ชี้จุดดี-จุดด้อยเกษตรไทยภายใต้เออีซี ประชานิยมทำติดลบ
“นิพนธ์”เผยรัฐจำนำข้าวเอื้อเวียดนาม-พม่าทิ้งห่างจ่อเบอร์หนึ่งส่งออกโลก คลังสมองชาติชี้ประชานิยมทำเกษตรกรรายย่อยอ่อนแอ เสนอรวมกลุ่มต่อรอง เลขาธิการสศก.แนะทำครัวไทยสะอาดรักษาสิ่งแวดล้อม
วันที่ 18 พ.ค. 55 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดอภิปรายทางวิชาการระดับชาติด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหารและธุรกิจการเกษตรในหัวข้ออนาคตเกษตรไทยภายใต้เออีซี โดยรศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความสามารถการแข่งขันด้านต่างๆของไทยมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง ประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านเพราะประเทศเพื่อนบ้านใช้นโยบายทำร้ายตนเองเป็นเวลานานจากรูปแบบการปกครองสังคมนิยม อินเดียห้ามส่งออกข้าวจนถึงกันยายนปีนี้ทำให้ไทยยึดครองตลาดข้าวนึ่ง ระบบโลจิสติกส์ไทยดีกว่า ส่งมอบสินค้าทันเวลาน่าเชื่อถือ คุณภาพข้าวไทยดีกว่าคู่แข่ง โรงสีปรับปรุงคุณภาพสีข้าวตลอดเวลา แต่ทั้งหมดนี้ในอนาคตก็มีแนวโน้มลดลง เพราะนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่ไปสนับสุนนการส่งออกและชาวนาประเทศคู่แข่ง จากความหวังที่จะขายข้าวราคาแพง เพราะเชื่อว่าเมื่อเวียดนามขายข้าวหมดแล้วจะเป็นโอกาสของไทยแต่ก็ไม่เป็นตามนั้น เชื่อได้ว่าไม่นานพม่ากับเวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกแทนไทย
ส่วนน้ำมันปาล์มไทยยังไม่พร้อมในการแข่งขัน เพราะภูมิอากาศไม่เหมาะสมเท่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีนโยบายคุ้มครองแต่สวนทางกับนโยบายคุมราคาค้าปลีกทำให้ปาล์มในประเทศขาดแคลน มาเลเซีย อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งขนาดใหญ่มีความพร้อมด้านพื้นที่ ค่าแรงถูกและมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามไทยยังคงได้เปรียบในด้านมันสำปะหลังยางพาราและน้ำตาล รวมทั้งข้าวด้วยแต่รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับทั้งการกำหนดมาตรฐานการผลิต มีใบรับรองปริมาณสารพิษตกค้าง กำหนดสุขอนามัยที่เข้มงวด
“เกษตรกรไทยคุ้นกับการเปลี่ยนแปลงตลาดโลก มีการใช้ทรัพยากรสอดคล้องกับความเป็นไปของราคาสินค้า มีพลวัตในตัวเอง ถ้ามีการเปิดเสรีไม่ใช่เรื่องแปลกของเกษตรกรไทยแต่รัฐต้องมีนโยบายการวิจัยด้านต่างๆเพื่อปรับปรุงสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน จัดการโลจิสติกส์ที่ดี ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในต่างประเทศ หันมาขายเทคโนโลยีด้านการเกษตรมากขึ้น” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า ภาคเกษตรยังเป็นเสาหลักเศรษฐกิจของประเทศ จุดเด่นอยู่ที่การผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สินค้าเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ประโยชน์ที่ได้จากเออีซีคือโอกาสขายสินค้ามากขึ้น มีโอกาสนำวัตถุดิบราคาถูกเข้ามา ลดต้นทุนการผลิต มีโอกาสขยายการลงทุนสินค้าตัวไหนเสียเปรียบก็ให้ยกเลิก เช่น กาแฟที่เราสู้เวียดนามไม่ได้ก็ต้องเลิกส่งออก แต่ภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหารจะเป็นเงื่อนไขผลกระทบที่สำคัญ ทั้งนี้ไทยต้องกำหนดมาตรฐานการผลิต กำหนดมาตรการสุขอนามัย ตรวจเข้มใบรับรอง กำหนดด่านการค้า กำหนดช่วงเวลานำเข้า การปราบปรามการนำเข้าผิดกฎหมาย ใช้มาตรการค่าธรรมเนียมปกป้องสินค้า
