เมื่อสื่ออาชีพต้องปรับตัว : บทเรียนการสื่อสารจากกรณีวิกฤติการณ์ทีมหมูป่า13 ชีวิตติดถ้ำหลวง
"...สื่ออาชีพต้อง “ทำงานร่วมกัน” กับองค์กรที่เป็น “เจ้าภาพ” หรือเป็น “เจ้าของเหตุการณ์” นั้น มากกว่าที่จะจับผิด หรือมุ่งหาข่าวตามมุมมองหรือความคิดของตนเองอย่างเดียว โดยไม่ถือว่าตนเองมีสิทธิหรือมี “หน้าที่” พิเศษเหนือกว่าคนอื่นในการค้นหาคำตอบทุกเรื่องเสมอไป..."
เหตุการณ์ที่ทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอะคาเดมี และโค้ช จำนวนรวม 13 คน ได้ติดอยู่ในถ้ำหลวงที่เทือกเขาขุนน้ำนางนอน เป็นเวลา 18 วันและได้รับการช่วยเหลือจนปลอดภัย ท่ามกลางความสนใจและเอาใจช่วยจากคนทั้งประเทศและจากนานาประเทศทั่วโลกนั้นทำให้สื่ออาชีพต้องเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ ในสถานการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติการณ์และภาวะฉุกเฉิน
คำว่า “สื่ออาชีพ” ในที่นี่ ผู้เขียนหมายถึง องค์กรด้านข่าวสาร ที่มีภารกิจหลักขององค์กรที่ทำให้องค์กรดำรงอยู่ได้ด้วยการผลิตเนื้อหาสารต่างๆ เพื่อนำเสนอสู่ผู้รับสารในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่แสวงหารายได้ ภารกิจองค์กรเหล่านี้ คือ การทำหน้าที่ในทางวิชาชีพ “วารสารศาสตร์” หรือ journalism
แต่ไหนแต่ไรมา การนำเสนอข่าวสารเพื่อสาธารณชน ถูกผูกขาดอยู่ในมือของสถาบันหรือองค์กรข่าว แต่ในวันนี้ เมื่อความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า Technology Disruption ได้ทำให้ผู้คนธรรมดาๆ ทั่วไป มีอำนาจของการสื่อสารสู่สังคมในวงกว้าง สื่อกลายเป็นเครื่องมือที่ใครๆ ก็เข้าถึงและจัดการได้ การ “รายงานเหตุการณ์” เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อคนจำนวนมากมายมีอำนาจการสื่อสารในมือ การทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง และติดตามสอดส่องดูแลสถานการณ์ต่างๆ จึงไม่ได้เป็นหน้าที่ของสื่ออาชีพอย่างเดียวอีกต่อไป
ในเหตุการณ์ทีมหมูป่าอะคาเดมี หนึ่งในแหล่งข่าวที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออย่างมากจากประชาชนและแม้แต่สำนักข่าวอาชีพทั้งหลายก็คือ สื่อเฟซบุ๊กเพจ Thai Navy Seal และเพจของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะเพจ PR. Chiangrai ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ของราชการ คือ กรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นสื่อหลักในการรายงานข่าวสารที่เป็นทางการในปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าของศูนย์อำนวยการร่วมฯ หรือ ศอร.
ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอก็คือ ในภาวะวิกฤติ เช่นในกรณีภัยพิบัตินั้น การทำงานของสื่ออาชีพ โดยทั่วไปคือ การเร่งนำเสนอ “ข่าว” หรือ รายงานเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงทุกอย่างตามความต้องการ ความคิดเห็น การตีความ และมุมมองตนเป็นสำคัญ โดยกำหนดว่าสิ่งใด “สำคัญ” มี “คุณค่า” และเป็นสิ่งที่ประชาชน “อยากรู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่ออาชีพประเภทสื่อโทรทัศน์ ที่ทุกช่องได้ใช้ประโยชน์ของแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น social media และเว็ปไซต์ ในการรายงานข่าวตลอดเวลา เพื่อทดแทนหรือเพิ่มยอดการชมให้มากขึ้นในยุคสมัยที่ผู้คนหันไปเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อใหม่เหล่านี้กันมากกว่าสื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิม
แน่นอนว่า ในโลกออนไลน์และ Social media ยอดวิว ยอดไลค์และแชร์คือสิ่งสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม การแข่งขันเรื่องความเร็ว ความ exclusive ของข่าว จึงเป็นสิ่งที่สื่ออาชีพจำนวนมาก ถูก “บังคับ” หรือกำหนด “กรอบ” ในการทำงานเพื่อช่วงชิงผู้รับข่าวสารให้ได้มากที่สุด
เมื่อความเร็ว ความสดใหม่ การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นและอารมณ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องแข่งขันกันในเวลาจำกัด การทำงานของสื่ออาชีพจึงตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติหรือภาวะวิกฤติเช่นนี้ อัตราการรีบเร่งทำข่าวจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
การบริหารภาวะวิกฤติ แบ่งออกเป็นภารกิจสองด้านใหญ่ๆคือ ด้านการจัดการสถานการณ์ และด้านการสื่อสาร
ในด้านแรกคือการจัดการสถานการณ์ เป็นการควบคุมและแก้ไข ลดความรุนแรงและผลกระทบของเหตุการณ์ เช่นอาจมีการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อช่วยชีวิต ป้องกันการบาดเจ็บสูญเสีย และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีถ้ำหลวงนี้ ก็คือฝ่ายปกครอง ทหารตำรวจ อาสาสมัคร และหน่วยงานรัฐ เอกชน จากหลายๆแห่งทั่วประเทศและจากนานาประเทศ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่รอบๆ ที่ร่วมมือกันในการค้นหา ช่วยชีวิตเด็กทีมหมูป่าและโค้ชให้รอดปลอดภัย
การจัดการครั้งนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความผิดพลาดนิดเดียว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกสิ่ง ทั้งความเสียหายด้านจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก กฎหมาย สิทธิบุคคล ความเป็นส่วนตัว ความเสียงต่อชีวิตในทางการแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก ที่สำคัญวิธีการและขั้นตอนปฏิบัติเพื่อจัดการเหตุการณ์คือการกู้ภัยช่วยชีวิตทีมหมูป่านั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และมีความสลับซับซ้อนยิ่ง ไม่มีใครทราบวิธีการที่แน่ชัดและไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน การปฏิบัติการทุกอย่างทุกขั้นตอนจึงเป็นความเสี่ยงสูงสุด
เมื่อเป็นเช่นนั้น การควบคุมข่าวสารให้เป็นไปในทิศทางเดียว ให้มีความถูกต้องแม่นยำ ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และเป็นผลดีต่อภาพรวมของภารกิจที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด
