ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง สร้างกระแสโลกออนไลน์ 13 วัน กว่า 5.5 แสนข้อความ
นักวิชาการด้านสื่อเผยปรากฏการณ์ 'ถ้ำหลวง' สร้างกระเเสโลกออนไลน์ 5.5 เเสนข้อความ 165 ล้าน Engagement ช่วง 24 มิ.ย. -6 ก.ค. 61 ยอดพุ่ง 2-3 ก.ค. วันพบ 13 ชีวิต ส่วนใหญ่เนื้อหามุ่งเน้นการเเสวงหาฮีโร่ สืบค้นเเพะ ไสยศาสตร์ เเนะนักข่าวรายงานข้อมูลครบถ้วน ไม่ดราม่า ย้ำข่าวเร็วที่สุดไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้
วันที่ 6 ก.ค. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาเสวนา ครั้งที่ 14 เรื่อง วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจากหลากมิติ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงในมิตินิเทศศาสตร์ โดยระบุถึงข้อมูลการสืบค้นจากฐานข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ 24 มิ.ย. – 6 ก.ค. 2561 พบว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสในโลกออนไลน์ด้วยข้อความและเว็บข่าวในสื่อออนไลน์ ทั้งสิ้น 559,810 ข้อความ และสร้าง Engagement รวมกว่า 165 ล้าน Engagement
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีกระแสความนิยมสูงสุดในช่วงวันที่ 2 และ 3 ก.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันที่พบกลุ่มเด็กและครูผู้ฝึกสอนทั้งหมด 13 คน เฉพาะวันที่ 3 ก.ค. 2561 มี Engagement สูงสุดถึง 23 ล้าน Engagement มีเนื้อหาที่ติด 4 อันดับสูงสุด มุ่งเน้นไปในเรื่องการแสวงหาฮีโร่ สืบค้นแพะ ไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และความมีน้ำใจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสื่อไทยนำเสนอข่าวแบบ Breaking News ติดตามสถานการณ์เฉพาะหน้าค่อนข้างมาก โดยรายงานเฉพาะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับสื่อว่า จะเป็นแค่กระจกที่สะท้อนสังคมว่า สังคมอยากฟังแบบนี้ สื่อจึงต้องทำแบบนี้ อยากฟังเรื่องไสยศาสตร์ จึงต้องทำเรื่องไสยศาสตร์ หรือสื่อจะเลือกเป็นตะเกียงที่ส่องทางให้แก่สังคมมากกว่า
"แตกต่างจากญี่ปุ่นที่รายงานข่าวจากปรากฏการณ์เดียวกันด้วยการทำให้สาธารณชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน" ผศ.พิจิตรา กล่าวและว่า ในฐานะนักข่าวเข้าใจว่า ต้องการได้ Breaking News ต้องการได้ข่าวด่วนที่สุด แต่อยากให้เห็นภาพว่า ข่าวของญี่ปุ่นที่ได้รับการแชร์และมี Engagement จำนวนมาก นั่นหมายความว่า ผู้รับสารมีความกระหายในข้อมูลข่าวสารที่ต้องการข่าวรอบด้านจริง ๆ และเล่าเรื่องอย่างรอบด้าน โดยไม่ต้องด่วนและเร็วที่สุด แต่สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ ข่าวครบ ไม่ดราม่า เล่าเป็นขั้นตอน และไม่ต้องหาแพะ ดังนั้น ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อต้องกลับมาตั้งสติใหม่ และอยากย้ำว่า ข่าวที่เร็วที่สุดไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้
ขณะที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับป้ายแจ้งเตือนห้ามเข้าถ้ำระหว่าง ก.ค. - พ.ย. ของทุกปี แต่ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมีเข้าไปในถ้ำ มิ.ย. ซึ่งไม่ผิด ที่สำคัญ ทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัย ไม่ใช่เด็กซน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ป้ายแจ้งเตือนในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นเหตุของปัญหาหรือไม่ แล้วถามว่าปัจจุบันมีใครเคยตรวจสอบข้อมูลน้ำฝน จ.เชียงราย มีปริมาณมากตั้งแต่ พ.ค. ไม่ใช่ ก.ค. หมายความว่า ปริมาณน้ำฝนถูกเก็บสะสมและพร้อมเป็นน้ำหลากลงมาได้ช่วง มิ.ย. ดังนั้น เรื่องป้ายแจ้งเตือนเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ต้องร่วมถอดประสบการณ์กัน โดยต่อไปต้องเเจ้งเตือนห้ามเข้าถ้ำตั้งแต่ มิ.ย. - ต.ค. แทน
ด้านผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผอ.ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่จ.เชียงราย อาจจะมีฝนตกตั้งแต่เม.ย. หรือ พ.ค. ของทุกปีก็ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกแปรปรวนมาก ฉะนั้นวิธีการป้องกันจะต้องสร้างองค์ความรู้ หน่วยงานรับผิดชอบต้องประมวลผล เพราะการเขียนป้ายแจ้งเตือนอย่างเดียวไม่ช่วยบอกอะไร การเตือนแบบเดิม ๆ เป็นกระดาษหรือป้าย แทบจะเป็นอดีตไปแล้ว แต่ต้องบอกว่า ดูที่ไหน อย่างไร ผ่านระบบอะไร ซึ่งวิธีนี้เป็นสิ่งที่สากลทำ อย่างเช่น ญี่ปุ่นมีการตั้งมอนิเตอร์น้ำไหลลงจากภูเขา มีมอนิเตอร์ต้นทางภูเขา และตอบได้ว่า จะไหลไปถึงไหน เป็นเวลาเท่าไหร่ ดังนั้น ต้องใช้องค์ความรู้นำการจัดการอย่างเป็นระบบ .