ถอดบทเรียนถ้ำหลวง 'ก่อเขต' ชี้สังคมไทยกำกับสื่อยึดจริยธรรมอยู่หมัด
ถอดบทเรียนทำข่าวถ้ำหลวง 'ผอ.สำนักข่าว ไทยพีบีเอส' ชี้สังคมไทยกำกับสื่อยึดจริยธรรมอยู่หมัด เผยอยากให้เป็นเเบบนี้ทุกข่าว หนุนยืนหยัดเสพข่าวคุณภาพ ไม่ดราม่า กระทบญาติ ด้าน 'สุภิญญา' ระบุปรากฏการณ์ทำให้เกิดโมเดลแรก 'จัดโซนนิ่งนักข่าว' เสนอหน่วยงานอื่นนำไปใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติ
วันที่ 11 ก.ค. 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดเสวนาวิชาการ ถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผอ.สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงไม่ใช่เหตุการณ์ภัยพิบัติเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งยอมรับมีความยากในการทำงานทุกด้าน อีกทั้งยังเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปในสถานะที่ทุกคนเป็นสื่อได้ เพราะทุกคนมีเครื่องมือที่จะพูดและขยายความเห็นสิ่งที่คิดและเชื่อสู่คนจำนวนมาก นั่นหมายความว่า ทุกคนเป็นสื่อ ไม่มีใครที่รับข้อมูลแล้วไม่ได้นำเสนอออกไป
เมื่อสื่อต้องทำงานท่ามกลางความคาดหวัง เรามักท่องกันว่า ผู้คนคาดหวังจะรับข้อมูลดีที่สุด เร็วที่สุด ลึกที่สุด ครอบคลุมที่สุด แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะทุกคนคาดหวังจะเห็นความสำเร็จ คาดหวังที่จะได้รับข่าวดี 13 คน ที่อยู่ในถ้ำหลวงกลับคืนสู่ครอบครัวโดยสวัสดิภาพ เช่นนี้แล้วอะไรที่เข้าไปรบกวนความคาดหวังนั้นจะถูกปฏิกิริยาต่อต้านอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การทำงานหน้างานที่ต้องตระหนัก คือ 1.ขัดขวาง กีดขวาง เป็นอุปสรรค ต่อการทำงานในการค้นหาหรือไม่ และ 2.ผลกระทบหลังจากรายงานจะเกิดผลกระทบผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
“ผมเห็นผู้สื่อข่าวในพื้นที่เกือบ 100% ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกวัน ที่ไม่ 100% เพราะมีความเห็นแตกต่างกันกับข้อห้ามที่ว่า เช่น การบันทึกภาพที่ไม่ขัดขวางแล้วน่าจะทำได้ และข้อห้ามไม่ให้บันทึกภาพนั้นไม่ถูกอธิบายเป็นไปเพื่ออะไร ทั้งนี้ เป็นทั้งสองด้าน เจ้าหน้าที่ไม่อธิบายอาจด้วยข้อจำกัดใดก็ตามหรือนักข่าวไม่ได้ใส่ใจหรือคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา เช่น การทำข่าวหลายครั้ง นักข่าวต้องพยายามหาแหล่งข่าวบอกเล่าเหตุการณ์ดีที่สุด แต่อาจลืมไปว่าการทำแบบนั้นเกิดผลกระทบกับผู้ทำงานที่รู้สึกว่าถูกจับจ้องตลอด”
ผอ.สำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าวต่อว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ระบายว่า บางครั้งเพียงการตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวทำให้รู้สึกว่าหมดกำลังใจ คำถามรุกไล่ มุ่งเอาคำตอบ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่เคยปฏิบัติปกติ นักข่าวต้องถาม ใช่หรือไม่ใช่ เป็นเช่นนี้หรือไม่ แต่ในช่วงสภาวะที่มีความละเอียดอ่อนและกดดัน จึงเป็นบทเรียนที่เราต้องหันมาตระหนักมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เคยมีกรณีเหล่านี้ ผู้สื่อข่าวต้องทำงานกับเจ้าหน้าที่ เรื่องใหญ่ ๆ ที่ผ่านมา มีความสับสนอลหม่านวุ่นวายกัน แต่การได้พูดคุยกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับสื่อ อะไรได้ อะไรไม่ได้ ที่ไม่ได้เพราะ ดังนั้น หากมีตรงนี้เกิดขึ้นจะทำให้การทำงานในอนาคตลดความสับสนวุ่นวาย ไม่พอใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
ส่วนประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์สื่อแบบเหมารวม นายก่อเขต ระบุได้รับการสะท้อนจากสื่อมวลชนรุ่นน้องในพื้นที่ไม่สบายใจอย่างยิ่งกับสื่อที่พยายามจะทำถูกต้องตามจริยธรรม ไม่เป็นอุปสรรคในการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย กลับถูกเหมารวมมองว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นสังคมที่จับจ้องการทำงานหรือวิพากษ์วิจารณ์สื่อนั้นน่าจะช่วยกันหาทางออกตรงนี้ด้วย
ทั้งนี้ รู้สึกทึ่งที่รอบนี้สังคมไทยกำกับดูแลสื่อให้อยู่ในจริยธรรมอย่างอยู่หมัด สะท้อนได้ชัดเจนว่าภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐจากการเลือกตั้งหรือรัฐเผด็จการ ศักยภาพในการกำกับควบคุมสื่อสู้สังคมไม่ได้ อยากให้เป็นแบบนี้ทุกข่าว ถ้าคนไทยสามารถประกาศหรือแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่า ผู้รับสารของไทยต้องการสื่อแบบนี้ เลือกชม เลือกรับรู้สื่อดี ไม่ต้องการเร็ว ดราม่า กระทบญาติ หรือคนที่ทำงาน ถ้าเป็นแบบนี้กับทุกข่าว เชื่อว่าจะมีสื่อที่ดีเกิดขึ้นหลังจากนี้
