School Tomorrow เสริม 3 ทักษะ ‘คิด วิเคราะห์ ค้น’ สร้างคนเพื่อรับมือกับโลกอนาคต
"มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้เป็นคำตอบของคนจำนวนมากในอนาคตแล้ว เส้นทางการเรียนรู้ หรือพัฒนาตัวเองเพื่อสู้เป้าหมาย อาจไม่จำเป็นต้องผ่านมหาวิทยาลัยอีกต่อไป มหาวิทยาลัยก็ไร้ความหมายหากเราไม่ตอบโจทย์สังคม วันนี้สถาบันการศึกษา ต้องการสร้าง Next Generation Leader ไม่เพียงสร้างคนออกไปประกอบอาชีพเท่านั้น ต้องสร้างคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับทุกวงการ"
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ในวันแถลงข่าวเปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องวรรณไวทยากร ชั้น 1 ดึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า การมองไปถึงอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก สิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของอนาคต หรือคำว่า วันพรุ่งนี้ คือไม่มีความแน่นอน เราไม่มีวันรู้อะไรเกิดขึ้น และเรากำลังเตรียมคนไปสู่โลกที่ไม่มีความแน่นอนที่ว่านั้น โลกที่เราเองก็วาดภาพไม่ชัดว่า หน้าตาเป็นอย่างไร
“ผมคิดว่า เรื่องใหญ่ที่สุดของเราคือ การเตรีมคนให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต ด้วยการยืนบนขาของตัวเอง และพร้อมปรับเปลี่ยนไปกับสถานการณ์ในอนาคต ฝรั่งใช้คำว่า Agility ความรู้จึงไม่สำคัญเท่าความคิด ไม่มากเท่าจินตนาการ ทักษะสำคัญจึงเป็นการคิด วิเคราะห์ และค้นคว้า มากกว่าจะเป็นเรื่องของการอ่านตามตำราเพียงอย่างเดียว”
ในเมื่ออนาคตมีความไม่แน่นอนสูงมากๆ รศ.ดร.พิภพ บอกว่า อยากให้มองว่า ยังไงอนาคตก็ต้องมาไม่ว่าเราจะอยู่หรือเราจะไป โลกอนาคตจึงฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น
“คนเจเนอเรชั่นใหม่ Gen Z และGen Alpha ท่านเป็นดิจิตอลเนทีฟ (Digital Natives)ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงที่จะมากับโลกอย่างรวดเร็ว รุนแรง ต้องเผชิญกับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยพบมาก่อน อาชีพจำนวนมากจะเกิดขึ้น ปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่พบมาก่อน”
ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ สถาบันการศึกษาต้องเตรียมคน ให้ไปเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นด้วยวิธีคิด ว่า ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะก้าวข้ามมันได้ด้วยทักษะการคิด วิเคราะห์ ค้น บวกจินตนาการที่มี
“มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้เป็นคำตอบของคนจำนวนมากในอนาคตแล้ว เส้นทางการเรียนรู้ หรือพัฒนาตัวเองเพื่อสู้เป้าหมาย อาจไม่จำเป็นต้องผ่านมหาวิทยาลัยอีกต่อไป มหาวิทยาลัยก็ไร้ความหมายหากเราไม่ตอบโจทย์สังคม”
รศ.ดร.พิภพ เน้นย้ำ วันนี้สถาบันการศึกษา ต้องการสร้าง Next Generation Leader ไม่เพียงสร้างคนออกไปประกอบอาชีพเท่านั้น ต้องสร้างคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับทุกวงการ
สำหรับ “โรงเรียนอนาคต” School Tomorrow ตั้งขึ้นปีนี้เป็นปีแรก ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคนที่พร้อมเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคต ด้วยมุมมองที่รอบด้าน มีฐานคิดที่หนักแน่น ไม่เลื่อนลอย และจะเป็นฐานสำคัญสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีการนำนักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษาจากหลากหลายคณะ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 30 คน มาเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงกับตัวจริงในวงการต่างๆ ทั้งนักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ นักแสดง นักพูด นักเคลื่อนไหวางสังคม เปิดวงเสวนาเรื่องอนาคตของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงข่าวเปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด ณ ห้องวรรณไวทยากร ชั้น 1 ดึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธานแถลงข่าว