ทางออกของปัญหา...สัญชาติ "ทีมหมูป่า" ติดถ้ำ
ปัญหาสถานะความเป็นคนไทยของน้องๆ เยาวชนและโค้ช "ทีมหมูป่า" ในฐานะผู้ประสบภัยติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ
กระแสความสงสารบวกกับความดีใจที่ภารกิจช่วยชีวิตประสบความสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้บางคนเห็นว่าสมควรอนุมัติให้สัญชาติเป็นกรณีพิเศษแก่น้องๆ เยาวชนทีมหมูป่า 3 คน รวมทั้ง "โค้ชเอก" ที่ปัจจุบันยังไม่มีสถานะเป็นคนไทยเต็มขั้นไปเสียเลย
ขณะที่บางฝ่าย โดยเฉพาะฝั่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานทะเบียนราษฎรและความมั่นคง มองว่าน่าจะทำตามขั้นตอนปกติมากกว่า เพราะในเมืองไทยโดยเฉพาะจังหวัดชายขอบ ยังมีคนที่ควรมีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติ นับแล้วก็หลายแสนคน
ท่าทีของฝ่ายหลังสอดคล้องกับคนทำงานด้านสัญชาติ ฝั่งเอ็นจีโอ อย่าง สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ที่บอกว่า วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะพูดกันถึงเรื่องสัญชาติของน้องๆ เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่า เพราะเด็กยังไม่ออกจากโรงพยาบาล และพ่อแม่ก็อาจจะยังไม่อยากคุยในช่วงนี้ ฉะนั้นจึงยังบอกไม่ได้ว่าปัญหาของน้องๆ คืออะไร ยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทยไปแล้วหรือไม่ ถ้ายื่นเรื่องไปแล้ว ที่ผ่านมายังไม่ได้เพราะสาเหตุอะไร เนื่องจากมีหลายเหตุผล และต้องฟังข้อมูลจากตัวเด็กกับพ่อแม่ก่อนเท่านั้น
"ตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นไปได้ทั้งหมด น้องบางคนอาจจะมีคุณสมบัติครบเป็นคนไทยก็ได้ แต่ติดปัญหาบางอย่าง หรือยื่นเรื่องแล้วยังไม่ได้ เพราะขั้นตอนค่อนข้างล่าช้า แต่บางคนก็อาจจะไม่มีคุณสมบัติเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน จึงต้องคุยรายละเอียดกันอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม" สุรพงษ์ แสดงทัศนะต่อกระแสสังคม
ในฐานะที่ทำงานด้านสัญชาติในพื้นที่ชายขอบมานาน สุรพงษ์ บอกว่า ปัญหาในภาพรวมของประเทศไทยก็คือ มีคนในพื้นที่ชายขอบจำนวนมากที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งๆ ที่ควรมีสัญชาติไทย ซึ่งสาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะยังไม่ไปยื่นเรื่อง หรือยื่นแล้วแต่การดำเนินการล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่มีน้อย
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ มีอยู่ 2 หลักด้วยกัน คือ
1.หลักสายเลือด หมายถึงถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย เด็กที่เกิดมา ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ก็ได้สัญชาติไทย หลักนี้ไม่มีข้อยกเว้น
2.หลักดินแดน หมายถึงคนที่เกิดในประเทศไทย ก็จะได้สัญชาติไทย แต่หลักนี้มีข้อยกเว้น เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย คนกลุ่มนี้แม้ลูกจะเกิดเมืองไทย ก็ไม่ได้สัญชาติไทย หรือกรณีพ่อกับแม่เป็นแรงงานต่างด้าว เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือเข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่อยู่เกินเวลาที่กำหนด ที่เรียกว่า "โอเวอร์ สเตย์" และพวกที่ได้สิทธิ์พำนักอยู่ในไทยชั่วคราว อาทิ วีซ่าทำงาน ท่องเที่ยว หรือการศึกษา ถ้ามีลูกในช่วงที่อยู่ไทย ลูกก็จะไม่ได้สัญชาติไทยเช่นกัน