“ประเทศเพื่อนบ้านกลัวที่สุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเข้าไปคุกคามทำลายสิ่งแวดล้อมจึงมีมาตรการที่เข้มงวด ภาวะโลกร้อน การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ กำลังกลายเป็นมาตรการกีดกันสินค้าที่ประเทศเพื่อนบ้านนำมาออกมาใช้ ไทยต้องทำงานเชิงรุกสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต กำหนดมาตรฐานสินค้า เข้มงวดตรวจสอบเร่งรัดระบบเฝ้าระวังเตือนภัยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ลงทุนควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมแรงงานฝีมือให้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในอาเซียน” เลขาธิการสศก. กล่าว
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองชาติ กล่าวว่า โลกการแข่งขันเสรีต้องคำนึงมาตรฐานคุณภาพไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ การแข่งขันจะรุนแรงในเชิงคุณภาพ น่าเสียดายที่รัฐบาลมุ่งทำประชานิยมมากจนละเลยสิ่งเหล่านี้ ทำให้ภาคการเกษตรอ่อนแอ อำนาจต่อรองเกษตรกรรายย่อยต่ำ กลไกทางการตลาดรายย่อยถูกเอาเปรียบ ยังไม่เห็นกลไกตลาดที่ทำให้เกษตรรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เห็นแต่รัฐมัวไปกุมกลไกราคาข้าวแกง เมื่อจำเป็นต้องเข้าร่วมเออีซี การปรับกลไกมีความสำคัญต้องเร่งทำ ภายในประเทศยังมีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรสูง ต้องให้ความสำคัญกับการการส่งเสริมด้านตลาด ไม่เช่นนั้นประชาชน จะได้รับผลกระทบราคาสินค้าแพง ความมั่นคงทางอาหารก็จะได้รับผลกระทบ
“ปัญหาคือภาคเกษตรกรรายย่อยจะปรับตัวไม่ทัน รัฐต้องเข้ามาสร้างกลไกลให้เกิดการปรับตัว สนับสนุนให้มีรวมกลุ่มเพื่อให้อยู่รอด ส่วนเฉพาะหน้าเกษตรกรรายย่อยก็ควรนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงช่วยในการปรับตัว เพราะจะทำให้มีหลังอิงฝา แม้มีรายได้น้อยแต่ไม่จนเรื่องอาหาร” รศ.สมพร กล่าว
นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศบริษัทน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ไทยมีจุดแข็งเรื่องอาหาร ส่วนด้านการเกษตรก่อนจะไปแข่งขันต้องมองในมิติผลผลิตต่อพื้นที่ การจัดการระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ ต้องติดอาวุธความคิดให้เกษตรกรรายย่อย ให้รู้จักต้นทุนตนเองจะเป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยการพัฒนาและปรับตัวเร็วขึ้น อีกทั้งต้องสร้างแบรนด์สากลให้กับสินค้าเกษตรของไทย เช่นเดียวกันสร้างมาตรฐานชีวอนามัย เพิ่มศักยภาพความรู้ขีดความสามารถในการผลิตจึงจะสู้ได้ในเออีซี
“โอกาสด้านเกษตรอาหารที่อยู่ได้เพราะทุกคนต้องกินอาหาร ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เกษตรกรไทยควรใช้โอกาสนี้พัฒนาอาหารฮาลาลก็จะกลายเป็นจุดแข็งอีกด้านซึ่งโครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชนยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพจัดหาตลาดรับซื้อในราคายุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำยกระดับชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรดีขึ้น ส่วนมาตรการไหนออกมากีดกันสินค้าไทยรัฐต้องเข้าไปดูแล” ผู้อำนวยการด้านการร่วมทุนฯน้ำตาลมิตรผล กล่าว
ที่มาภาพ:http://english-for-thais-2.blogspot.com/2012/02/2129-asean-aec.html