เวิร์คพอยท์ชี้แจงกรณีดักฟังวิทยุราชการ
หมายเหตุ:นายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ เผยเเพร่คำชี้แจงข้อกล่าวหาดักฟังวิทยุราชการ กรณีรายงานข่าว 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
10 กรกฎาคม 61
เรียน คุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ปธ.กก. จริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง ชี้แจงข้อกล่าวหาดักฟังวิทยุราชการ
กรณีท่านได้เขียนบทความ เรื่อง ‘สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่’ โดยมีการพาดพิงถึงฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ โดยมีข้อความว่า กรณีผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ช่อง 23 เวิร์คพอยท์ (WorkPoint) เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2561 ดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการ แล้วนำมาเผยแพร่ออกอากาศ อันเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ศอร.) พร้อมกับมีการให้ข้อสังเกตให้ทางเราควรพิจารณา 3 ประการ นั้น
ผมขอชี้แจง ดังนี้
ประการแรก บทความที่ท่านเขียนเป็นความผิดพลาดของท่าน โดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเขียนบทความ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทางฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ไม่ได้ดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการแต่อย่างใด ฝ่ายข่าวได้คลิปเสียงส่งต่อมาทางไลน์ในกลุ่มสื่อทั่วไป ทั้งนี้ หลังจากเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวแล้ว ทางฝ่ายข่าวก็ได้มีการติดต่อสัมภาษณ์อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทางโทรศัพท์ เพื่อให้ท่านชี้แจงว่าข้อมูลในคลิปนั้น ถูกต้องหรือ (ข่าวเช้าวันที่ 9 ก.ค. 61) และคลิปที่ถูกกล่าวหาก็เป็นเสียงของการรายงานข่าวของนายพลสิงห์ แสนสุข ประธานอำนวยการศูนย์สู้ภัยพิบัติแห่งชาติพญาอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่เสียงของเจ้าหน้าที่หรือเสียงจากเครื่องมือของหน่วยงานราชการแต่อย่างใด
ตามข้อความ (1) ของท่านบอกว่าทางฝ่ายข่าวไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบทางกฎหมาย เสมือนว่ารับของโจร ยังไงก็ผิด ขอชี้แจงว่า ทางฝ่ายข่าวจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ทำผิดตามที่มีการกล่าวหาและบิดเบือน
ตามข้อความ (2) ผู้อยู่ในอาชีพสื่อต้องเป็นผู้ ‘รู้ท้นสื่อ’ เสียก่อน นั้น กรณีที่ท่านเขียนบทความโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เรียกได้ว่าเป็นการ ‘ไม่รู้เท่าทันสื่อ’ ได้หรือไม่ และเหตุใดท่านจึงได้เขียนบทความที่มีโอกาส ‘หมิ่นเหม่’ หรืออาจผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในมาตรา 14 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 เช่นนั้น
ตามข้อความ (3) ที่ท่านระบุว่า ข้อความที่ขัดแย้งต่อคำสั่งหรือประกาศของ ศอร. ควรถ่ายทอดสดหรือไม่ นั้น ต้องขอชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่เราส่งผู้สื่อข่าวลงภาคสนามทำข่าว 13 ชีวิตติดถ้ำ ทีมข่าวก็ให้ความร่วมมือกับทาง ศอร. ตลอด แต่ตามหลักการ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคำสั่งของ ศอร. สื่อต้องปฏิบัติตามทั้งหมด เราในฐานะผู้มีอาชีพสื่อควรมีอิสระในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้รับรู้ อีกทั้งการปฏิบัติงานกู้ชีพของ ศอร. ก็ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุด เราเพียงแต่ทำหน้าที่ของเราเท่านั้น และที่บอกว่าไม่ควรถ่ายทอดสด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้น ขอชี้แจงว่า ในกรณีข่าวเด็กติดถ้ำ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกู้ภัย กู้ชีพ การช่วยชีวิตคน ไม่ได้เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน หรือมีเด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อแต่อย่างใด และการนำเสนอของเราก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเยาวชนหรือครอบครัวของเด็ก จึงอยากทราบว่าการรายงานข่าวของเราผิดจริยธรรมสื่อในข้อใด
อย่างไรก็ตาม กระผมก็อยากขอความอนุเคราะห์จากท่านให้ผลักดันให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชนที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารโจมตีสำนักอื่น จนทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังสำนักข่าว หรือแม้แต่ตัวท่านเองเกิดความเข้าใจผิด จนทำให้ต้องเขียนบทความให้ความรู้แก่กับฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์
ขอแสดงความนับถือ
ฤทธิชัย ชูวงษ์
บรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์
* บทความที่พาดพิง https://www.isranews.org/isranews/67608-media-67608.html
**คำชี้แจงพญาอินทรีhttps://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2071529809835730&id=1447846752204042
***นายพลสิงห์ชี้แจงที่มาของการรายงานข่าว ยืนยันว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย ช่วงเวลา 8.40 น. ต้นไป
กสทช.ชี้แจง ผิดหรือไม่ https://www.isranews.org/isranews…/67613-pptv-workpoint.html
**** ที่มาจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดhttps://www.facebook.com/photo.php…