ศาลอุทธรณ์ยืนหมอชนบทไม่หมิ่นอดีตปลัด สธ.-ยื่นร้อง’บิ๊กตู่’บินขอเก้าอี้ 'ทักษิณ'-บ.ยาออกค่าใช้จ่าย
เผยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยืนตามชั้นต้น กลุ่มแพทย์ชนบท 9 ราย ไม่หมิ่นประมาท นพ.ณรงค์ ปมเปิดโปงบินฮ่องกง ขอเก้าอี้ปลัดสธ. 'ทักษิณ' ช่วงยุคยิ่งลักษณ์ บ.ยาออกค่าใช้จ่ายให้ เปิดข้อมูลลับก่อนได้ตำแหน่ง ยอมเซ็นใบลาออก 2 ฉบับ ให้ วิทยา -พยานอ้างข้อมูลสามี 'เบญจา หลุยเจริญ' ยัน 'เสี่ยเปี๋ยง' คนพิจิตรบ้านเดียวกัน ช่วยแนะนำนายใหญ่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องคดีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทกลุ่มแพทย์ชนบท จำนวน 9 ราย ประกอบไปด้วย นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายแพทย์วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์พรเจริญ เจียมบุญศรี นายแพทย์รอชาลี ปัตยะบุตร นายแพทย์บรรพต พินิจจันทร์ และนายแพทย์ปวิตร วณิชชานนท์ กรณีทำหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คัดค้านการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ถูกออกคำสั่งให้ไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือนมิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงพฤติการณ์ นพ.ณรงค์ ในช่วงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่า เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องไปแล้ว ในช่วงเดือนก.ค.2560 ที่ผ่านมา
โดยศาลอุทธรณ์ฯ ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังเห็นพ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 9 ราย เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชม ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำต้องตาม มาตรา 329(3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน และไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ขณะที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอื่นใดมาสืบสนับสนุนเพิ่มเติมอีก
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ระบุว่า นพ.ณรงค์ ในฐานะโจทก์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งก่อนได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2555 ได้เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต่อมาเดือน มี.ค.2558 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 29 มิ.ย.2558 จำเลยทั้ง 9 ราย ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นหนังสือเรื่องข้าราชการทุจริตต่อหน้าที่และขัดต่อนโยบายรัฐบาล ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คัดค้านไม่ให้นพ.ณรงค์ กลับเข้าสู่ตำแหน่ง มีข้อความระบุว่า มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตำแหน่ง โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านโครงการความร่วมมือกับ Hunan Provincial Department of Health เมื่อวันที่ 15-21 มิ.ย.2555 โดยเดินทางจากประเทศไทยถึงกวางโจว แล้วได้เดินทางโดยรถไฟฟ้า MRT เข้าฮ่องกงโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาภิบาลที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทางโดยไม่ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นวันที่ 5 ส.ค.2558 โจทก์รับคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ระบุว่า คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 9 ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ โดยโจทก์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2558 ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำสั่งจากนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ย้ายไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้รับแจ้งจากเลขาฯว่า กลุ่มจำเลยเตรียมที่จะเปิดแถลงข่าวกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะนำเอกสารมาให้ดู ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์เดินทางไป ฮ่องกงพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตำแหน่ง แต่โจทก์ไม่เห็นเหตุการณ์การแจกเอกสารดังกล่าว เลขาฯก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการแถลงข่าวด้วย ขณะที่โจทก์ก็ยอมรับว่าเจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชร่วมเดินทางไปต่างประเทศด้วย
ในคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เดิมที่ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายนี้ จะต้องเดินทางไปเมืองหูหนานในโครงการดังกล่าว แต่เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง โจทก์ที่ครั้งแรกเลือกเดินทางไปเมืองฮาบินได้มาขอแลกการเดินทางโดยไม่ทราบเหตุผล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายนี้ จึงเกิดความสงสัย และได้สอบถามคณะเดินทางเมื่อมีการเดินทางกลับมา ทราบว่า โจทก์เดินทางออกนอกเส้นทางและไม่ได้เข้าร่วมสัมมนาที่เมืองหูหนาน โดยให้นายแพทย์อีกรายหนึ่ง เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในนามประเทศไทยแทน ขณะที่คณะที่เดินทางไปกับโจทก์มีการไปดื่มไปตีกอล์ฟ เจ้าหน้าที่จีนเห็นว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบที่จะต้องจ่ายเงินให้ จึงให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวช เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในจีน
ผลการยื่นหนังสือของกลุ่มจำเลย ต่อนายกฯ ทำให้มีการชะลอคำสั่งที่จะให้โจทก์กลับมาปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข และโจทก์ยังมีความขัดแย้งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีเรื่องสอบวินัยร้ายแรงตามที่ปรากฏเป็นข่าว ขณะที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอื่นใดมาสืบสนับสนุนอีก ทำให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 9 ราย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากหนังสือข้อร้องเรียนโจทก์ที่มีข้อความเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อขอตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ซึ่งจำเลยที่ 2 และ 4 ทราบจากบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ได้พูดคุยกับตนเองว่า จำใจต้องตั้งโจทก์ แต่มีเงื่อนไขว่าให้เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของพยานจำเลยทั้ง 9 รับว่า ก่อนได้รัการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงฯ ได้เขียนใบลาออกให้นายวิทยาไว้ 2 ฉบับ ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่จำเลยที่ 5 ได้รับทราบจากนายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ สามีของนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าสาเหตุที่โจกท์ได้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีการแนะนำโดย 'เสี่ยเปี๋ยง' (หมายเหตุ : เสี่ยเปี๋ยง คือ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด จำเลยในคดีระบายข้าวจีทูจี) ซึ่งเป็นคนจังหวัดพิจิตร บ้านเดียวกับโจทก์และสนิทกับอดีตนายกฯ และก็มีการเบิกความจากพยานว่า โจทก์ทานข้าวกับพยานหลายครั้ง พยานถามว่าใครสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ โจทก์ก็บอกว่า ต้องเขียนในหนังสืองานศพเท่านั้น
และในข้อความเอกสาร ที่ระบุว่า ... และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมกับคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาภิบาลที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทางโดยไม่ได้ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน.. และข้อความที่ว่า ..หาก ฯพณฯ สั่งการให้นายแพทย์ณรงค์กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ และเป็นบาปร้ายแรงต่อประเทศชาติ" ศาลฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 9 ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมแพทย์ชนบท ร่วมกันลงลายมือชื่อกับพวกในหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้ง 9 กับพวกทราบมาว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ และการกระทำอาจส่อไปในทางไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพื่อประกอบในการใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งโจทก์กลับมาเป็นปลัดกระทรวงฯ ซึ่งจำเลยทั้ง 9 เห็นว่าในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ จะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่ ในตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จึงเป็นการแสดงข้อความเพื่อประโยชน์ของข้าราชการกระทรวงฯ และประชาชนโดยทั่วไป มิใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้ง 9 เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) ที่ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย คำอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น