แอมเนสตี้ฯ สนง.ข้าหลวงใหญ่ฯ และ สหประชาชาติ โปรดฟังเสียงเรียกร้องเจ้าของประเทศ
กรณีการประหารชีวิตนักโทษในประเทศไทยครั้งล่าสุด ในคดีฆ่าชิงทรัพย์อย่างเหี้ยมโหดสุดประมาณ เหยื่อถูกแทงร่างพรุน ตายอย่างทารุณถึง 24 แผล และพวกท่านได้ออกแถลงการณ์ประณามการประหารอย่างดุเด็ด เผ็ดร้อนและรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยในสายตานานาอารยประเทศ ขอเรียนพวกท่านและพวกที่เรียกตนว่า “นักสิทธิมนุษยชน” รวมทั้งคนที่ต่อต้านการประหารชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศไหนในโลก โปรดสำเหนียกเสียงเรียกร้องของเจ้าของประเทศ รวม 18 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก ที่มีกฎหมายประหารชีวิตและมีการประหารชีวิตตามกฎหมาย ประเทศอื่นอีกมากมายหลายประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ก็มีกฎหมายนี้และมีการประหารชีวิตเหมือนกัน เช่น สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย การมีกฎหมายประหารชีวิตหรือไม่จึงไม่ใช่เครื่องวัด ว่าประเทศไหนพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ก้าวหน้าหรือล้าหลัง การคงอยู่ของกฎหมายนี้เป็นเรื่องของเหตุผล ความจำเป็น ปัญหา ข้อจำกัดของแต่ละประเทศ และเจตจำนงของประชาชนในสังคม ว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่พวกท่านจะมาตัดสินแทน ประไทยไม่ได้เดินไปสู่ “ความเสื่อมถอย” ตามที่ท่านกล่าวหา ประเทศไทยไม่ได้ไร้ “สิทธิมนุษยชน” ดังที่ท่านประณาม แม้เรายังคงกฎหมายประหารชีวิต แต่กระบวนการยุติธรรมและการลงโทษก็ใช้หลักหลักนิติธรรม ดังเช่น นานาอารยประเทศ มิได้ใช้ระบบ “ศาลเตี้ย” อีกทั้งนักโทษประหารยังมีสิทธิขอรับการอภัยโทษ และได้รับสิทธิพึงมีพึงได้ในฐานะนักโทษประหาร
2. การลงโทษด้วยการเอาคนผิดไปติดคุก ไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นการแก้ไข จึงเรียกกรมราชทัณฑ์ว่า "Correction Department" สังคมเห็นว่า การทำผิดไม่หนักหนา เกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข จึงให้โอกาสในการกลับตัวกลับใจ แต่การประหารชีวิตนักโทษในคดีอุกฉกรรจ์ ไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งพวกท่านเข้าใจถูกต้องแล้ว ขอย้ำว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่ใช่การแก้ไข แต่สังคมโดยกฎหมายพิจารณาแล้วว่า เป็นบุคคลอันตรายเกินกว่าที่จะให้โอกาส มาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสงบสุข การปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นกว่า ท่านอย่า “ยกแม่น้ำทั้ง 5” มาสนับสนุนว่า คนชั่วแต่กำเนิดไม่มี เป็นหน้าที่ของนักชีววิทยาจะค้นคว้าหาคำตอบ แต่คนชั่วโดยสันดานมีจริง ทำผิดปลิดชีวิตผู้อื่นซ้ำซาก ปล่อยไว้ก็เป็นภัยสังคม ท่านอ้างว่าคนผิดอาจกลับตัวเป็นคนดีได้ในภายหลัง ควรให้โอกาส แม้แต่รายล่าสุด ที่ฆ่าหั่นศพแฟนสาวถึง 14 ชิ้น ท่านก็ยังบอกว่า เป็นความผิดครั้งแรก ควรให้อภัย ขอถามว่า