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง สื่อโทรทัศน์ถูกพุ่งเป้าโจมตีมากที่สุด เพราะมีทั้งภาพและเสียง โดยถูกตั้งคำถามใน 3 เรื่อง คือ 1.มีการกระทำล้ำเส้นกฎกติกาหรือกรอบกฎหมายในพื้นที่ภัยพิบัติ 2.ละเมิดจริยธรรมจรรยาบรรณ และ 3.ฝีมือความเป็นมืออาชีพในการให้ประโยชน์แก่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดดีที่เราจะได้ทบทวนบทเรียนและนำไปสู่ข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไข ไม่เฉพาะผู้สื่อข่าว แต่รวมถึงระดับเจ้าของสื่อ องค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง
ส่วนโมเดลประสบความสำเร็จ ซึ่งวันนี้สื่ออาจต้องสะท้อน ประธานคณะทำงานฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุคือ โมเดลจัดโซนนิ่ง ระหว่างผู้สื่อข่าวกับพื้นที่เกิดเหตุ เพราะที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดจริยธรรมมักเกิดขึ้นในพื้นที่อุบัติเหตุ อาชญากรรม โรงพยาบาล ภัยพิบัติ และมักได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีการนำเสนอภาพอุจาด ดังเช่น ภาพผู้เสียชีวิต ภาพผู้ป่วย
“ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจึงเป็นโมเดลแรกของประเทศไทยที่มีการจัดโซนนิ่งสำหรับสื่อ แม้สื่อจะบ่นว่าทำงานลำบาก แต่กลับเป็นโมเดลทำให้เห็นว่า ไม่มีภาพละเมิดสิทธิผู้ป่วยจากโรงพยาบาล หรือภาพที่กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัว” น.ส.สุภิญญา กล่าว และส่วนตัวมองการจัดโซนนิ่งเป็นโมเดลใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นเสนอให้หน่วยงานอื่น ๆ ควรนำไปพิจารณาเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุ ทำอย่างไรไม่ให้มีการนำเสนอภาพละเมิดสิทธิมนุษยชน
ต่อมาคือโมเดลให้ข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีการใช้สมาร์ทโฟน ทำให้การรับข่าวสารผ่านทวิตเตอร์ร่วมสมัยมากขึ้น โดยเห็นว่าแอคเคาท์ M Thai ได้รับความนิยม มีการเน้นอัพเดทข้อมูลเป็นข้อความอย่างเดียว ไม่ต้องเสียเวลาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก และมีข้อมูลค่อนข้างตรงกับข้อเท็จจริง จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการรับข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นสื่อจึงต้องปรับตัว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
“บางครั้งไม่จำเป็นต้องไลฟ์ตลอดเวลา ขอเพียงข้อมูลที่เป็นข้อความสั้นเหมือนเอสเอ็มเอสในอดีตและมีความเที่ยงตรง กลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชื่นชอบ”
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า สุดท้ายโมเดลสื่อต่างประเทศ โดยมีการนำรูปแบบการทำงานของสื่อต่างประเทศมาเปรียบเทียบและพูดถึง ซึ่งไม่อยากให้น้อยใจสื่อต่างประเทศมีการล้ำเส้นเช่นกัน แต่เมื่อมีการเปรียบเทียบ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ยิ่งเป็นโลกไร้พรมแดน ทำให้ผู้บริโภคสามารถติดตามผ่านออนไลน์ จึงทำให้สื่อไทยทำงานลำบากมากขึ้น เพราะไม่ได้มีเพียงสื่อไทยอย่างเดียว
ขณะที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระบุจากการสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของสื่อในปรากฏการณ์ถ้ำหลวง พบข้อดีว่า สื่อทำหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ เข้าถึงพื้นที่ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดีเมื่อได้รับการร้องขอ เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ มีการนำเสนอข้อมูลเชิงสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่พึ่งในการรวมใจของคนทั้งประเทศ และสามารถสร้างกระแสไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ
ในขณะที่ข้อเสีย พบว่า สื่อยังขาดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงหรือความต้องการของผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ขาดความเอาใจใส่ในจริยธรรมวิชาชีพ ขาดความสร้างสรรค์ แม้บางช่องทำข่าวได้สร้างสรรค์มาก มีกราฟฟิก แต่บางช่องยังทำข่าวรูปแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นการรายงานสถานการณ์หน้าถ้ำหลวง แตกต่างจากสื่อต่างประเทศ ขาดการยอมรับผิด และขาดการควบคุมกำกับดูแลกันเอง .