ในด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมิติของการบริหารภาวะวิกฤตินั้น หลักการพื้นฐานก็คือการควบคุมจัดการการสื่อสารให้ไปในทิศทางหรือมีขอบเขตที่เหมาะสม และเป็นผลดีต่อปฏิบัติการโดยรวม สิ่งที่ ศอร. ภายใต้การนำของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการฯ นับเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการบริหารภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง โดย ศอร.ได้มีการกำหนดเนื้อหา เวลาการนำเสนอ ประเด็นข่าวสาร และตัวผู้ให้ข่าวสาร ตามแผนงานที่ชัดเจน ทำให้ข่าวสารมีความเป็นหนึ่งเดียว หรือที่เรียกว่า One Team One Voice การไหลของข่าวสารจึงเป็นไปในทิศทางเดียว สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศถูกจำกัดขอบเขตการรายงานข่าว โดยมีภาพข่าวและข้อมูลจากแหล่งเดียวคือแหล่งที่เป็นทางการของ ศอร. ทำให้ไม่เกิดการแย่งกันทำข่าวหรือความแออัดไม่เป็นระเบียบของสื่อสำนักต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกๆ นี่อาจทำให้สื่ออาชีพบางรายไม่พอใจ และตั้งคำถามเชิงลบกับการทำงานของฝ่ายรัฐว่ามีความไม่ถูกต้องชอบมาพากล หรือมีการปกปิดสิ่งใดอยู่หรือไม่
จริงอยู่ที่ ในสถานการณ์วิกฤติ ประชาชนต้องการ กระหายข่าวสารเป็นอย่างมาก หลักการบริหารในภาวะวิกฤติ ระบุอย่างชัดเจนว่าการสื่อสารต้องเร็ว ต่อเนื่อง มีความคืบหน้า เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นนั้น แต่ในการบริหารภาวะวิกฤติ ก็ยังมีหลักการอีกข้อหนึ่งที่ระบุว่า แม้การสื่อสารจะเร็ว แต่ต้องมีความถูกต้อง หากยังไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจน ไม่มีการตรวจสอบยืนยัน ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอ องค์กรผู้ควบคุมบริหารจัดการสถานการณ์ มีสิทธิเต็มที่ที่จะไม่ให้ข่าวนั้น และนั่นคือสิงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ทว่า ความเป็นจริงคือ สื่ออาชีพมักยอมไม่ได้ที่จะ “ช้า” หรือ “ตกข่าว” หรือ “ข่าวซ้ำกับคนอื่น” หรือเมื่อมีบางประเด็นที่สื่อ “สงสัย” หรือ “ไม่เขื่อ” ก็จะต้อง “ตรวจสอบให้แน่ชัด” โดยตั้งประเด็นหรือคำถามบางอย่าง และไปแสวงหาข้อมูลนั้นๆ ตามที่ตนเข้าใจเพื่อเอามาเผยแพร่ ทั้งๆที่ความสงสัยหรือไม่เชื่อนั้น อาจเกิดจากความเข้าใจผิดหรือการมีข้อมูลอันจำกัดในขณะนั้นก็ได้
เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่ทีมหมูป่า 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง และมีผู้คนมาช่วยเหลือเป็นจำนวนมากมายจนเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้สื่ออาชีพ หันมาทบทวนวิธีการทำงาน และหลักคิดของตนเองใหม่ว่า ในการรายงานข่าว โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ ภาวะฉุกเฉินไม่ปกติทั้งหลายนั้น นักวิชาชีพสื่อจะต้องคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง และมีข้อปฏิบัติอย่างไร ซึ่งผู้เขียนขอเสนอว่า สื่ออาชีพต้อง “ทำงานร่วมกัน” กับองค์กรที่เป็น “เจ้าภาพ” หรือเป็น “เจ้าของเหตุการณ์” นั้นมากกว่าที่จะจับผิด หรือมุ่งหาข่าวตามมุมมองหรือความคิดของตนเองอย่างเดียว โดยไม่ถือว่าตนเองมีสิทธิหรือมี “หน้าที่” พิเศษเหนือกว่าคนอื่นในการค้นหาคำตอบทุกเรื่องเสมอไป
ในกรณีทีมหมู่ป่า 13 คน เมื่อ ศอร เริ่มจัดระเบียบสื่อ ควบคุมการเสนอข่าวสารของปฏิบัติการกู้ภัยนำเด็กและโค้ชออกจากถ้ำเราจะเห็นได้ว่า ข่าวสารทั้งภาพและเสียง มีการกำหนดขอบเขตไว้อย่างดี ไม่มีการถ่ายให้เห็นภาพใบหน้าเด็ก ชื่อเด็ก ภาพใบหน้าเจ้าหน้าที่หน่วย SEAL ไม่มีการนำเสนอรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติการนำตัวเด็กออกจากถ้ำ ยกเว้นขั้นตอนภายนอกที่เป็นการนำส่งโรงพยาบาลเมื่อออกจากถ้ำแล้ว ซึ่งสื่อเองก็ต้องยอมรับและเคารพกติกานี้อย่างเป็นมืออาชีพ เห็นได้ว่า ผลที่ออกมาดีเยี่ยม ภาพ ข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอสู่สาธารณชน เป็นไปในทิศทางเดียว มีความถูกต้อง แม่นยำ และประชาชนเชื่อถือได้ ดังจะเห็นได้ในวันดีเดย์ เมื่อเด็กคนแรกออกจากถ้ำได้ มีการแจ้งให้มีการแชร์การรายงานสด Facebook Live จากเฉพาะเพจ PR Chiangrai ซึ่งเป็นเพจข่าวสารทางการของรัฐบาลในปฏิบัติการครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสื่อ social media ของรัฐ กลับเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