จะต้องรอให้ฆ่าอีกกี่ศพจึงจะพอ ข้อเท็จจริงก็คือ กลับตัวได้ก็มี ก่อกรรมซ้ำก็มาก ส่วนใหญ่กลับใจได้เมื่อ “แก่จนหมดแรงทำความชั่ว” มือปืนรับจ้างที่ออกรายการเจาะใจ เปิดเผยว่า ฆ่ามาทั้งหมด 20 ศพ ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการอภัยโทษ ติดคุกจริงแค่ 19 ปีเท่านั้น ศพละไม่ถึงปีด้วยซ้ำ การประหารชีวิตในรายที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์และหลักฐานชัดเจนมากจนปราศจากข้อสงสัย เป็นสิ่งจำเป็น รัฐต้องปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของสุจริตชนก่อน ไม่ใช่เคารพสิทธิมนุษยชนของฆาตกร ที่ฆ่าคนโดยไม่สนใจอะไร ไม่รู้สึกรู้สา ฆ่าคนเหมือนผักปลา ไม่คิดว่าทำผิดเสียด้วยซ้ำไป
3. ท่านอ้างการวิจัยมากมายจากหลายประเทศว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม ถ้าการวิจัยที่ท่านอ้างถูกต้อง การลงโทษประหารก็ยังจำเป็น เพราะอย่างน้อยก็ไม่ทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้นมิใช่หรือ ท่านยังอ้างอีกว่า การยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตแล้วอาชญากรรมลดลง ท่านสรุปเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาอาชญากรรมมาจากเหตุปัจจัยมากมายและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่า การมีกฎหมายประหารชีวิต “ท้าทาย” ให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง เมื่อยกเลิก อาชญากรก็หมด “แรงจูงใจ” ในการทำผิด ช่างเป็นเหตุผลที่ “โมเม” และ “กลับหัวกลับหาง” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อาชญากรรมที่ลดลงน่าจะมาจากอาชญากรที่เป็น “โรคจิต” ชอบเสี่ยงชีวิตหรือ “ท้าทายความตาย” ไม่ใช่อาชญากรปรกติ การลงโทษประหารชีวิต 1 คน อย่างน้อยก็ลดฆาตกรหรือบุคคลเป็นภัยร้ายแรง 1 คน และลดความเสี่ยงชีวิตผู้คนมากมายในสังคม การคงกฎหมายนี้ไว้ บังคับใช้อย่างถูกต้อง คงเส้นคงวา เสมอหน้าและยุติธรรม จะช่วยให้ ผู้จะกระทำผิดเกิดความคิดยับยั้งชั่งใจ ไม่กล้าทำความผิดร้ายแรงเกินเหตุ แม้จะไม่ทุกกรณีก็ตาม ยกเว้นพวกโรคจิตนั่นแหละ ท่านยังอ้างอีกว่า ขนาดมีกฎหมายลงโทษรุนแรงถึงประหารชีวิต ก็ยังมีอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย แล้วท่านไม่คิดในมุมกลับบ้างหรือ ว่าถ้ากฎหมายไม่มีโทษรุนแรงถึงประหาร อาจมีอาชญากรรมมากกว่านี้และรุนแรงกว่านี้อีก อย่าคิดเพียงข้างเดียวของสมอง โปรดตรองทั้งสองข้าง
4. เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิต ท่านจึงบ่นเสียดายและประณามการประหารชีวิตครั้งนี้ ว่าเป็นความถดถอยครั้งสำคัญของประเทศไทย บนเส้นทางสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็ไม่รู้ว่าเราจะเดินหน้ายกเลิกโทษประหารไปหา “พระแสงดาบ” หรือ “สวรรค์วิมาน” อะไร ในเมื่อการฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดและเลือดเย็นเป็นข่าวทั้งเช้าค่ำ มีทุกวัน ฆ่ากันโดยไม่สะทกสะท้าน ไม่รู้สึกรู้สา