เจออีก “มิซมี MIZME” ขายเกลื่อนในกลุ่มเยาวชน พบผสมไซบูทรามีน
อย.เตือนระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก “มิซมี MIZME” ขายเกลื่อนในกลุ่มเยาวชน ตรวจพบมีส่วนผสมของยาฟลูออกซิทีนและไซบูทรามีน เข้าข่ายเป็นการผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ สวมเลข อย. ปลอม ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว
วันที่ 10 กรกฎาคาม นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อ “มิซมี MIZME” หลังพบผู้ใช้มีอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งจากการเช็คประวัติผู้ป่วยมีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว โดยได้ดำเนินการตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมิซมี (MIZME) ระบุแหล่งผลิต MIZME BY SHAPELYPINK หมู่ 3 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0637 และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ผลวิเคราะห์พบว่า มีส่วนผสมของยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) และ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งยาฟลูออกซิทีน เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า ในการใช้ควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวหากไม่ได้มีอาการซึมเศร้า เพราะเป็นยาอันตราย
ส่วนไซบูทรามีนในประเทศไทยได้มีการยกเลิกทะเบียนตำรับยาไปแล้ว เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันพบผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังแอบเจือปนสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังลดน้ำหนัก ซึ่งเลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0637 ตรวจสอบพบว่าได้รับอนุญาต สำหรับผลิตภัณฑ์ ชื่อ มิซมี่ (ผลิตภัณ์เสริมอาหาร) ผู้รับอนุญาตผลิตคือ บริษัท พี.พี. เนเจอร์ แคร์ จำกัด เลขที่ 199/190 หมู่ 3 ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10270 โดยได้มีการยกเลิกเลขสารบบดังกล่าวแล้ว ดังนั้น หากพบผลิตภัณฑ์มิซมี เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0637 จำหน่ายจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเลือกซื้อหรือบริโภค ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
อย. ขอเตือนภัยร้ายจากสื่อออนไลน์ที่แฝงมากับการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล อาทิ ช่วยลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน กระชับสัดส่วน หุ่นดีสวยเด้งภายใน 3 วัน 7 วัน อย่าได้หลงเชื่อซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด สรรพคุณต่าง ๆ ข้างต้น ส่วนใหญ่มักตรวจพบว่ามีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไปเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาได้ เสี่ยงอันตรายอาจถึงตาย ผู้ที่อยากหุ่นสวยดูมีน้ำมีนวล ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและควบคุมอาหาร ไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขณะนี้ อย. ได้เปิดช่องทางการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่าน 4 ช่องทางหลัก ซึ่งมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านทาง Line @FDA Thai , Oryor Smart Application เว็บไซต์ อย.www.fda.moph.go.th และ เว็บไซต์ www.oryor.com นอกจากนี้ อย. ยังได้จัดทำแคมเปญที่ชื่อว่า “เช็ก ชัวร์ แชร์” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาโรคที่ส่งต่อกันทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างละเอียดรอบคอบ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูล เช็คความน่าเชื่อถือ เช็คความถูกต้องให้ชัวร์ก่อนที่จะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลให้กับสังคม ได้ที่เว็บไซต์ sure.oryor.com หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