สวัสดิการเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ 'สุนี ไชยรส' เร่งรัฐอุดหนุนเงินถ้วนหน้า ลดปัญหาตกสำรวจ-ตั้งงบฯ ไม่พอ
'สุนี ไชยรส' หนุนรัฐจัดสวัสดิการเด็กเล็ก ให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้า 600 บาท/เดือน ชี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ คาดใช้งบฯ เริ่มต้น 0.2% ของจีดีพี หลังพบปัญหาหลายครอบครัวตกสำรวจ-ตั้งงบฯ ไม่เพียงพอยอดลงทะเบียน
วันที่ 16 ก.ค. 2561 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดกิจกรรมทางวิชาการในวาระ 100 วัน คุณราณี หัสสรังสี นักกิจกรรมเพื่อสังคม พร้อมเสวนาวิชาการ เรื่อง สถานการณ์สวัสดิการในสังคมไทย 2018 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งถึง “การจัดสวัสดิการเด็กเล็ก” ว่าเด็กเล็กไม่ใช่เรื่องของครอบครัว แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสวัสดิการเด็กเล็กถูกขับเคลื่อนจากขบวนการแรงงานในระบบสวัสดิการสังคมมาโดยตลอด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน รัฐให้เงินอุดหนุนเฉพาะเด็กยากจน ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน 3,000 บาท/เดือน
โดยในปี 2558 ครม.ให้เงินอุดหนุน 400 บาท/เดือน นำร่อง 0-1 ปี ต่อมา ปี 2559 ให้เงินอุดหนุน 600 บาท/เดือน ขยายช่วงอายุ 0-3 ปี และปี 2560 ให้ครอบครัวที่อยู่ในระบบประกันสังคมรับเงินอุดหนุนควบคู่กับเงินสงเคราะห์บุตรได้แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน เช่นเดิม
“รัฐมนตรีบางคนเสนอให้ขยับฐานรายได้จาก 3,000 บาท เป็น 100,000 บาท เพื่อให้มีการขยายฐานมากขึ้น แต่เราไม่เห็นด้วยอยู่ดี” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า จึงได้เรียกร้องให้จัดสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ใช่สงเคราะห์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็ก
นางสุนี ยังกล่าวถึงปัญหาของการไม่จัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พบว่า มีครอบครัวตกสำรวจจำนวนมาก รวมถึงการตั้งงบประมาณ ทุกเดือนจะมีปัญหาตลอด เช่น กำหนดงบประมาณไว้ 300,000 คน แต่กลับมีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิจริง 500,000 คน ทำให้ไม่มีเงินจ่าย และเกิดความวุ่นวายทุกปี รวมถึงยังไม่มีใครรู้ว่า ครม.ให้สิทธิเงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ด้วยแล้ว
ขณะที่ข้อดีของการจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพียงร้อยละ 2.5 ของงบประมาณโครงการฯ หรือน้อยกว่า 5 เท่า แตกต่างจากการให้เงินเฉพาะกลุ่มยากจน จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ สูงถึงร้อยละ 11 ของงบประมาณโครงการฯ และมีต้นทุนอื่น ๆ แฝง เช่น ต้นทุนการคัดกรองคนจน ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวด้วยว่า หากให้เงินอุดหนุน 600 บาท/เดือน กับเด็กอายุ 0-6 ปี ทุกคน เริ่มต้นจะใช้เงินเพียงร้อยละ 0.2 ของจีดีพี เท่านั้น นั่นหมายถึงรัฐมีเงิน 100 บาท จะใช้เงินเพียง 2 สตางค์ ลงทุนกับเด็กและสังคม และตัวเลขจะลดลงเป็นร้อยละ 0.13 ของจีดีพี เนื่องจากเด็กเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ
“สังคมไทยเรื่องของสวัสดิการเด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องที่เชื่อมตรงกับระบบสวัสดิการสังคมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้หญิง แรงงานหญิง หรือผู้สูงอายุ ที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงหลาน ฉะนั้นจำเป็นมากว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ ต้องวางแผนตั้งแต่ต้น"
นางสุนี กล่าวต่อว่า ถามว่ารัฐบาลมีเงินหรือไม่ คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่า มีเงินกองมหึมาในประเทศไทย และมีหนี้สินท่วมหัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตัดสินใจเอาเงินไปใช้ทำอะไร ถ้าตัดสินใจถูก จะดีกว่าไปซื้อเรือดำน้ำ ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐ และจะสามารถวางแผนระบบสวัสดิการสังคม .
ภาพประกอบ:http://www.thaihealth.or.th