จะเก็บไว้ทำยาอะไร เราจะมีการประหารชีวิตหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับท่าน เป็นเรื่องของเรา เราเป็น “รัฐเอกราช” มิใช่ “ทาส”หรือ “เมืองขึ้น”ของท่าน หากจะยกเลิกกฎหมายการประหารชีวิต เราต้องพัฒนาทุกอย่างจนถึงขั้นพร้อม และต้องเป็นเจตจำนงและฉันทามติของเราเอง มิใช่ให้ท่านมาชี้นิ้ว แต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกัน ท่านจะเอามาตรฐานของประเทศที่ “คุกร้าง” เพราะไร้อาชญากรรม มาใช้กับประเทศอาชญากร “เกลื่อนเมือง” จน “นักโทษล้นคุก” อย่างประเทศไทยไม่ได้ มันผิดเรื่อง ผิดที่ ผิดทางและผิดเวลา
5. เรามีกฎหมายจึงต้องบังคับใช้กฎหมาย และควรต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กฎหมายมีความศักดิสิทธิ์ และได้รับการเคารพปฏิบัติตาม การมีกฎหมายประหารชีวิตและไม่ดำเนินการบังคับใช้อย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี เป็นเหตุให้เกิดฆาตกรรมเหี้ยมเกรียมผิดมนุษย์ต่อเนื่องมาหลายคดี ภายหลังประหารชีวิตครั้งหลังสุดนี้ ก็มีการฆ่าหั่นศพเกิดขึ้นทันที แล้วนี่ สดๆ ร้อนๆ 2 สาวฆ่าปาดคอชิงทรัพย์เจ้าของร้านเสริมสวย ก่อนหน้านี้มีหลายกรณี คดีกลุ่มวัยรุ่นรุมฆ่าชายชราพิการ คดีเปรี้ยวหั่นศพ คดีสยองของนายหมูหยอง คดีบังฟัดฆ่าล้างครัวผู้ใหญ่บ้าน และคดีขี่จักรยานยนต์ฆ่านักเรียนชิงมือถือ หลังจ้วงแทงไม่ยั้งจนเหยื่อตายคาที่ แถมยังไปชิงทรัพย์รายอื่นต่อในคืนเดียวกัน บัดนี้ศาลพิพากษาประหารชีวิต 2 ฆาตกรแล้ว หนึ่งในฆาตกรออกทีวี มีสีหน้าปรกติ ไม่อนาทร ไม่ทุกข์ร้อน ไม่รู้สึกรู้สา แถมต่อว่าสื่อและสังคมอย่างไม่สบอารมณ์ ว่า “อย่าฟังความข้างเดียว” ไม่มีสำนึกแห่งความเป็นคนเลย
6. พวกท่านประณาม ว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนมากที่สุด เราขอบอกว่า มนุษย์ที่ทำร้ายหรือเข่นฆ่าผู้อื่นจะมีสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับสุจริตชนทั่วไปไม่ได้ จึงต้องย้ายนิวาสถานไปอยู่ในคุกหรือถูกประหาร ถ้าการประหารชีวิตนักโทษที่โหดผิดวิสัยไม่ได้ ด้วยเหตุแห่งการละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนแล้วไซร้ อาศัยตรรกและเหตุผลเดียวกัน เราก็ไม่อาจนำคนทำผิดไปติดคุก ไม่ว่าจะความผิดฐานใด เพราะการเอาคนไปจองจำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ปล่อยให้โจรครองเมืองไปเลย สุดจริตชนก็คงต้อง “มุดลงรู” หรือ “หดหัวอยู่ในบ้าน”
7. แม้ประเทศไทยจะยังมีการประหารชีวิต แต่ เราก็เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกประหาร ดังข้อความที่มีการมีการส่งต่อ นักโทษรู้ตัวล่วงหน้า ได้ล่ำลาสั่งเสียญาติมิตร ได้กินอิ่มมื้อสุดท้าย ได้ฟังพระสวด จากไปอย่างไม่ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานด้วยวิธีการฉีดยา มิได้ถูกสักหน้า พาตระเวนน้ำตระเวนบกก่อนแขวนคอในที่ชุมชน ไม่ได้ถูกบีบขมับ ตอกเล็บ จับกดน้ำ หรือตัดหัวขั้วแห้งแล้วเสียบประจานบนกำแพง เหมือนยุคโบราณกาลก่อน อีกทั้งมิได้ถูกจับนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า หรือว่าถูกยิงเป้าดังก่อนหน้านี้ แต่เหยื่อเคราะห์ร้ายถูกฆ่าโดยไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่รู้ล่วงหน้า ไม่ได้ล่ำลาสั่งเสีย ไม่ได้กินมื้อสุดท้ายและไม่ได้ฟังพระสวด แต่ต้องตายอย่างสุดแสนจะทนทุกข์ทรมาน ท่านควรเห็นใจหรือใส่ใจในสิทธิมนุษยชนของใครมากกว่า
