อ.นิด้าชูกองทุนสุขภาพตำบลต้นแบบกรอ.ดึงท้องถิ่นร่วมกรองนร.ยากจนรับทุนฟรี
ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารับกองทุนมีจุดอ่อนเห็นควรปรับกยศ.เป็นกรอ. ส่วนอาจารย์นิด้ายกต้นแบบกองทุนสุขภาพตำบล ดึงท้องถิ่นเป็นแมวมองร่วมกรองนักเรียนยากจน มอบทุนให้เปล่าเรียนจบปริญญาตรี
สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค.54 ระบุจะดำเนินการลดข้อจำกัดการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษาขั้นสูงจัดให้มีโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)ให้ผู้กู้เริ่มใช้คืนเมื่อมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค.55 ครม.มีมติเห็นชอบหลักการการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยให้เริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที 1 ปีการศึกษา 2555
วันที่ 17 พ.ค.55 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยนิด้าจัดให้มีการอภิปรายทางวิชาการ คิดต่างสร้างใหม่กับสินเชื่อเพื่อการศึกษา กยศ.และกรอ. โดยรศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวยอมรับกองทุนกยศ.มีจุดอ่อนคือใช้ระบบคนกลางให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเด็ก คนกลางรับประโยชน์ด้วย การคืนเงินกู้ไม่เป็นจริง ทำให้เป็นปัญหาที่ผูกพันมาตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่งบประมาณลดลงเหลือปีละไม่เกิน 9,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของใครต้องโทษที่ระบบ หากมีการออกแบบระบบใหม่ เชื่อว่าจะเป็นความสำเร็จได้ เห็นด้วยกับการปรับเป็นกรอ. เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต้องให้แน่ใจว่าเงินที่กรอ.ให้ยืมไปจะไหลกลับเข้ามาต่อเนื่องซึ่งจะใช้วิธีการแบบไหนต้องคิดรอบคอบ
“ตัวเลขพอสังเขปของกยศ.คนที่เรียนจบและชำระเงินคืนที่จ่ายเกินเกณฑ์มีประมาณ 25 % อีก 25 % ชำระตามปกติตามใบแจ้งหนี้ ขณะที่เหลือ 50 % ชำระไม่เต็มจำนวนหรือไม่ชำระเลย นั่นหมายความว่าใน 2 ล้านคนมีประมาณ 5 แสนคนที่ไม่ติดต่อกยศ.โดยมีการฟ้องร้องคนที่ครบกำหนดชำระในปี 2542 จำนวน 4 แสนคนซึ่งเห็นด้วยกับกรอ. แต่เพื่อความยั่งยืนระยะยาว ทำอย่างไรจะเร่งให้คืนเงินกู้ยืมเร็วขึ้นไม่ต้องใช้ระยะเวลานานถึง15 ปีและไม่เป็นหนี้สูญ” ผู้จัดการกยศ.กล่าว
ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนกองทุนกยศ.เป็นกรอ. เนื่องจากที่ผ่านมากยศ.มีจุดอ่อนหลายด้านโดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการชำระคืนเงินกู้ เห็นสมควรสร้างใหม่ให้ดีและก้าวหน้า ข้อดีของกรอ.คือให้สิทธิ์ผู้กู้ทุกคน ภาครัฐรับภาระความเสี่ยงหากจบแล้วไม่มีงานทำหรือรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราเงินเฟ้อหรือสูงกว่านั้น 3-6 % การชำคืนเงินกู้ผ่านระบบภาษีหักจากรายได้ ณ ที่จ่ายทำให้ประหยัดครบถ้วนมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเดิม รวมทั้งมีการจัดสรรทุนให้เปล่าแก่คนยากจนให้มีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษามากขึ้น
อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวต่อว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะนำมาซึ่งเงินบริหารจัดการของกองทุนให้เข้มแข็งและยั่งยืน ส่วนการจัดสรรทุนให้เปล่าแก่คนยากจน ในเบื้องต้นที่มีการเก็บข้อมูลลูกคนจนมีโอกาสเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพียง 1 % เท่านั้นหรืออยู่ที่ประมาณ 70,000 คน ซึ่งต้องมีโควตาให้คนจำนวนนี้ ที่ผ่านมาการคัดกรองของกยศ.ไม่เคยลงไปถึงระดับข้างล่าง ระบบใหม่ต้องใช้กระบวนการกระจายอำนาจดึงท้องถิ่นทั้งระดับตำบล อำเภอเข้ามาเป็นอนุกรรมการคัดกรอง จัดให้มีระบบติดตาม เพราะมีตัวอย่างสำเร็จในกรณีกองทุนสุขภาพตำบล ที่เทศบาล ตำบลเข้ามาร่วม ทำให้เกิดการแข่งขันความดี เกิดนวัตกรรมและความริเริ่มในท้องถิ่นจำนวนมาก
“อยากเห็นการทำงานกองทุนยุคใหม่ กรอ.ควรอยู่ได้ยั่งยืนด้วยรายได้ที่มาจากการชำระคืนบวกกับอัตราดอกเบี้ยสามารถหมุนเวียนให้กับผู้กู้รายใหม่ ไม่นับเงินในส่วนที่รัฐต้องให้การอุดหนุน ทั้งทุนให้เปล่าสำหรับคนจนร้อยละ 10-20 และผู้จบการศึกษาที่มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ โดยภาพรวมในเรื่องวิธีคิดเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลหรือราชการเป็นคนคิด แต่สังคมควรลุกขึ้นมาใช้สติปัญญากระจายความคิดที่ดีนำไปสู่การปฏิบัติ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการกรอ.มีฐานะยากจนมีสิทธิได้ค่าครองชีพเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สถานศึกษาเรียกเก็บตามกฎหมายโดยใช้อัตราเดียวกับกองทุนกยศ. ครอบคลุมเฉพาะนักเรียนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าที่ไม่ใช่ผู้กู้ยืมรายเก่าของกยศ.ยกเว้นผู้กู้ยืมรายเก่าของกยศ.ที่เปลี่ยนระดับจากม.6หรือเทียบเท่าเป็นระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าในปีการศึกษา2555 และเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างและสับสนให้ใช้แนวทางเดียวกับกับกยศ.ยกเว้นหลักเกณฑ์การชำระเงินกู้ที่ต้องยึดโยงกับความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ทั้งนี้จะมีการเร่งจัดทำกฎหมายออกมารองรับในระยะยาวโดยให้ควบรวมกฎหมายกยศ.ส่วนหนึ่งเข้าไปด้วยให้มีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2556 โดยประมาณการกู้ยืมกรอ.ปีการศึกษา 2555 จำนวนผู้กู้ 51,518 ราย จำนวนเงิน 2,634 ล้านบาท