ข้อเท็จจริงทหารเกณฑ์ถูกยืมตัวช่วยงาน ขั้นตอนยังไง-ได้ค่าตอบแทนไหม?
ข้อเท็จจริง ทหารเกณฑ์ถูกยืมตัวให้ช่วยงาน-กิจกรรม ทั้งศาสนพิธี-งานวัด-หน่วยงานรัฐขอตัว-นายให้ทำความสะอาดบ้าน ต้องทำแบบไหน ได้ค่าตอบแทนหรือเปล่า ?
สปอร์ตไลต์ทางสังคมฉายแสงเข้ามาในค่ายทหารอีกครั้ง !
กรณีทหารกองประจำการ หรือทหารเกณฑ์ ประจำกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง บริเวณค่ายใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อัดคลิปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวหาว่า ถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้ไปเลี้ยงไก่ชน และหากวันไหนเลี้ยงไม่ดีจะถูกโวยวายด้วยวาจา ‘พรุสวาท’ รวมถึงอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายได้ จึงอดรนทนไม่ไหวต้องโพสต์คลิปวีดีโอนี้ เพื่อรายงานให้สาธารณชนทราบ
ต่อมาทหารเกณฑ์รายนี้ได้โพสต์อีกคลิปหนึ่ง ขอโทษที่เอ่ยชื่อกองพันแห่งนี้ เพราะเกรงเสียเชื่อเสียง จนกลายเป็นประเด็นข่าวคึกโครม พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ถึงกับออกปากว่า กองทัพบกดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว
เช่นเดียวกันกับการออกแอ็คชั่นของนายทหารชั้นผู้ใหญ่-บิ๊กในรัฐบาลหลายรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงกองทัพบก ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นกรณีการขอยืมตัวเพื่อช่วยเหลืองาน เป็นต้น
ไม่ว่ากรณีข้างต้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับคำยืนยันจากแหล่งข่าวที่เคยเป็นทหารเกณฑ์สังกัดกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง ที่เพิ่งปลดประจำการเมื่อเดือน เม.ย. 2561 ต่างยืนยันตรงกันว่า นายทหารระดับสูงยืมตัวทหารเกณฑ์ให้ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง หรือบ้านพัก เป็นเรื่องจริง และปัจจุบันยังมีอยู่อย่างไม่ขาดสาย และหากทหารเกณฑ์รายไหนปลดประจำการ จะต้องมีทหารเกณฑ์คนใหม่เข้าไปแทนที่ทันที ไม่ว่างเว้นเป็นอันขาด
อดีตทหารเกณฑ์รายหนึ่ง ยืนยันว่า การเข้าไปดูแลบ้านพักของนายทหารระดับสูง โดยเฉพาะระดับนายพัน-นายพล เป็นที่หมายปองของทหารเกณฑ์ค่อนข้างมาก เพราะว่า จะได้รับเงินเดือนแบบ ‘กินเต็ม’ ไม่ถูกหักโน่นหักนี่เหมือนอยู่ในค่ายหรือกองพัน
“ไปอยู่บ้านนาย ได้เงินเดือนหมื่นหนึ่ง ก็ได้หมื่นหนึ่งจริง ๆ นี่ยังไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยงที่นายให้ต่างหากอีก ไม่ถูกหักเหมือนอยู่ที่กรม ที่ค่าย แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
อดีตทหารเกณฑ์รายนี้ ระบุอีกว่า แม้การไปอยู่บ้านนายทหารระดับสูง อาจต้องยอมสูญเสียอิสรภาพบางอย่างไป เช่น หากนายไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่อาจสูบในอาณาบริเวณบ้านได้ หรือบางครั้งไม่สามารถลากลับบ้านได้เหมือนตอนอยู่กรมกองก็ตาม แต่ผลตอบแทนก็คุ้มค่าที่จะไปอยู่
“บางครั้ง อย่างเพื่อนผมไปอยู่บ้านนาย เจอนายเรื่องมาก เราก็เถียงไม่ได้ พอมากเข้าก็กดดัน เลยขอออกจากบ้านนายมาเลย บางคนก็ทำได้ แต่บางคนก็ทำไม่ได้ เพราะกรมกองของเขาไม่มีคนไปเปลี่ยน ก็ต้องทนอยู่ไปเรื่อยจนปลดประจำการ”
สำหรับประเด็นการไหว้วานให้ช่วยเหลือนั้น อดีตทหารเกณฑ์อีกรายหนึ่ง อธิบายว่า สามารถจำแนกได้ 3 กรณี
1.กรณีที่หน่วยงานรัฐขอช่วยเหลือให้ไปรักษาความปลอดภัย ทำความสะอาด หรือทำอะไรก็ตามในเชิงใช้ ‘พลังกาย’ ทางหน่วย หรือกรมกองต้องส่งทหารเกณฑ์ไปตามที่กำหนด และกรณีนี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้ค่าตอบแทนพิเศษ มักได้แค่คำขอบคุณเท่านั้น
2.กรณีวัด หรืองานศาสนพิธีต่าง ๆ ขอตัวทหารเกณฑ์ไปช่วยเหลือกิจกรรม ตรงนี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้ค่าตอบแทน แต่อาจได้เป็นการปันของบิณฑบาตจากญาติโยมที่มาบริจาค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันถั่วเหลือง ปลากระป๋อง เป็นต้น
3.กรณีเอกชนขอตัวทหารเกณฑ์ไปช่วยเหลือ ในส่วนนี้โดยมากมักได้ค่าตอบแทนพิเศษ ตกอย่างต่ำวันละ 300-500 บาท หรือมากกว่านั้น แล้วแต่กรณี หรือบางครั้งแม้ไม่ได้เป็นเงิน แต่ก็ได้รับประทานอาหารราคาแพง ที่ไม่มีให้รับประทานในค่ายทหาร
แต่มีบ้างเหมือนกันที่ ‘นาย’ ไหว้วานให้ไปช่วยทำความสะอาดบ้าน ซึ่งคนละส่วนกับการที่ทหารเกณฑ์มาประจำบ้าน ‘นาย’ เช่น การถอนหญ้า การลงต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น แต่กรณีนี้มักไม่ค่อยได้ค่าตอบแทน ได้แค่อาหาร หรือน้ำ เพื่อเป็นสินน้ำใจเล็กน้อยเท่านั้น
นี่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการ ‘ยืมตัว’ ทหารเกณฑ์ไปช่วยเหลือ-ทำงานที่ ‘บ้านนาย’ ท่ามกลางประเด็นร้อนที่ทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดีไม่มีกฎหมายฉบับใดรับรองว่า การยืมตัวทหารเกณฑ์มาช่วยงานที่บ้านถูกหรือผิด ?
อ่านประกอบ :
ใครว่าถึงหมื่น?ชำแหละเงินเดือน‘ทหารเกณฑ์’ได้เท่าไหร่-ช่องโหว่ระบบใหม่‘จ่ายตรง’
ซื้อของกินร้านP.X.-จับกลุ่มนินทาครูฝึก! 'ความสุข'ทหารใหม่อยู่ตรงไหน?
เปิดละเอียด! กิจวัตรทหารใหม่ 10สัปดาห์แรกทำอะไร-ทำไมกลัวเสียงนกหวีด?
เจาะโครงสร้างฝึกทหารใหม่ 'โดนซ่อม' เกิดขึ้นได้อย่างไร-ทำไม ทบ.กังวลภาพหลุด?
โชว์หนังสือห้ามถ่ายคลิปซ่อมทหาร-ทำร้ายร่างกาย ปฏิบัติการกู้ภาพลักษณ์ ทบ.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mthai