8. นักโทษประหารตายโดยไม่เจ็บปวด “ตายคนเดียว” และ “ตายครั้งเดียว” แต่พ่อแม่และญาติพี่น้องของเหยื่อต่างต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสกันทั่วหน้า วงศาคณาญาติและเพื่อนพ้องก็ต้องเจ็บปวดรวดร้าวไปด้วย พ่อแม่พี่น้องของเหยื่อ “ตาย” หลายครั้ง “ตาย” ทุกวัน “ตาย” ทั้งหลับ และตื่น “ตาย” ทั้งคืนและวัน “ตาย” ทุกครั้งที่นึกถึงลูกหรือพี่น้องต้องถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็น และจะต้อง “ตาย” เช่นนี้ อีกกี่ปี่และกี่เดือน จึงจะเลือนจากความทรงจำได้ พวกท่านเคยคิดหรือไม่ พวกท่านเข้าใจหรือเปล่า พวกท่านรับรู้ถึงความรู้สึกบ้างไหม หรือใส่ใจแต่สิทธิมนุษยชนของคนฆ่าและพวกหนีมาตรา 112
9. พวกท่านพูดซ้ำซาก ยืนกระต่ายขาเดียว ว่าการประหารไม่ใช่ “คำตอบสำเร็จรูป” ของการแก้ปัญหา ท่านอ้างถึงสาเหตุร้อยแปดพันเก้าของการกระทำความผิด ต้องไปแก้ครอบครัว โรงเรียน สังคม ความยากจน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และเหตุอีกจิปาถะ ไม่ประหารแต่ไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้แทน ที่ท่านพูดมาก็ไม่ผิด แต่ “ถูกแค่เสี้ยวเดียว” ขอบอกท่านว่า มีคนไทยอีกมากมาย มากกว่าพวกฆาตกรเหล่านี้อีกร้อยเท่าพันทวี ที่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ครอบครัวแตกแยก มีปัญหาชีวิต แต่ก็ไม่คิดไปจี้ปล้นและเข่นฆ่าใคร ชีวิตเลือกได้ แต่พวกนี้เลือกที่จะข่มขืน ปล้นฆ่า ค้ายาเสพติด แล้วท่านก็สวมบท “พระโพธิสัตว์” ใช้หลัก “เมตตา” อย่างไร้ “อุเบกขา” โยนเหตุนานาไปให้สังคมและสิ่งแวดล้อมถ่ายเดียว โดยไม่เหลียวดูตัวคนทำผิด ไม่คิดปล่อยวาง ให้กฎหมายและ “กฎแห่งกรรม” ได้ทำหน้าที่ไปตามปรกติ กลับ “ปกป้อง” และ “คุ้มครอง” ฆาตกร โดยไม่แยกแยะความหนักเบาแห่งความผิด และเหตุแห่งความชั่วร้ายในกมลสันดาน ที่ยากจะแก้ไข
10. ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ต้นเหตุ ที่แน่ๆ การแก้ไขต้นเหตุก็ต้องทำไป แต่การแก้ไขนั้นช้า ใช้เวลาไม่รู้อีกกี่ปีกี่ชาติ อาจต้องรอจนถึง “ชาติหน้าตอนฟ้าสาง” จึงเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” รอให้ถึงตอนนั้นก่อนเถิด แล้วจึงเลิกโทษประหาร จะไม่มีใครค้านแม้แต่คนเดียว แต่การแก้ที่ต้นเหตุอย่างเดียวไม่เพียงพอ เรารอนานขนาดนั้นไม่ได้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงจำเป็น แม้ปลายเหตุก็ต้องทำ นั่นคือ การบังคับใช้กฎหมายประหารชีวิตอย่างเคร่งครัดและคงเส้นคงวากับใครก็ตาม ที่ทำผิดอย่างชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัย แล้วทำเฉไฉไม่รับสารภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมิใช่การจับแพะ
