ขยะสวิสเซอร์แลนด์ – ส่งกลิ่นถึงฝรั่งเศส : รอยร้าวเล็กๆที่ชายแดน
สาเหตุที่คนจากสวิสบางคนนิยมนำขยะข้ามไปทิ้งในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการทิ้งขยะในแต่ละเขตปกครองของสวิส โดยมีการกำหนดมาตรการการเก็บภาษีถุงขยะ ซึ่งแต่ละบ้านต้องจ่ายราวหนึ่งเหรียญหรือสองเหรียญดอลลาร์ต่อถุง
ขยะกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและของโลก หลายจังหวัดในประเทศไทยและชุมชนจำนวนมากยังหาทางออกที่ดีที่สุดไม่ได้ว่าจะจัดการกับขยะที่ล้นชุมชนแต่ละแห่งอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะขยะประเภทฝังกลบนั้นกลายเป็นปัญหาของบางจังหวัด เนื่องจากพื้นที่ในการฝังกลบกำลังจะหมดไปทุกที แม้แต่การกำจัดขยะด้วยเครื่องกำจัดขยะในบางพื้นที่ก็สร้างปัญหาให้กับชุมชนเพราะซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ขยะจึงถูกนำมากองรวมไว้ราวกับภูเขาเพื่อรอการกำจัด สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่งและเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ แถมยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบางประเทศถูกลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยอีกจำนวนไม่น้อย
จากข้อมูลเผยแพร่โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในปี 2559 คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1.14 กิโลกรัมต่อคน หากรวมทั้งประเทศ เท่ากับว่าคนไทยสร้างขยะ 74,073 ตันต่อวันหรือราว 27 ล้านตันต่อปี ในขณะที่คนอเมริกันสร้างขยะวันละ 1.99 กิโลกรัมต่อคน มากกว่าคนไทยราว .85 กิโลกรัม
ประเทศในทวีปยุโรป กำลังเผชิญปัญหาขยะล้นเมืองไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นของโลก รวมทั้ง ประเทศสวิสเซอร์แลนด์แดนสวรรค์ที่คนจำนวนมากใฝ่ฝันถึงก็กำลังเผชิญกับปัญหาขยะที่กำลังรุมเร้าไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ เช่นกัน เพราะกองขยะของสวิสเซอร์แลนด์กำลังกลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างประเทศที่คนจากสวิสเป็นผู้ก่อขึ้นเอง
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเขตแดนติดกับ ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อีตาลี ออสเตรียและลิกเตนสไตน์ ภาษาทางการของสวิสมีถึง 4 ภาษา แต่ภาษาที่ใช้กันมากคือ เยอรมันและฝรั่งเศส ส่วนภาษาอีตาลีนั้นมีใช้อยู่บ้างในบางเมืองชายแดนทางใต้ที่ติดกับอีตาลี ส่วนภาษาที่สี่ คือภาษาโรมานซ์ (Romansh) นั้น มีคนใช้กันไม่มากนัก
การเดินทางระหว่างสวิสเซอร์แลนด์กับประเทศข้างเคียงสะดวกทั้ง ทางรถยนต์ รถไฟหรือแม้แต่ทางเรือผ่านทางทะเลสาบใหญ่ๆ เช่น ทะเลสาบเจนิวาก็สามารถทำได้ เมืองชายแดนของสวิสเซอร์แลนด์กับประเทศรอบข้าง จึงมีผู้คนข้ามไปมาระหว่างกันอย่างสะดวกราวกับอยู่ในประเทศเดียวกัน
สิ่งที่คนจากสวิสกำลังสร้างความปวดหัวให้กับประเทศข้างเคียงก็คือ คนในเมืองชายแดนจำนวนหนึ่งนิยมนำขยะส่วนตัวจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไปทิ้งยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีชายแดนติดต่อกันยาวนับร้อยกิโลเมตรนั้นเป็นแหล่งทิ้งขยะที่คนสวิสนิยมนำขยะไปทิ้งมากที่สุด
จากข้อมูลของฝั่งประเทศฝรั่งเศส พบว่า คนจากสวิสจำนวนหนึ่งที่ข้ามมาจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้าในซูเปอร์มาเกตในฝรั่งเศส มักจะนำขยะติดตัวมาทิ้งเสมอและกลับไปมือเปล่า โดยทิ้งภาระการกำจัดขยะไว้ให้กับคนฝรั่งเศส
ในปี 2017 ด่านศุลกากรของฝรั่งเศสตรวจพบขยะราว 10 ตัน จากการนำเข้ามาโดยผิดกฎหมายของคนสวิส และในแต่ละปีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจับกุมชาวสวิสที่ลักลอบนำขยะมาทิ้งในดินแดนฝรั่งเศสได้ราว 140 คน และมีอีกจำนวนมากที่ยังจับไม่ได้ ผู้นำขยะมาทิ้งโดยผิดกฎหมายเหล่านี้จะถูกปรับ 150 ยูโรหรือราว 5,850 บาทและต้องนำขยะนั้นกลับคืนไปยังประเทศสวิสด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวดังในสื่อฝรั่งเศส รวมทั้งสร้างความเดือดดาลบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้คนสวิสกลุ่มที่เรียกกันว่า นักท่องเที่ยวขยะ(Rubbish tourist) ถูกวิจารณ์อย่างดุเดือดบนกระดานสนทนา บางคนถึงกับวิจารณ์ถึงคนสวิสว่า คนสวิสเป็นคนสะอาดและไร้ที่ติเฉพาะในบ้าน แต่เมื่อเหยียบดินแดนฝรั่งเศสจะกลายเป็นหมูไปทันที เป็นต้น
ในแต่ละวัน คนสวิสแต่ละคนสร้างขยะราว 2 กิโลกรัม มากกว่าคนไทย .86 กิโลกรัม และเกือบเท่ากับสหรัฐอเมริกาและเป็นที่สองของยุโรปรองจากประเทศเดนมาร์ก
ประเด็นที่มักพูดถึงกันเสมอ เมื่อพูดถึงขยะในยุโรปที่เพิ่มขึ้นก็คือ ความร่ำรวยของประเทศที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องแลกกับจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุที่คนจากสวิสบางคนนิยมนำขยะข้ามไปทิ้งในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการทิ้งขยะในแต่ละเขตปกครองของสวิส โดยมีการกำหนดมาตรการการเก็บภาษีถุงขยะ ซึ่งแต่ละบ้านต้องจ่ายราวหนึ่งเหรียญหรือสองเหรียญดอลลาร์ต่อถุง แม้ว่ามาตรการการเก็บภาษีจากถุงขยะและมาตรการอื่นๆ ดูเหมือนว่าจะได้ผล ทำให้จำนวนขยะในประเทศลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่กลับไปสร้างภาระให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพียงเพราะคนในประเทศสวิสต้องการประหยัดภาษีขยะแค่ไม่กี่ฟรังก์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรตามชายแดน สวิส-ฝรั่งเศส จึงมักเข้มงวดเรื่องขยะมากกว่าการขนสินค้าหรือยาเสพติดเสียอีก
เมื่อตรวจพบถุงขยะทางการฝรั่งเศสจะใช้ความพยายามสืบจากเบาะแสต่างๆที่อยู่บนถุงขยะเพื่อหาตัวคนทิ้งขยะที่อยู่ในประเทศสวิสจนพบตัว นอกจากฝรั่งเศสแล้วยังมีข่าวว่าบางเมืองในประเทศเยอรมันต่างเอือมระอาจากการพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนจากสวิสเช่นเดียวกัน
งานกำจัดขยะเป็นงานที่ต้องลงทุนสูงมากและค่อนข้างมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีและมีผลกระทบต่อชุมชน แต่ละประเทศจึงต้องหามาตรการสารพัดวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด การกำหนดมาตรการทางภาษีขยะสำหรับครัวเรือนของสวิสเซอร์แลนด์จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่พยายามลดการสร้างขยะของครัวเรือนลง แต่การที่บางครอบครัวเห็นว่า ต้องจ่ายค่าภาษีขยะแพงเกินไปจนถึงกับลงทุนนำขยะไปทิ้งถึงประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นเรื่องประหลาดที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ยอมรับและกลายเป็นเรื่องกระทบกระทั่งของชุมชนระหว่างประเทศที่อยู่ข้างเคียงกันเสมอๆ
แม้ว่าคนทั้งโลกจะเห็นว่า ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศพัฒนาชั้นนำของโลกและเป็นดินแดนที่ใครต่อใครอยากไปเยือน แต่การนำขยะจากบ้านตัวเองไปทิ้งถึงต่างแดนของชาวสวิสบางกลุ่มนั้นเป็นการบั่นทอนระดับความเป็นประเทศชั้นดีของตนเองอย่างไม่น่าเชื่อ
การกระทำดังกล่าวไม่ได้ต่างไปจากข่าวการประจานกลุ่มทัวร์คนไทยที่นำขยะห่อข้าวเหนียวหมูจากเมืองไทยไปทิ้งเกลื่อนเมืองซูริคเมื่อสองปีก่อนแม้แต่น้อย แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่สูงส่งหรือต่ำต้อยในสายตาชาวโลกก็มิได้มีหมายถึงว่า ประเทศนั้นมีความสูงส่งทางอารยธรรมเสมอไปหากยังมีคนบางกลุ่มบางพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและความสะดวกสบายโดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาของสังคม
อ้างอิงและภาพประกอบ : https://www.swissinfo.ch/eng/business/what-a-waste_why-the-swiss-dump-their-rubbish-in-france/44238560?utm_campaign=swi-nl&utm_medium=email&utm_source=newsletter&utm_content=o