ปรางทิพย์ ดาวเรือง:เด็กคลุมโม่ง
หนึ่งในงานสัมภาษณ์ที่ยากยิ่งในชีวิตการเป็นนักข่าว ไม่ใช่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวเขี้ยว ๆ ในเรื่องที่เป็นความลับซับซ้อน แต่คือการสัมภาษณ์ 'เด็กผู้เป็นเหยื่อการกระทำรุนแรง' เพือเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาในฐานะแหล่งข่าวในยามที่ให้ใจบอบช้ำ
ความสำเร็จในการสัมภาษณ์เด็กวัดได้จากความรู้สึกของเด็ก หาใช่การสนองตอบความปราถนาอันไม่มีที่สิ้นสุดของผู้ใหญ่
โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กระหายเลือดที่ "ทุกคนคือสื่อ"
หนึ่งในงานสัมภาษณ์ทียากยิ่งในชีวิตการเป็นนักข่าว ไม่ใช่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวเขี้ยว ๆ ในเรื่องที่เป็นความลับซับซ้อน แต่คือการสัมภาษณ์เด็กผู้เป็นเหยื่อการกระทำรุนแรง เพือเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาในฐานะแหล่งข่าวในยามที่หัวใจบอบช้ำ
เด็ก ๆ บริสุทธิ์และใจกว้างไม่คิดเล็กคิดน้อย ช่วยนำพาให้เข้าใจพวกเขา การได้พบกับเด็กเหล่านี้สอนว่า ไม่มีเด็กคนไหนจะคุ้นกับคนแปลกหน้าพอที่จะตอบคำถามลึกซึ้งได้ในการพบกันครั้งแรก
แค่พยายามสรรหาคำพูดจากโลกของความเป็นเด็กมาอธิบายความรู้สึกซับซ้อนก็ยากนักหนาแล้ว
ต่อเมื่อเวลาผ่านไปและมิตรภาพเกิดขึ้นนั่นแหละ เด็กทุกคนมีอะไรจะพูด แล้วจะเลือกสิ่งที่เขาอยากพูดเอง
.........
"ปลา" (นามแฝง) มีอายุ 15 ปีเมื่อลูกแบเบาะของเธอถูกแฟนหนุ่มติดยาทุ่มจนสียชีวิตเป็นข่าวใหญ่ติดกันหลายวัน เธอทบทวนความทรงจำนี้เมื่ออายุ 18
“มีนักข่าวเกือบห้าสิบคน เขาเอาไมโครโฟนมาจ่อที่หนูเต็มไปหมด หนูอึดอัดมากอยากจะไปให้พ้น“
“เขาถามว่าจะทำใจได้ไหม”
“ทำไมเขาต้องมาถามหนูแบบนี้ เรื่องเพิ่งเกิดแรกๆแบบนี้ คนเรายังทำใจไม่ได้หรอก หนูเลยเมินหน้าหนี หนูไม่อยากตอบ”
“นักข่าวคนหนึ่งถามหนูว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ตอนนั้นน้องยังอยู่ในไอซียู เขามาถามหนูอย่างนี้หนูไม่รู้จะตอบอย่างไร หนูได้แต่บอกไปว่า พี่.. เรื่องนี้ยังยาวเกินไป หนูตอบไม่ได้..”
“หนูปวดหัวเพราะหนูกำลังคิดมากอยู่ ต้องมาเจอคำถามที่ต้องคิดอย่างนี้ด้วยหรือ คนเราจะถามอะไรก็ต้องถามให้สมเหตุสมผล ไม่ใช่ถามอะไรก็ได้ ถ้าเขาถามตรงประเด็นหนูจะไม่ว่าอะไรเลย”
วันหนึ่งที่บ้านกระต๊อบริมนำ้ จู่ ๆ เธอก็ถามว่า "พี่อยากเห็นรูปลูกหนูไหม" แล้วเธอก็หยิบเด็กน้อยน่ารักที่ใส่กรอบห่อผ้าเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าออกมาอย่างทนุถนอม
ด้วยแววตาแสนเศร้า
"เฌอ" (นามแฝง) เป็นเด็กชนกลุ่มน้อยที่พ่อแม่ทำไร่อ้อยในประเทศไทย เมื่อเธออายุ 8 ขวบ เธอถูกผัวเมียชาวไทยลักพาตัวไปใช้แรงงาน ขัง ทรมาน ก่อนจะถูกพบตัวในสภาพร่างกายมีรอบแผลยับเยินเมื่ออายุ 12 ขวบ
เฌอ ถูกนำตัวออกแถลงข่าวและต้องถอดเสื้อโชว์รอยแผลหลายครั้ง เป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ เมื่ออายุ 14 ปี เฌอยังจำความรู้สึกในห้วงแห่งความสับสนได้
“ตอนที่พี่นักข่าวมาวันแรกไม่รู้สึกอะไรค่ะ พอพี่นักข่าวมาบ่อยๆ หนูก็รู้สึกเบื่อค่ะ ...”
“ (หนู) ไม่ชอบตอนที่ถอดเสื้อผ้า”
.........
ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวใหญ่ สังคมที่เคยฟูมฟายสงสารเวลานี้ยังจำกันได้ไหม แต่สำหรับเด็กทั้งสอง แผลใจจากความกระหายใครรู้ของผู้ใหญ่ ไม่น่าจะหายไปได้ง่าย ๆ
หากเวลาผ่านไปสามปีหรือห้าปี สังคมจะยังจำรายละเอียดของการสัมภาษณ์ทีมหมูป่าเมื่อวานนี้ได้หรือเปล่า โดยเฉพาะเมื่อมีดราม่าอื่น ๆ ผ่านเข้ามาสนองความกระหายอยาก
แต่เด็ก ๆ หมูป่าจะยังจำได้
เขาจะจำมันอย่างไร ดูได้ไม่ยากจากสีหน้าแววตาและสิ่งที่เขาบอกเล่าในยามถูกสัมภาษณ์
นั่นแหละคือคำตอบว่า การสัมภาษณ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
สำหรับผู้ใหญ่ที่กดดันบีบคั้นในโลกออนไลน์ด้วยปราถนาอันไม่มีสิ้นสุด
เด็ก ๆ คงให้พวกคุณไม่ได้หรอก
(เนื้อหา/ ภาพประกอบ: หนังสือ "เด็กคลุมโม่ง" ตีพิมพ์โดยสถาบันอิศรา)