"ยุทธศักดิ์" ร่อน 9 ยุทธศาสตร์ฟื้นใต้ 29 เป้าหมาย 5 แนวขับเคลื่อน
รัฐลุยเวิร์คชอปดับไฟใต้ กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ 9 ข้อ "กอ.รมน.-ศอ.บต." จับมือร่วมกันทำงาน ตั้ง 29 เป้าหมาย 5 แนวทางขับเคลื่อน ทำพื้นที่เขตเมืองปลอดเหตุร้ายขนาดใหญ่ ลดหมู่บ้านอิทธิพลกลุ่มป่วน เดินหน้าปลุกการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หนุนพูดคุยสันติภาพ สกัดยกระดับปัญหาสู่สากล สมช.เดินหน้าผุด "กลุ่มงานดับไฟใต้" ทุกกระทรวง หวังสานงานต่อเนื่องยั่งยืน
รัฐบาลจัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากบริหารประเทศมานาน 9 เดือน โดยเป็นการประชุมที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2555 มีมติแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.
บรรยากาศการประชุมที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค.เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นต้น
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธาน กปต. ก็ได้มอบหมายให้ สมช.จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 8-11 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำ "ร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557" โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.9 ข้อที่เน้นงานด้านการพัฒนา กับยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน.6 ข้อที่เน้นงานด้านความมั่นคง เพื่อเป็น "ยุทธศาสตร์ร่วม" พร้อมกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน 29 ข้อ
"ลดเงื่อนไขรุนแรง-ฟื้นความเข้าใจ"
จากนั้น พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวในรายละเอียดว่า สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ 9 ข้อ เน้นเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ของ สมช.ประกอบด้วย
1.การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้และทุกคนในพื้นที่ได้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
2.การขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงและเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย
3.การเสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ
4.การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน
5.การเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
6.การเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน
7.การทำให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา
8.การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วม
และ 9.ดำเนินนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นโยบายของ สมช.) ให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
สั่งทุกกระทรวงตั้งกลุ่มงานดับไฟใต้
พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวต่อว่า แนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มี 5 ประการ คือ
1.ให้ทุกส่วนราชการใช้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ (9 ข้อ) เป็นหลักในการทบทวนปรับปรุงแผนงาน โครงการ และงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม
2.ให้ส่วนราชการระดับกระทรวงจัดตั้งกลุ่มงานรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการบูรณาการภารกิจงานที่มีความเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน กปต.อาจตั้งอนุกรรมการรับผิดชอบเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะกรณี
4.กปต.กำหนดให้มีการประชุมทั้งตามวงรอบและในกรณีเร่งด่วน โดยจัดทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีทุก 3 เดือน
และ 5.ให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการ กปต.เรียกว่า สล.กปต.เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
ตั้งเป้าพื้นที่เขตเมืองปลอดเหตุร้าย
สำหรับเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของ กอ.รมน.และศอ.บต.มี 29 ข้อ ประกอบด้วย
1.พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญและสถานที่ชุมนุมสาธารณะปลอดพ้นจากความเสี่ยงของเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ เช่น เหตุระเบิดขนาดใหญ่หรือพร้อมกันหลายจุด
2.หมู่บ้านและชุมชนที่เป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงลดจำนวนลงในพื้นที่เดิมและไม่ขยายเพิ่มในพื้นที่ใหม่
3.ศาสนสถาน ศาสนบุคคล และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการคุ้มครอง เฝ้าระวังให้ปลอดภัยจากเหตุรุนแรง
4.เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนประเพณี และผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว
5.คดีหรือเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนและต่างประเทศได้รับการเร่งรัดและนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบโดยทันทีเพื่อค้นหาความจริงให้ได้ข้อยุติและชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
6.การดำเนินคดีความมั่นคงมีประสิทธิภาพ ทั้งกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่รัดกุมและโปร่งใส ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว
7.กระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้รับการสนับสนุน โดยให้ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาและชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งและการระงับข้อพิพาท ผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม
8.ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ได้รับการเยียวยาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งระดับปัจเจกครอบครัวและชุมชน รวมทั้งลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง ตลอดจนสร้างความไว้วางใจ
9.ประชาชนมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ผ่านเวทีการสื่อสารที่ส่งเสริมการพูดคุยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
10.จำนวนกลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางและทักษะการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดหลักสูตรอบรมหรือการสัมมนาเพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม
ส่งเสริมการลงทุน – พัฒนาโลจิสติกส์
11.การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มั่นคง สอดคล้องศักยภาพของพื้นที่ วิถีชีวิต ตรงกับความต้องการของประชาชน และมีผลต่อการสร้างอาชีพและการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงให้กับประชาชน ส่งผลให้อัตราการว่างงานในระดับหมู่บ้านลดลงอย่างต่อเนื่อง
12.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี ศักยภาพแรงงาน ทั้งต้นน้ำปลายน้ำ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ในประเทศและรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
13.สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนได้รับการพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาและครูทั้งสายสามัญและศาสนาอย่างครบถ้วน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานกลางของประเทศ
14.เด็ก เยาวชน และผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับความรู้ การเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ โดยการพัฒนาสร้างแหล่งเรียนรู้และสนับสนุนระบบการศึกษานอกโรงเรียน
15.ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับหลักประกันของการมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเพื่อการดำรงชีพและสร้างรายได้ที่พอเพียง ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
16.ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ
17.ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติตามประเพณีและศาสนาเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งภายนอกและภายในรวมทั้งเกิดความรู้สึกและความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองไทย
18.การฟื้นฟู อนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ทางภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
19.เด็กและเยาวชนมีความรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศที่สำคัญในทุกระดับการศึกษา
20.ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการศึกษา สื่อมวลชน สตรี เด็ก และเยาวชน มีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนเพิ่มขึ้น
สกัดยกระดับปัญหาสู่สากล-เปิดพื้นที่พูดคุยกลุ่มเห็นต่าง
21.ประชาชนได้รับข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์
22.ประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ถูกหยิบยกเป็นวาระระหว่างประเทศ อาทิ เวทีขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และสหประชาชาติ
23.ประชาชนในโลกมุสลิมและต่างประเทศมีความเข้าใจและสนับสนุนการพัฒนา รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยอาศัยความร่วมมือของประชาคมอาเซียนและกิจการฮัจญ์
24.หน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกการจัดพื้นที่และกระบวนการสื่อสาร พุดคุย เพื่อลดและป้องกันการขยายตัวของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนกับประชาชนเพิ่มขึ้น
25.จำนวนเวทีส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสวงหารูปแบบการกระจายอำนาจที่สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทและส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีมากขึ้น
26.ผู้มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างจากรัฐมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลได้รับหลักประกันความปลอดภัยจากรัฐอย่างทั่วถึง
27.กลไกขับเคลื่อนการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
28.ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำนโยบายยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล
29.เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องมีความเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน
"ทวี"บ่นแผนงานสารพัดแต่ทำคนเดียว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ อยากให้คิดว่าเป็น "ปัญหาของชาติ" ซึ่งจะต้องลดทิฐิขององค์กร เพราะชาติต้องมาก่อน เรื่องวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ต้องเอาไว้ทีหลัง แต่ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาของชาติ
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาอย่าตกเป็นเครื่องมือของกฎหมาย แต่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อนำสันติสุขคืนสู่ภาคใต้ ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะฝ่ายที่มีความคิดมีอุดมการณ์มีมาเป็นร้อยปีไม่เคยเปลี่ยน แต่ของรัฐเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายการทำงานด้านการพัฒนาของ ศอ.บต.คือมุ่งนำสันติสุข ความปลอดภัย เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความเจริญรุ่งเรืองกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"ที่ผ่านมาเคยเชิญตัวแทน 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหารือเพื่อดูว่าจะบูรณาการกันอย่างไร แต่ปรากฏว่าแม้ชื่อแผนงานจะมีมากมาย แต่คนปฏิบัติกลับมีแค่คนเดียว ประชาชนหรือกระทั่ง กอ.รมน.ก็ไม่มีส่วนร่วม จึงต้องส่งแผนงานกลับไป เมื่อไปดูยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ ก็มักจะเขียนแต่ด้านความมั่นคง ทั้งที่การพัฒนากับความมั่นคงจะต้องทำพร้อมๆ กัน เพราะผู้ก่อเหตุเขาไม่หวังผลประโยชน์ เขาต้องการผลิตความคิด เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าใช้แต่กฎหมาย บางครั้งเราก็เดินชนกำแพง อย่างในปี 2554 ศาลยกฟ้องคดีความมั่นคงถึง 78%” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
กอ.รมน.จี้ทำแผนรองรับแก้เหตุร้ายรายวัน
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เลขาธิการ รมน.กล่าวว่า แนวทางขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงตามแผนปฏิบัติการนั้น กอ.รมน.จะให้ความสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสังคมเมืองและชุมชนจะต้องปลอดภัยจากการก่อเหตุขนาดใหญ่ โดยจะต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น ติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ควบคุมยานพาหนะ รวมถึงควบคุมวัตถุที่ใช้ในการประกอบระเบิด
ทั้งนี้ กอ.รมน.เห็นว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมที่ต้องเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว คือแผนปฏิบัติการข้อ 3 ได้แก่ การฟื้นคืนความเข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างประชาชนด้วยกัน อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.มีข้อห่วงใย อยากให้พิจารณาน้ำหนักและความสำคัญของการดำเนินการแผนงานและโครงการให้รองรับการแก้ปัญหาเรื่องเหตุร้ายรายวัน การรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนการจัดสรรงบประมาณ อยากให้เกิดผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมายังไม่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เลย เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาล หรือโรงเรียน
สั่งประเมินผลงานทุก 3 เดือน
ภายหลังการประชุม พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกกระทรวงได้ทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งยังมีงบประมาณไปทำงาน จึงต้องไปดำเนินการให้เห็นผล โดยจะประเมินทุก 3 เดือนว่าผลงานเข้าเป้าหรือไม่
"ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานของแต่ละกระทรวงทำงานกันแบบไม่ประสานกัน ก่อนหน้านี้ สมช. กอ.รมน.และศอ.บต.ทำงานกันคนละแนวทาง แต่วันนี้ทุกหน่วยงานมาสุมหัวกันแล้ว การทำงานจะเป็นไปด้วยความตั้งใจ เดินไปด้วยกัน เป็นภาพที่ทำให้เห็นว่าทุกฝ่ายดีขึ้น" พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว และว่าได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการทำความเข้าใจและดูแลนักศึกษาที่ไปศึกษาต่อในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จากเว็บไซต์เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/politics/23072 เมื่อครั้งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้