11. หากจะยกเลิกโทษประหารก็ทำได้ แต่ต้องมีวิธีการปกป้องคุ้มครองผู้คนในสังคมให้ปลอดจากเงื้อมมือของพวกทุรชนขั้น “เดนคน” เหล่านี้ เช่น ต้องจำคุกตลอดชีวิต ไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ เท่าที่ผ่านมา การจำคุกตลอดชีวิตติดคุกจริง 10 กว่าปีเท่านั้น ยังจำได้ไหม กรณีฆ่าแขวนคอพ่อแม่ลูกเรียงกันรวม 5 ศพที่ภาคใต้ ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต ติดจริงแค่ 13 ปีเท่านั้น ออกจากคุกมาได้ไม่นาน ก็ถูกยิงตาย น่าคิดว่า ใครฆ่าเขาและฆ่าทำไม ไม่อยากเดา แต่การจำคุกตลอดชีวิตก็มีปัญหา เวลานี้นักโทษล้นคุก เรือนจำไม่พอใส่ และใครต้องเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดู ก็ไม่พ้นบริสุทธิ์ชน ผู้ทนทำงานเสียภาษี แต่หาได้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างอุ่นใจไม่ ต้องเสี่ยงภัยทุกวี่ทุกวัน โดยไม่รู้ว่าจะถูกฆ่าหรือชิงทรัพย์เมื่อใด
12. จะดีมากหาก Amnesty นานาชาติและ Amnesty ในประเทศไทยและในทุกประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทุกภูมิภาคและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) รวมทั้ง UN และ EU ตลอดจน “คุณพ่อสิทธิมนุษยชน” ทั้งหลายในทุกแห่งหน จะร่วมกันจัดหาสถานที่ เอาพวกนี้ไปอยู่รวมกัน ที่ไหนก็ได้นอกประเทศไทย และจัดหางบประมาณมาเลี้ยงดู ไม่ใช่เรียกร้องและชี้นิ้วสั่งการประเทศไทย กรุณาอย่าตอบเหมือนที่ออกทีวี ว่าไม่ใช่หน้าที่ Amnesty มีหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ใครใช้ท่านมาตรวจสอบเรา มีใครร้องขอหรือ ยุ่งไม่เข้าเรื่อง เมื่อเทศบาลมาจับหมาจรจัดเพราะอาจกัดใครก็ได้ มีคนออกมาต่อต้านขัดขวาง ปกป้อง “สิทธิสุนัขชน” พอมีคนเสนอว่า ขอให้พวกต่อต้านมารับหมาไปเลี้ยงคนละตัว ก็หายหัวกันไปในพริบตา พวกท่านก็มิต่างคนพวกนี้ “ปากคาบคัมภีร์” ดีแต่ “ชี้นิ้วสั่งคนอื่น”
13. พวกท่านยังอ้างว่า ไม่ควรฆ่าหรือประหารนักโทษ เพราะกระบวนการยุติธรรมของไทยยังมี “ช่องโหว่” มีการจับผิดตัว เอาผู้บริสุทธิ์ไปติดคุก เอาไปประหารก็มี เราก็น้อมรับว่าเป็นความจริง ความผิดพลาดมี แต่เป็นส่วนน้อย และเป็นการตัดสินตามพยานหลักฐานที่มี มิใช่ตัดสินตามอำเภอใจ ความผิดพลาดมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย มันเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นแล้วในทุกประเทศทั่วโลก การตัดสินทุกชนิดมีข้อผิดพลาดได้ทั้งสิ้น มิใช่เฉพาะการพิพากษาคดี กีฬาอย่างมวยหรือฟุตบอลก็มีการตัดสินผิดพลาด เพราะผู้ตัดสินไม่ใช่ “พระเจ้า” แต่เป็น “มนุษย์” จึงอาจผิดพลาดได้ แม้เป็นส่วนน้อย เราก็ต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาเพื่อลดความผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด แต่ไม่ใช่การยกเลิก หากเราต้องยกเลิกกฎหมายการลงโทษประหารชีวิต ด้วยเหตุกระบวนการยุติธรรมยังไม่ดีพอและมีช่องโหว่ตามที่ท่านว่า อาศัยหลักเหตุผลเดียวกัน เราก็ต้องยกเลิกการลงโทษของกฎหมายอาญาทุกมาตรา และปล่อยผู้ต้องหาหรือนักโทษในเรือนจำไปทั้งหมด ยกประโยชน์แก่ความผิดพลาด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือ เราไม่สามารถลงโทษอาญาใครได้เลย แล้วจะอยู่กันอย่างไร
14. พวกท่านบอกว่า การประหารชีวิตคือ “การแก้แค้น” และเป็นเรื่อง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ท่านเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐไม่ได้ปล่อยให้คู่กรณีหรือญาติของเหยื่อ “ยิงกบาล” หรือ “รุมกระทืบ” ตามชอบใจเพื่อล้างแค้น และไม่ยอมให้ประชาชน “ผู้ทนไม่ไหว” กลุ้มรุมทำร้ายหรือ “ประชาทัณฑ์” ฆาตกร การประหารชีวิตตัดสินโดยรัฐและดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งมีหน้าที่รักษากฎหมายและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในฐานะ “คนกลาง” ผู้กระทำการแทนผู้เสียหาย และกฎหมายก็บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลและใช้ตามเหตุผล มิใช่ตามอารมณ์หรือตามแต่ใจผู้ใช้กฎหมาย การเอานักโทษไปประหารจึงมิใช่ “การแก้แค้น” มิใช่ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และมิใช่ “การแก้ไข” แต่คือ “การป้องกัน” หรือ “การอภิบาลคนดี” มิให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย ท่านลองไปตรึกตรองใหม่ อย่า “ปล่อยไก่” ให้ใครต่อใครและตัวท่านเองสับสน
15. ที่บ้านพวกท่านเคยมีใครถูกฆ่าข่มขืนหรือฆ่าชิงทรัพย์อย่างโหดร้ายทารุณและเหี้ยมเกรียมผิดมนุษย์หรือไม่ ถ้าเคย แล้วยังมาเคลื่อนไหวให้อภัยฆาตกร และยืนหยัดให้ยกเลิกการประหารชีวิต ขอกราบคารวะในความเป็นมนุษย์อันสูงส่งของท่านด้วยความจริงใจ แต่ถ้าไม่เคย ท่านลองตรองดูว่า ถ้าผู้ถูกฆ่าคือพ่อแม่ลูกหรือญาติพี่น้องของท่าน ท่านจะรู้สึกอย่างไร เคยคิดถึงหัวอกของครอบครัวของผู้สูญเสียหรือไม่ ทำไมท่านคิดถึงแต่สิทธิมนุษยชนของคนที่พรากชีวิตผู้อื่น จนลืมสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของผู้คนในสังคม สิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัยและไม่ถูกทำร้าย ขอให้ท่านตอบ โปรดอย่าตอบแบบ “ขอไปที” เหมือนที่ออกทีวี อย่า “บ่ายเบี่ยง” หรือ “เลี่ยงฮุ้น” เอาตัวรอดแบบ “ข้างๆ คูๆ” และอย่าตอบแบบเดิมๆ เหมือน “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่า “โดยหลักการเราก็ยังยืนยันในหลักสิทธิมนุษยชน” ตอบแบบนี้เขาเรียกว่า “หลักกู” มิใช่ “หลักการ” มันสะท้อนว่า ท่านไม่ได้ใส่ใจใยดีในความรู้สึกของผู้สูญเสียเลย น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “องค์การนิรโทษกรรมอาชญากรสากล” หรือ “สิทธิมนุษยชนของคนร้าย” มากกว่า
