อย.ชงรัฐดูความมั่นคงทางอาหาร ก่อนปั้นครัวไทยสู่ครัวโลก
นักวิชาการชี้ธุรกิจครบวงจร-ระบบพันธะสัญญาบี้เกษตรกรรายย่อย-โลจิสติกส์เอื้อนายทุน เสนอรัฐเป็นพ่อค้าคนกลางนำเข้าปัจจัยการผลิตแก้ผูกขาด อย.เสนอรัฐดูความมั่นคงอาหาร คุ้มครองผู้ผลิต-ผู้บริโภค
เร็วๆนี้ มีการประชุม “อิสรภาพทางพันธุกรรม อธิปไตย และความมั่นคงทางอาหาร” จัดโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งและเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่าการผูกขาดในระบบเกษตรกรรมและอาหารเกิดจากโครงสร้างธุรกิจการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบครบวงจร ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่มีทุนมีเทคโนโลยี และผูกขาดปัจจัยการผลิต ทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้ยากปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยเจอปัญหาเหลื่อมล้ำกว่าร้อยละ 39.26
“รัฐบาลต้องควบคุมราคาปัจจัยการผลิตให้เป็นราคากลาง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการครบวงจรค้ากำไรเกินควร รัฐบาลควรทำหน้าที่พ่อค้าคนกลางนำเข้าพันธุ์ไก่ ปุ๋ย จำหน่ายแก่เกษตรกรโดยตรงในราคาเป็นธรรม รวมถึงผลักดันให้มีผู้แทนเกษตรเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการร่างนโยบายต่างๆ”ดร.เดือนเด่นกล่าว
อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่ายากที่จะหาความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายในการทำสัญญา จึงต้องติดบ่วงพันธะของนายทุนจนกลายเป็นแรงงานในที่ดินของตนเอง สูญเสียอำนาจต่อรองและเสียเปรียบทุกด้าน โดยส่วนใหญ่มักทำสัญญาด้วยวาจาหรือไม่ได้เก็บสัญญาคู่ฉบับและสัญญาพ่วงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่นชาวไร่ทำเอกสารสัญญากู้ยืมเงินในระบบดังกล่าว แต่พอถึงเวลาชำระต้องส่งคืนเป็นผลผลิตข้าวโพดตามที่ตกลงด้วยวาจากับนายทุน หากมีปัญหาฟ้องร้องกันชาวบ้านก็จะเรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะมีสัญญากู้ยืมเงินค้ำคออยู่
ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่ารัฐมุ่งพัฒนาเครือข่ายขนส่งภาคเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การสร้างรางรถไฟรางคู่การสร้างท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่สนองตอบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ได้เอื้อประโยนชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย หากรัฐต้องการช่วยเกษตรกรรายย่อยต้องทำนโยบายโลจิสติกส์ที่เอื้อเช่นสร้างถนนปลอดฝุ่นห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิเพื่อถนอมหรือยืดอายุผลผลิตออกแบบการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์
“ทั้งนี้ระบบโลจิกสติกส์ที่ดีจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากเช่น หากเปรียบเทียบจากอัตราผลผลิต 100 บาทข้าวขาวลดได้ร้อยละ 21 มันสัมปะหลังลดได้ร้อยละ 25 และผักผลไม้ทั้งทุเรียนมังคุดลิ้นจี่ลำไยรวมกัน 5 อันดับผลไม้ส่งออกลดต้นทุนได้ร้อยละ20” ดร.พงษ์ชัย กล่า
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริผอ.สำนักอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้พ.ร.บ. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 ต้องผลักดันให้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยน่าจะมี 4 กรอบหลัก ได้แก่ 1.วางแผนการใช้ดินและน้ำ 2.แผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.แผนระบบเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด 4.แผนการบริโภคอาหารในชุมชน
“นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลต้องศึกษายุทธศาสตร์นี้ก่อน โดยพัฒนาระบบส่งเสริมและบริการเกษตรในชุมชน ต้องบูรณาการทั้งเรื่องแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขนส่งให้กระจายไปหลายๆตลาด และพยามตัดพ่อค้าคนกลางโดยให้เกษตรกรพบผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ต้องมีระบบเทคโนโลยีฐานข้องมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร ทั้งดิน น้ำ ปัจจัยผลิต ราคาสินค้า จำนวนเกษตรกร”ดร.ทิพย์วรรณกล่าว.
.