สำหรับในมุมมองของการสื่อสารขององค์กรทั้งภาครัฐ หรือเอกชนใดๆ กรณีหมูป่า 13 คน สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการการสื่อสารมีความสำคัญมาก เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะเป็นกรณีศึกษาให้กับการทำงานของสื่ออาชีพแล้ว ยังจะเป็นตัวอย่าง ให้กับองค์กรในการจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ปกติแล้ว องค์กรมักจะกลัวที่จะต้องสื่อสารและทำงานกับสื่ออาชีพ องค์กรสามารถจำกัดการควบคุมข่าวสารได้ เพื่อให้การจัดการภาวะวิกฤติเป็นไปตามแผนงานอย่างราบรื่น แม้กระนั้นก็ตาม การให้ความร่วมมือกับสื่ออาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญ ในยุคก่อนที่สื่อ social media และสื่อออนไลน์จะเฟื่องฟู ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กร จะต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม เช่นทำข่าวแจก เตรียมคำกล่าว ภาพ ข้อมูลรายละเอียด และส่งต่อให้สื่ออาชีพเป็นผู้ถ่ายทอดสู่ประชาขนอีกทีหนึ่ง ทว่าในปัจจุบัน เมื่อองค์กรมีสื่อที่สะดวกรวดเร็วอย่างสื่อสังคมออนไลน์และเว็ปไซต์เป็นของตนเอง องค์กรสามารถใช้สื่อนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการรายงานเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้สื่ออาชีพ และที่สำคัญได้เปรียบเพราะเป็นแหล่งข่าวเอง
การนำเสนอข่าวสารปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าโดยเพจ Thai Navy Seal รวมทั้งเพจสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ PR Chiangrai เป็นตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารขององค์กรรัฐที่มีคุณภาพ จนกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญ ด้วยความฉับไวในการนำเสนอข่าวสาร ด้วยภาพประกอบและข้อความที่เขียนได้น่าอ่าน จนมีคนชื่นชมและติดตาม แชร์ต่อจำนวนมาก คือปรากฏการณ์ใหม่ของการสื่อสารของรัฐ ที่น่าจะเปิดศักราชใหม่ของการทำงานสื่อสารภาครัฐว่าไม่จำเป็นที่จะต้องล้าสมัยหรือ “เชย” หรือเป็นเพียงเครื่องมือประชาสัมพันธ์แบบ One Way ของภาครัฐอีกต่อไปดังนั้น หากองค์กรทำสื่อนี้ให้ดี ก็จะสามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของสื่ออาชีพได้ เป็นเครื่องมือสื่อสารกับประชาชนโดยตรง และถ้าหากเมื่อถึงวันที่สื่อขององค์กรเหล่านี้ สามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างมีคุณภาพมากกว่าสื่ออาชีพ จะเกิดอะไรขึ้น สื่ออาชีพจะยังมีความน่าเชื่อถือจะยังมีอยู่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า สถานการณ์นี้ ไม่น่าจะต้องเป็นที่วิตกกังวลของสื่ออาชีพมากเกินไป เพราะสื่ออาชีพเองก็สามารถใช้สื่อขององค์กรเหล่านี้เป็น “แหล่งข่าว” ชั้นดีได้ ที่สำคัญ สื่ออาชีพจะต้องไม่ต้องติดอยู่กับความคิดหรือคำถามเดิมๆ ว่า “ข่าวจากพีอาร์นี้ จะเชื่อถือได้ไหม” หรือ “จะถูกพีอาร์หลอกไหม” “เป็นเรื่องจริงหรือแค่การสร้างภาพ ปิดข่าว” เพราะสื่ออาชีพเพียงแต่เปิดใจมองมุมใหม่ ในขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารขององค์กรเอง ก็เร่งพัฒนาการทำงานให้เป็นมืออาชีพ โดยใช้หลักวารสารศาสตร์ที่ดี ยึดหลักจริยธรรมของวิชาชีพตนเอง โดยไม่ได้หวังแต่สื่อสารเพื่อสร้างภาพหรือปิดบังข้อเท็จจริงที่เป็นโทษหรือทำร้ายสังคม
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า บทเรียนจากกรณีเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี จำนวน 13 คน ติดถ้ำหลวง คือการเรียนรู้ครั้งใหญ่สำหรับผู้ที่ทำงานด้านสื่ออย่างสื่ออาชีพและผู้ที่ทำงานการสื่อสารขององค์กรทั้งหลายว่า แท้จริงแล้ว การสื่อสารในภาวะวิกฤติเป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างสื่ออาชีพและองค์กรนั่นเอง