ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ สธ.ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาหารมีไขมันทรานส์
เมื่อพ้นกําหนด180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย อาหารมีกรดไขมันทรานส์ รองเลขาฯ อย. ยันผู้ใดไม่ปฏิบัติตามผิดตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
กรณีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน(Partially Hydrogenated Oils)
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต น้ำเข้า หรือจำหน่าย
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ด้านนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวว่า เมื่อพ้นกําหนดหนึ่ง 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือผู้ใดไม่ปฎิบัติตามนั้น จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 โดยบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 50 ระบุ ผู้ใดฝ่าฝืนซึ่งออกตามมาตรา 6(8) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000บาทถึง 20,000 บาท
ก่อนหน้านี้ นพ.พูลลาภ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวเช้านี้ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz. ถึงประกาศฉบับนี้ใช้บังคับเฉพาะไขมันที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงไป "จากข้อมูลที่มีอยู่มนุษย์เราทานไขมันทรานส์ได้แต่ไม่ควรเกิน 2% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งตัวที่ทำให้เกิดโรคมากในคนไทย คือไขมันอิ่มตัวมากกว่าไขมันทรานส์"
นพ.พูลลาภ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเว้นระยะให้เตรียมตัว 180 วัน เป็นธรรมชาติของกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว ซึ่งก่อนการออกประกาศได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการมาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแล้ว และหลังจากนี้ผู้ประกอบการจะผลิต นำเข้า จำหน่ายต้องมาแสดงส่วนประกอบของอาหารว่ามีอะไรบ้าง และจะมีการตรวจว่าใช้น้ำมันประเภทนี้หรือไม่ ก่อนสุ่มตรวจซ้ำเมื่อออกสู่ตลาดอีกครั้งหนึ่ง