‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ กับแนวคิดกำกับดูแลสื่ออย่างไรให้เป็นที่พึ่งของสังคม
"...องค์กรควบคุมวิชาชีพสื่อสารมวลชนต้องหาทางรวมกันให้ได้ คุยกันให้ได้ พอได้คร่าว ๆ แล้ว จึงคิดตั้งองค์กรเป็นศูนย์รวม ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องออกฎหมาย ไม่ใช่เพื่อบังคับให้ทุกคนเป็นสมาชิก แต่ต้องออกเพื่อตั้งตัวนี้เป็นหลักเป็นฐาน และสร้างอำนาจบางอย่างให้ โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพของการประกอบวิชาชีพ..."
วันที่ 4 ก.ค. 2561 นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อกำกับดูแลสื่ออย่างไรให้เป็นที่พึ่งของสังคม เนื่องในงานครบรอบ 21 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เริ่มต้น นายมีชัย กล่าวว่า ในอดีต สื่อเรียกร้องว่า ต้องมีอิสระเสรี ใครอย่าได้กำกับควบคุม ดิ้นรนต่อสู้ จนกระทั่งมีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 42 เมื่อปี 2533 เราเลยรู้สึกว่า ปลอดภัย มีอิสระ แต่อยู่ ๆ มาความอิสระและความเสรีที่ต้องการนั้นกลับถูกนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ด้วยถ้อยคำที่แข็งขันมาก โดยยืนยันว่า “สื่อต้องเป็นอิสระจากทุกคน ทุกฝ่าย แม้แต่เจ้าของสื่อ อย่าได้แตะต้อง เพื่อป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์”
ดังนั้น รธน.จึงบัญญัติห้ามว่า ห้ามเจ้าของสื่อเล่นการเมือง มิฉะนั้นอาจจะใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้
ขณะที่ปลดทั้งหมดออก ประธาน กรธ. ระบุมีการใส่โซ่อันใหม่เข้ามา ซึ่งทุกคนยอมรับว่าเป็น โซ่แห่งความชอบธรรม ให้ทุกคนอยู่ภายใต้จริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยจริยธรรมวิชาชีพนั้นมีสื่อเป็นผู้กำหนดกันเอง แต่กลับพบว่า ไม่ค่อยเข้มงวดเท่าที่ควร
ทั้งนี้ แม้จะไม่ค่อยเข้มงวด ก็ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตาม ทำให้ขาดกลไก เครื่องมือ หรืออะไรที่ทำได้
สาเหตุเพราะองค์กรเกี่ยวกับสื่อตั้งกันขึ้นมาโดยอาศัยกฎหมายปกติธรรมดา ในการรวมตัวตั้งมาเป็นคณะบุคคล เป็นสิทธิเสรีภาพ ทุกองค์กรมีกติกา ข้อบังคับ ใช้ได้เฉพาะผู้เป็นสมาชิก และพบว่า เมื่อมีความผิดต้องลงโทษ ผู้นั้นจะลาออกจากสมาชิก จึงไม่รู้จะตามตัวได้อย่างไร
นายมีชัย กล่าวถึงรธน. ปี 2550 จนถึงฉบับปัจจุบัน ได้เขียนให้รับรองสิทธิ แล้วผูกโซ่เล็ก ๆ ไว้เหมือนกัน คือ ‘จริยธรรมแห่งวิชาชีพ’ ซึ่งมาบัดนี้สื่อเริ่มตระหนักว่า โซ่ดังกล่าวใช้ไม่ได้กับทุกกรณี ทำให้สื่อถูกมองในแง่ลบมากขึ้นทุกวัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป
ดังเช่น ในอดีตนักวิชาการด้านหนังสือพิมพ์หรือสื่อ กำหนดหน้าที่สื่อไว้ 4 ประการ คือ 1.ให้ข่าวสาร 2.ให้ความคิดเห็น 3.ให้การศึกษา และ 4.ให้ความบันเทิง ซึ่งบทบาทหน้าที่ในการให้การศึกษา และความบันเทิง ไม่ค่อยมีปัญหากับสังคม แต่สำหรับด้านการให้ข่าวสาร พบว่า เป็นปัญหามาโดยตลอด
โดยด้านการให้ข่าวสารนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ข่าวสารตรงหรือไม่ บิดเบือนหรือไม่ มีความคิดเห็นหรือไม่ ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่ทุกคนถามขึ้น
นายมีชัย กล่าวอีกว่า ในหลายกรณีพบว่า ข่าวสารนั้นมีเนื้อหาสาระไม่เกินสองย่อหน้า แต่ได้บรรยายความรู้สึกจนต้องต่อหน้า 16 แปลว่า ข่าวสารนั้นไม่ใช่เนื้อหา แต่ได้ใส่อย่างอื่นเข้าไปด้วย ยิ่งด้านการให้ความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องต้องการความอิสระเสรีอย่างมากของคนทำสื่อ เพราะไม่สามารถบังคับความคิดเห็นของคนได้ จะคิดเห็นอย่างไรเป็นเรื่องของคนนั้น ไม่มีใครชี้ถูกหรือผิดได้ เพราะบางอย่างเป็นเรื่องกาลเวลาที่คิดเห็นก่อนเวลาที่มาถึง คนจะยอมรับไม่ได้ แต่นาน ๆ ไปคนเริ่มเห็นว่าใช่จริง ๆ
