.พ.ค. โดยมิชอบ 500 ล้านบาท และคดีออกระเบียบโดยมิชอบ โดยทั้ง 2 คดีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือถูกกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง
ป.ป.ช. เป็นผู้ประสานข้อมูลกับ ปปง. ในการติดตามอายัดทรัพย์ มีข้อมูลระบุว่า ปปง. ดำเนินการยึดทรัพย์เกี่ยวกับกรณีนี้ไปแล้ว 400 ล้านบาท และป.ป.ช.ยังไต่สวนผู้เกี่ยวข้องในข้อหาร่ำรวยผิดปกติอีกด้วย
อ่านประกอบ:
ชำแหละพฤติการณ์ 28 ‘บิ๊ก สกสค.’ ฉบับ ป.ป.ช.! พันปมปล่อยกู้ ช.พ.ค. 2.1 พันล.
ป.ป.ช.เชือด‘เกษม-สมศักดิ์-บอร์ด ช.พ.ค.’ ทุจริตปล่อยกู้ 2.5 พันล.ให้ บ.‘เดอะบิ๊ก’