อิศรา พบเบาะแสใหม่คดีสินบนบ.ญี่ปุ่น 20ล.!โยงเหตุลักลอบขายเหล็กขนส่งเครื่องจักรโรงไฟฟ้าขนอม
'อิศรา' พบเบาะแสใหม่ คดีบ.ญี่ปุ่น จ่ายสินบน 20 ล้าน โยงเหตุกรณีถูกด่านศุลกากรสิชล จับกุมลักลอบนำเหล็กนับร้อยตันที่ใช้ยึดเครื่องจักรใหญ่ ช่วงส่งเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมไปขายต่อในท้องตลาด ทั้งที่ ตามกม.ต้องส่งคืนกลับ หรือเสียภาษีนำเข้า ก่อนยอมเจรจาเสียค่าปรับหลักล้านแทน เผยข้อมูลลับช่วงหลังจับกุม ผู้ใหญ่หลายกรมรวมถึงนายทหารระดับสูงโทรถามเพียบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดการตรวจสอบกรณี สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว ได้สืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท ขณะที่ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 ว่า ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้ และมีการตรวจสอบไปแล้ว 70-80 % โดยได้ร่วมมือกับอัยการญี่ปุ่นในการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐาน ซึ่งพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องเป็นระดับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 4-5 คน ที่เรียกรับสินบน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า เจ้าของพื้นที่ และท้องถิ่น ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้เพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โดยจากนี้ก็ต้องรอผลสรุปเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและเปิดโอกาสเพื่อให้ความเป็นธรรมให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการได้ (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา ได้ติดต่อไปยังด่านศุลกากรนครศรีธรรมราช เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในการตรวจสอบคดีนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรนครศรีธรรมราชรายหนึ่งแจ้งว่า โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบด่านศุลกากรสิชล ขอให้ติดต่อไปสอบถามข้อมูลที่ด่านศุลกากรสิชลจะดีกว่า
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง ด่านศุลกากรสิชล ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสิชลรายหนึ่งว่า ในช่วงปี 2558 ด่านศุลกากรสิชล ได้เข้าทำการจับกุมบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หลังจากตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบนำเหล็กจำนวนหลาย100 ตัน ที่ใช้ยึดโยงเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ที่ถูกส่งเข้ามาใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมออกไปขายต่อในท้องตลาด ไม่นำเหล็กเหล่านี้ส่งกลับไป ซึ่งตามกฎหมายเหล็กเหล่านี้ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามหลักเกณฑ์บีโอไอ ต้องส่งคืนกลับไป หรือ ถ้าจะนำเข้าก็ต้องเสียภาษี แต่บริษัทกระทำการฝ่าฝืน ทางด่านฯ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุม
"เท่าที่ทราบช่วงหลังเข้าทำการจับกุม มีผู้ใหญ่หลายกรมหลายคน ติดต่อมาสอบถามเรื่องนี้จากเจ้าหน้าที่จำนวนมาก รวมถึงนายทหารระดับสูงด้วย เพราะบริษัทที่รับงานก่อสร้างนี้เป็นบริษัทใหญ่ แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าทางบริษัทฯ ยินยอมตกลงที่จะจ่ายค่าปรับเพื่อปิดคดีนี้ ซึ่งทางกรมศุลกากร ก็ทำเรื่องปิดคดีให้ไปแล้ว และเท่าที่รู้วงเงินค่าปรับที่จ่ายให้ก็ไม่ได้มีจำนวนมากนัก ไม่ถึงตัวเลข 20 ล้านบาท จากตัวเลขเดิมที่ต้องเสียเป็นจำนวนมาก จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป ส่วนเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท ในระดับพื้นที่ไม่รู้เหมือนกันว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ส่วนไหนกันแน่ "
เมื่อถามว่า ทางป.ป.ช.ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 4-5 คน ที่เรียกรับสินบน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น กรมศุลกากร ด้วย เจ้าหน้าที่รายนี้ ยืนยันว่า "เรื่องสินบนเราไม่รู้เรื่องด้วย เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แค่ในส่วนที่เข้าไปจับกุมดำเนินคดี หลังตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิด มีการลักลอบนำเหล็กไปขายต่อในท้องตลาด และส่งเรื่องให้ส่วนการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย"
เมื่อถามว่า บริษัทนำเหล็กไปขายต่อให้กับใคร เจ้าหน้าที่ระบุว่า "ไม่แน่ใจ ต้องไปติดตามตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทเอาเอง เพราะเรามีข้อมูลเพียงแค่ว่า เหล็กที่นำติดเข้ามาด้วย ไม่ได้ถูกส่งกลับ แต่ถูกลักลอบออกไปขายต่อในท้องตลาด และขนกันหลายเที่ยวด้วย เป็นการกระทำความผิดที่ชัดเจน ส่วนจะมีบริษัทเอกชนรายไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างเราไม่ทราบ บริษัทไหนนำเครื่องจักรเข้ามา บริษัทไหนเป็นคนแกะเหล็กออกจากเครื่องจักรเพื่อเอาไปใช้ในการก่อสร้าง บริษัทไหนเข้ามารับซื้อต่อ ต้องไปติดตามตรวจสอบเอาเอง"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสิชลดังกล่าว สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ของ บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่า MHPS ได้มีการประสานงานกับสำนักงานอัยการญี่ปุ่นในเรื่องของคดีการให้สินบนซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาระหว่างเจ้าพนักงานในพื้นที่และชุมชนในพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.2015 (2558) ในช่วงเวลาที่ MHPS และบริษัทผู้รับจ้างพยายามที่จะขนส่งอุปกรณ์ขนาดหนักสำหรับโรงไฟฟ้าขนอม 4 (Khanom IV power plant) ขึ้นบนท่าชั่วคราวบริเวณใกล้กับเขตพื้นที่ก่อสร้าง(อ่านประกอบ : เรื่องพัวพันจนท.รัฐ-เอกชน! MHPS แจงกรณีสินบน เกิดก.พ.58 ช่วงขนย้ายอุปกรณ์สร้างโรงไฟฟ้าขนอม)
อ่านประกอบ :
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ
ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม