เรียบร้อยฉบับราชกิจจานุเบกษา ประกาศแบน“ไขมันทรานส์” ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
ไขมันทรานส์จัดเป็นไขมันชนิดที่อันตรายสูงสุดต่อสุขภาพ เนื่องด้วยตัวไขมันทรานส์เองสามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol)
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่าย โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ํามันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ํามันที่ผ่าน กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่าย
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“ไขมันทรานส์” คือ ไขมันที่ผ่านกระบวนการเพิ่มอะตอมไฮโดรเจนเข้าไปในโมเลกุล ทำให้คุณสมบัติของไขมันเปลี่ยนแปลงไป โดยจะแข็งตัวมีทรงมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมเสีย เหม็นหืนช้าลง ดังนั้นจึงทำให้ไขมันทรานส์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข ทนความร้อนได้สูงและมีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูกกว่าบรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่าง ๆ จึงมักนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตลง เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟูดที่ใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียมและวิปปิ้งครีม ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารจึงนิยมใช้ผสมในอาหารและขนม
ผลร้ายจากไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์จัดเป็นไขมันชนิดที่อันตรายสูงสุดต่อสุขภาพ เนื่องด้วยตัวไขมันทรานส์เองสามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) ได้ หากบริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณ 4% ของพลังงานหรือมากกว่านั้น อีกทั้งหากร่างกายได้รับไขมันทรานส์ปริมาณประมาณ 5-6% ของพลังงานทั้งหมด ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกายก็จะลดลงด้วย
ฉะนั้นเมื่อคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น คอเลสเตอรอลก็จะเกาะติดผนังหลอดเลือดแดงได้สะดวกขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน ก่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง
โรคจากไขมันทรานส์
– โรคอ้วนลงพุง
– เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ตลอดจนไขมันอุดตันในเส้นเลือดและหลอดเลือด
– ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้มากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารไขมันทรานส์
– เสี่ยงต่อการเกิดอาการจอประสาทตาเสื่อม
– ทำให้นิ่วในถุงน้ำดีอักเสบ
– อาจทำให้ผู้หญิงอยู่ในภาวะมีบุตรได้ยากขึ้น
ไขมันทรานส์มีในอาหารประเภทใดบ้าง
– แฮมเบอร์เกอร์
– โดนัท
– ขนมขบเคี้ยวต่างๆ
– เฟรนซ์ฟรายส์
– คุกกี้
– เนยขาว, เนยเทียม
– ครีมเทียม
– เค้ก
– แคร็กเกอร์
– วิปครีม
– นักเก็ต
– ไก่ทอด, หมูทอด
– อาหารประเภททอดๆ ที่ต้องใช้น้ำมันหรือไขมันทั้งหลาย
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration (FDA)) ได้ระบุว่าน้ำมันซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oils (PHOs)) ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของไขมันทรานส์สังเคราะห์ไม่ปลอดภัยในการผลิตอาหาร และให้เวลา 3 ปีแก่ผู้ผลิตอาหารในการกำจัดไม่ให้ผลิตภัณฑ์ใช้ PHOs
การตัดสินใจของ FDA ครั้งนี้ได้รับการคาดหวังว่าจะช่วยลดโรคหลอดเลือดหัวใจและป้องกันชาวอเมริกันหลายพันคนจากการตายด้วยโรคหัวใจวายในแต่ละปี ข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้หลายคนสนใจไขมันทรานส์ขึ้นมาทันที
การขจัด PHOs ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พบไขมันทรานส์ในอาหารอีกต่อไป ยังมีไขมันทรานส์ในรูปที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพบได้ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันทรานส์ยังพบได้ในระดับเล็กน้อยในน้ำมันที่ใช้เป็นอาหารชนิดอื่น เนื่องจากหลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต นอกจากนี้หลังจาก 3 ปี ถ้าผู้ผลิตรายใดต้องการใช้ PHOs ในการผลิตอาหารต้องขออนุญาตจาก FDA ก่อน
อ้างอิง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/166/5.PDF
https://healthgossip.co/what-is-trans-fat/
https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/1788-trans-fat
https://health.kapook.com/view123545.html
https://www.เกร็ดความรู้.net/ไขมันทรานส์/