สุรพงษ์ อธิบายต่อว่า คนจำนวนมากไม่ได้สัญชาติไทยเพราะเงื่อนไขเหล่านี้ แต่โอกาสก็ไม่ใช่ว่าจะปิดตายไปตลอด เพราะสามารถยกเว้นได้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี ตามการเสนอของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาล คสช.) ก็มีการยกเว้นเช่นกัน เป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.59 และกระทรวงมหาดไทยมาออกประกาศรองรับอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 มี.ค.60 เปิดช่องทางให้เด็กบางกลุ่มที่เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน ได้แก่
- ผู้อพยพ หรือชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเอาไว้ ซึ่งมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 48 ถือว่าคนเหล่านี้อยู่เมืองไทยมานาน ถ้ามีลูก และมีหลักฐานว่าลูกเกิดในประเทศไทย ก็ให้ลูกได้สัญชาติไทย
- กรณีพ่อกับแม่เป็นคนต่างด้าวที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หากลูกเกิดในประเทศไทยและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสถาบันการศึกษาของไทย ก็ให้ลูกได้สัญชาติไทย นอกจากนั้นยังรวมถึงคนไร้รากเหง้า ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ หากสำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของไทย ก็ให้ได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกัน
"น้องๆ ทีมหมูป่าบางคนอาจมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์นี้อยู่แล้วก็ได้ ซึ่งต้องรอดูข้อมูลจากน้องๆ และพ่อแม่ของน้องๆ ก่อน" สุรพงษ์ กล่าว
เขาบอกอีกว่า ที่ผ่านมาเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้เรียนหนังสือในโรงเรียน เพราะเป็นการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยยกระดับสิทธิ์เหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งสิทธิ์ในการเข้ารับการศึกษาฟรี สิทธิในการรักษาพยาบาล จนบางคนอาจจะคิดว่าไม่ต้องมีสัญชาติก็ได้ เพราะไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ว การไม่มีสัญชาติ โดยเฉพาะไม่มีสัญชาติอะไรเลย จะเสีย "สิทธิพลเมือง" ไปเลือกตั้งไม่ได้ สมัคร ส.ส.ไม่ได้ เป็นข้าราชการไม่ได้ เป็นทหารก็ไม่ได้ เพราะอาชีพเหล่านี้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เช่น การทำพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทางเพื่อไปดูฟุตบอลโลก ถ้าไม่มีสัญชาติก็ทำไม่ได้ หรือการพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แล้วต้องไปแข่งขันในต่างประเทศ การเดินทางต้องทำพาสปอร์ต หากไม่มีสัญชาติก็จะมีปัญหา แม้รัฐบาลจะออกหนังสือเดินาทงให้ได้เป็นกรณีพิเศษ อย่างกรณี น้องหม่อง ทองดี ที่ไปแข่งพับเครื่องบินกระดาษ แต่ก็เป็นกรณีพิเศษเฉพาะบุคคลเท่านั้น และต้องทำเรื่องเป็นครั้งๆ ไป ไม่เหมือนกับมีสัญชาติไทยโดยตรง และปัจจุบัน น้องหม่อง ทองดี ก็ยังไม่ได้สัญชาติไทย
"ผมคิดว่าบทเรียนจากถ้ำหลวง นอกจากต้องพิจารณาเรื่องการวางระบบป้องกันภัยพิบัติให้ดีขึ้นแล้ว ยังต้องหันมาดูเรื่องสัญชาติอย่างจริงจังด้วย ควรวางระบบการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้น เพราะมีเด็กที่ควรมีสัญชาติไทย แต่ไม่ได้สัญชาติอีกเป็นจำนวนมาก สาเหตุในบางพื้นที่ไม่มีอะไรมาก แค่เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย ทำงานไม่ทัน แต่นั่นก็ทำให้เด็กเสียสิทธิขั้นพื้นฐานไปไม่น้อยทีเดียว" สุรพงษ์ กล่าวในที่สุด
---------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ สุรพงษ์ กองจันทึก จากเฟสบุ๊ค surapong kongchantuk
อ่านประกอบ : สัญชาตินั้นสำคัญไฉน...บทเรียนจากชายแดนใต้ถึงทีมหมูป่าติดถ้ำ