16. ถ้าท่านเป็นต่างชาติ โปรดไปเรียกร้องให้ยกเลิกการประหารชีวิตในประเทศของท่าน อย่ามาเรียกร้องประเทศไทย เพราะไม่ใช่ประเทศของท่าน ถ้าท่านเป็นคนไทย ท่านมีสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ต้องปิดหน้าปิดตา แสดงความกล้าและเจตนาอย่างบริสุทธิ์ใจ ท่านไม่ใช่โจรจึงควรเปิดเผยใบหน้าค่าตา การใส่หน้ากากปิดบังใบหน้าเห็นมีแต่พวกโจรออกปล้นสะดมและพวก “Klu Klux Klan” ในอเมริกา ที่พากันไปเผาบ้านและจับคนดำแขวนคอ การปิดบังใบหน้า “ไม่สมราคา” ของนักสิทธิมนุษยชน เราไม่เข้าใจเจตนาในการปิดหน้า หากว่าประสงค์จะประจานประเทศไทย ให้ได้อายในสายตานานาอารยประเทศ ขอบอกว่า ภาพที่ออกมาประจานพวกท่านเองมากกว่า
17. ไม่ว่าพวกท่านเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เนื่องจากองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) ตั้งอยู่ในประเทศไทย พวกท่านจึงมีฐานะเป็น “แขก” เราเป็น “เจ้าของบ้าน” ในฐานะเจ้าของบ้านเราต้อนรับขับสู้ ดูแลท่านอย่างดีและสมเกียรติ ไม่เคยพูดจาให้ร้ายระคายหู แต่ท่านกลับตรงกันข้าม ไม่วางตัวเป็นแขกที่ดี ช่วยคนหนีคดีอาญา พูดจากระทบเจ้าของบ้าน ก้าวก่ายกิจการบ้านเมือง ยุ่งเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย เราเข้าใจพวกท่านดี ว่ามีหน้าที่และต้องทำหน้าที่ตามอุดมการณ์และพันธกิจ และเราก็เข้าใจพวกท่านเป็นอย่างดี ที่ต้องแสดงบทบาท “แอ๊ดอ๊าด” อย่างเข้มข้นและแข็งขัน เพื่องบประมาณและการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความอยู่รอด ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพของท่าน ซึ่งเราเข้าใจ ไม่ว่ากัน ท่านทำหน้าที่ของท่านไป แต่ขอให้ท่านวางตัวเป็น “แขกที่ดี” มี “มารยาท” ในการแสดงออก และเคารพเจตจำนงในการคงอยู่ของกฎหมายการประหารชีวิต ซึ่งยืนยันด้วยผลสำรวจของโพล 6 สำนัก ทั้งหมดเห็นด้วยกับการประหารชีวิต 94-97 % ท่านก็เห็นมิใช่หรือ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเรา พวกเจ้าอย่าเร่าร้อน อาศัยบ้านคนอื่นอยู่ “อย่าลบหลู่ดูแคลน” หรือ “ตีหัวเจ้าของบ้าน” มันไม่สวย
ประการสุดท้าย การร่วมกันไว้อาลัยต่อการจากไปของผู้บริสุทธิ ที่ต้องเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรม เป็นหลักปฏิบัติทั่วโลก มีการวางดอกไม้ จุดไฟสว่างไสวและกล่าวคำอาลัย แต่พวกท่านกลับจะนัดชุมนุมไว้อาลัยการประหารชีวิต นอกจากไม่เคยแสดงความห่วงใย ยังเหยียบย่ำซ้ำเติมจิตใจของญาติผู้สูญเสีย นี่หรือคือ สิ่งที่มนุษย์จะพึงแสดงต่อกัน ท่านยังเรียกตนเป็นนักสิทธิมนุษยชนได้อีกหรือ? อยากบอกให้เอาบุญ เวลานี้มีคนไทยจำนวนมาก “เอียน” บทบาทพวกท่านเต็มทนแล้ว พวกท่านเคยสำเหนียกหรือรับรู้บ้างไหม? ยังไงก็อย่าให้ถึงขั้นทนไม่ไหว จนต้องออกปากไล่กัน หันมามองโลกตามความเป็นจริงบ้าง อย่าอ้างแต่สิทธิมนุษยชนแบบคน “โลกสวย” มันทำให้พวกท่านดูดี แต่ไม่มีวิธีแก้ปัญหา หากเห็นว่าประเทศไทยไร้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ต้องทนอยู่ เชิญย้ายองค์การและสำนักงานออกนอกเขตประเทศไทยไปเลย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแนวหน้า