แก้ปัญหาวิสามัญฆาตกรรมไม่เป็นธรรม ‘อังคณา’ แนะปฏิรูป ตร.-ทหาร สร้างหลักนิติรัฐเกิดขึ้นจริง
วิสามัญฆาตกรรม-ปริศนาความยุติธรรมอาญา ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ยกกรณีวิสามัญ 6 ศพ ‘โจ ด่านช้าง’ ถูกวิจารณ์หนัก แนะปฏิรูปตำรวจ-ทหาร สร้างหลักนิติรัฐเกิดขึ้นจริง พร้อมคุ้มครองพยานต้องมีประสิทธิภาพ เชื่อญาติมีส่วนสำคัญทำให้เปลี่ยนแปลงเกิด กม. มั่นใจการต่อสู้ทุกคนจะไม่สูญเปล่า
วันที่ 14 ก.ค. 2561 เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส จัดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการศิลปะ เรื่อง วิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด:คดีนายชัยภูมิ ป่าแส และนายอาเบ แซ่หมู่ ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุถึงภาพรวมสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทยว่า หากพูดถึง “การวิสามัญฆาตกรรม” หรือ “การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม” ตามหลักการแล้วเจ้าหน้าที่สามารถใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้ ภายใต้เงื่อนไขของเหตุผลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เช่น เจ้าหน้าที่ปกป้องตนเองหรือบุคคลอื่นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น การใช้อาวุธในการตอบโต้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงหรือการใช้อาวุธของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของบุคคล ในทางกฎหมายจำเป็นต้องมีการไต่สวนการตาย
“ศาลจะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย และตายอย่างไร ซึ่งเป็นการไต่สวนเบื้องต้นให้ทราบข้อเท็จจริงสามประการ เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีและพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กระทำการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”
กรรมการสิทธิฯ ระบุถึงตัวอย่างเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมที่สำคัญในประเทศไทยที่ผ่านมา เมื่อปี 2539 กรณีวิสามัญ 6 ศพ “โจ ด่านช้าง” จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หลังจากมอบตัวแล้ว ปรากฏว่าทั้งหมดถูกนำกลับไปที่บ้านหลังหนึ่งเพื่อทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ต่อมามีเสียงดังขึ้น และพบว่าทุกคนทั้งหมดเสียชีวิต ภายหลังการวิสามัญฆาตกรรมครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนนำมาสู่การปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตาย ปี 2542
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปทหาร สร้างหลักนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงภายใต้สังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย และประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออิทธิพลหรือการคุกคามใด ๆ ผู้เสียหายและญาติต้องสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้ตามสมควร นอกจากนี้ต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งกองทุนยุติธรรมได้รับรองและให้สิทธิในการประกันตัว ว่าจ้างทนายความที่ผู้เสียหายและญาติไว้วางใจ และต้องมีการคุ้มครองพยานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พยานที่เป็นประจักษ์พยาน รวมถึงญาติและครอบครัวทุกคน
“ญาติมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีกฎหมายเพื่อคุ้มครอง และเชื่อว่าการต่อสู้ของทุกคนจะไม่สูญเปล่า อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ยังเชื่อว่า จะมีความหวังในการผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศเป็นที่พึ่งของทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมใด ๆ และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” นางอังคณา กล่าวในที่สุด .