นายมีชัย ยกตัวอย่าง กรณี Ombudsman ของสื่อ เพื่อหวังเป็นที่พึ่งของประชาชน ในการตรวจสอบการกระทำ ซึ่งนักวิชาการตอนนั้นไม่มีใครรู้จัก ทุกคนกล่าวหาว่ากำลังจะนำเผด็จการเข้ามา ในที่สุดตัดสินใจถอดออก ต่อมาอีก 7 ปี ใน รธน.ปี 2540 ได้นำกลับไปใส่อีกครั้ง ทุกคนปรบมือบอก เรากำลังก้าวหน้า นั่นแปลว่า ความคิดนั้นมาเร็วกว่ากำหนด เป็นเครื่องบอกว่า ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่ว่า คนเสนอนั้นมีความคิดสุจริตหรือไม่ และอยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับของใครหรือไม่ รวมถึงมีความอิสระเสรีมีจริงหรือไม่ ซึ่งในความเห็นส่วนตัว คิดว่า อิสระเสรีไม่มีจริง
“ทุกคนไม่ได้มีอิสระเสรี 100% มิฉะนั้นคงฆ่ากันตายหมดแล้ว ฉะนั้นภายใต้กรอบจำกัดของสังคมที่จะอยู่ร่วมกัน เสรีภาพนั้นย่อมถูกจำกัดโดยปริยาย”
ประธาน กรธ. ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อถูกกำกับหรือจำกัด โดยเจ้าของสื่อ บรรณาธิการ สปอนเซอร์ (ผู้มีอุปการะคุณ) และสุดท้าย ประชาชน
“ในอดีต ประชาชนไม่มีอิทธิพลต่อสื่อ เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่ประชาชนจะไปตอบโต้หรือบอกกับสื่อได้ว่า สิ่งที่กำลังทำขัดต่อศีลธรรมอันดี เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงถูกลิดรอนมาเรื่อย ๆ แตกต่างจากปัจจุบันประชาชนไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกอีกแล้ว เพราะกลายเป็นสื่อเอง โดยไม่มีวิชาชีพและไม่ต้องรู้หลักเกณฑ์การทำข่าวว่าเป็นอย่างไร”
นายมีชัย ขยายความต่อว่า วันนี้ประชาชนมีเทคโนโลยีในมือ เมื่อรู้อะไรขึ้นมาตูมเข้าไปได้เลย ที่สำคัญ คนที่จับจิตวิทยาฝูงชนได้ สามารถเขียนอะไรในลักษณะที่เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ออกมาได้ ซึ่งสื่อทำไม่ได้ แต่ประชาชนทำได้ จะด่าหยาบ ๆ หรือใช้ถ้อยคำไม่ดี ซึ่งคนฟังที่บ้านทุกคนมีอารมณ์ดิบด้วยกันทั้งนั้น เกิดความสะใจ
ทั้งนี้ เวลาที่สื่อหลักลงข่าว จะมีคนอยู่ในเหตุการณ์ออกมาบอกได้ทันทีว่า ถูกต้องหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถามว่า คนทั่วไปเชื่อใคร แน่นอนว่า เชื่อโซเซียลมีเดีย จนกว่าสื่อจะหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า ภาพนั้นถ่ายจากแง่มุมที่ผิด
“ปัจจุบันประชาชนเริ่มมีอิทธิฤทธิ์ในเชิงกำกับสื่อมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สื่อต้องเริ่มคิดว่า จะกำกับดูแลกันเองอย่างไร จึงจะเกิดผล ซึ่งเรื่องลักษณะนี้ไม่มีใครทำให้ได้ เพราะใครมาทำให้จะเป็นของแน่นอนว่า คนนั้นจะเสียคน เพราะเวลาคิดต้องคิดทั้งระบบ และในระบบนั้นจะมีการแซงค์ชั่นในตัวของมันเอง”
ประธาน กรธ.จึงมีข้อเสนอว่า องค์กรที่เกี่ยวกับสื่อ ณ ที่นี้ คือ ของหนังสือพิมพ์ เราจะวนเวียนเฉพาะสิ่งพิมพ์ แต่ถามว่าสื่อสิ่งพิมพ์เป็นกี่เปอร์เซนต์ของสื่อปัจจุบัน คำตอบน่าตกใจ ฉะนั้นองค์กรควบคุมวิชาชีพสื่อสารมวลชนต้องหาทางรวมกันให้ได้ คุยกันให้ได้ พอได้คร่าว ๆ แล้ว จึงคิดตั้งองค์กรเป็นศูนย์รวม ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องออกฎหมาย ไม่ใช่เพื่อบังคับให้ทุกคนเป็นสมาชิก แต่ต้องออกเพื่อตั้งตัวนี้เป็นหลักเป็นฐาน และสร้างอำนาจบางอย่างให้ โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพของการประกอบวิชาชีพ
นายมีชัย กล่าวถึงความจำเป็นต้องสร้างองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาจริยธรรมของสื่อทุกแขนง เมื่อพบผิดทำอย่างไร ไปลงโทษไม่ได้ ไล่ออกไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ และคิดว่าจะมีประสิทธิภาพ คือ เมื่อสอบแล้วพบว่า เป็นเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมจริง ๆ ให้แถลงให้ประชาชนทราบ ระบุ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วจบ รวมไปถึงให้เขียนบทนิรโทษกรรมในนั้น ทำโดยสุจริตใครจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือฟ้องหมิ่นประมาทไม่ได้
“ผมพยายามคิดว่า วิธีนี้เท่านั้นจึงจะไม่กระทบถึงเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและมีเหตุผลอยู่ในตัว เพราะเป็นการป้องกันสังคมโดยรวม รักษาความน่าเชื่อถือของสื่อไว้ โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งทางแพ่งและอาญา นั่นคือแนวทางที่คิดไว้ ลองไปสานต่อกันดูว่าจะขยายความกันอย่างไร” นายมีชัย กล่าวในที่สุด .