เซ็ตซีโร่ กสม. -ป.ป.ช.รอด ‘บรรเจิด’ ชี้อนาคตวินิจฉัยเอื้อการเมือง เสี่ยงถูกมองสองมาตรฐาน
ถกปมเซ็ตซีโร่ ปธ.กรรมการสิทธิ์ฯ เผยจะอยู่ต่อหรือหยุดหน้าที่ ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ไม่ใช่กม.ลูก ด้าน ศ.บรรเจิด ซัด รธน. ปี 60 มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น มีรอยด่าง ต้องรับการซักฟอก ระบุ ป.ป.ช. ไม่ถูกลบล้าง อนาคตวินิจฉัยเอื้อการเมือง อาจถูกมองสองมาตรฐาน
วันที่ 13 ก.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี วันสถาปนาองค์กร 13 ก.ค. พร้อมจัดเสวนา เรื่อง โรดแมป:สิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ณ ห้องประชุม ชั้น 6 สำนักงาน กสม.
โดยในเวทีเสวนาได้พูดถึงกรณีเซตซีโร่ กสม. หลังจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งสำเนาคำสั่งที่ 44/2561 มาถึงประธาน กสม.ไม่รับคำร้องเซตซีโร่ เนื่องจากการเซตซีโร่ กสม. มิได้เกิดจากการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คุ้มครองไว้อันเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 แต่เป็นผลของ พรป.ว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้จะต้องให้ศาลอื่นเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า มีองค์กรอิสระ 2 แห่ง ถูกเซ็ตซีโร่ คือ กสม. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งท้ายที่สุด หากองค์กรอื่นที่ไม่ถูกเซ็ตซีโร่ ออกความเห็นหรือมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ แม้จะทำโดยสุจริตใจ แต่ย่อมเกิดข้อสงสัยตามมาโดยทันทีว่า นี่ถือเป็นการตอบแทนคุณของผู้มีอำนาจที่ไม่เซ็ตซีโร่องค์กรนั้นหรือไม่ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ด้วยเหตุนี้การออกกฎหมายลูกหรือกฎหมายระกอบรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน
“กสม.ชุดที่สาม เกิดขึ้นมาภายใต้กฎหมายเก่า ถูกอ้างว่าไม่สอดคล้องกับหลักสากล ฉะนั้นจึงต้องเซ็ตซีโร่ เพื่อให้ได้สถานะเอกลับคืนมา ซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จะได้สถานะเอกลับคืนมา ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไของค์กรระหว่างประเทศกำหนดไว้ ซึ่งไม่มีข้อนี้อยู่แล้ว ดังนั้น องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะอยู่ต่อไปหรือให้หยุดการทำหน้าที่ ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ไม่ใช่เขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก” ประธาน กสม. ระบุ
ด้าน ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เริ่มต้นก็มีปัญหาแล้ว เพราะอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะมาจากส่วนใด ต้องยึดหลักความมั่นคง หลักความเสมอภาค และหลักนิติธรรม โดยมาตรา 26 บัญญัติว่า การตรากฎหมายจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงตั้งคำถามว่า เซ็ตซีโร่ 2 องค์กร ไม่เซ็ตซีโร่ 3 องค์กร เอาอะไรมาอธิบาย ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคตที่จะกระทบประชาธิปไตย
ยกตัวอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ถูกเซ็ตซีโร่และได้รับการเอื้อประโยชน์ หากวันหนึ่งวินิจฉัยเรื่องที่เอื้อต่อฝ่ายการเมือง อาจถูกโต้แย้งว่า เพราะสองมาตรฐาน แต่ในขณะเดียวกันบางองค์กรถูกเซ็ตซีโร่ โดยไม่ทราบเหตุผล เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จะถูกนำมาขยายผลในภายหลัง
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเริ่มต้นก็มีปัญหาแล้ว เรียกว่า เป็นรอยด่าง ซึ่งรอยด่างนี้ควรได้รับการซักฟอกซักล้าง โดยกลไกกระบวนการ ถ้าไม่ได้รับการขจัดปัดเป่าจะเป็นรอยด่างไปตราบชั่วนิรันดร์ เพราะจะตายตกไปกับ รธน. เพราะไม่ได้รับการซักล้าง” ศ.บรรเจิด กล่าว และว่า กสม. เมื่อเข้ามาแล้วโดยสุจริตจะต้องอยู่ในวาระได้ตามกฎหมายที่กำหนด หากจะลบล้างสามารถทำได้ แต่ต้องอธิบายว่ามีประโยชน์สาธารณะที่เหนือกว่าอย่างไร หากอธิบายไม่ได้นั่นแสดงว่ากำลังใช้อำเภอจิตอำเภอกายในการปฏิบัติต่อองค์กรที่มีสถานะเดียวกันให้แตกต่างกัน
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมถึงกรณีเซตซีโร่องค์กรอิสระ เคยบอกกล่าวไว้ตอนร่างรัฐธรรมนูญแล้ว การเขียนว่า องค์กรอิสระทั้งหลายจะอยู่ต่อไปนานเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกและศาลรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับว่ากำลังนำองค์กรอิสระทั้งหลายและศาลรัฐธรรมนูญมาอยู่ในกำมือของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด องค์กรอิสระใดทำดี เชื่อฟัง จะต่ออายุให้ องค์กรอิสระใดทำไม่ถูกใจ จะเซ็ตซีโร่ ซึ่งผลปรากฎว่า กสม. และ กกต. ถูกเซ็ตซีโร่ ในขณะที่องค์กรอิสระอื่นกลับได้รับการต่ออายุ .