เปิดมุมมองผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ-ข้อควรระวังต่อปฏิบัติการนำตัว 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวง
"...การค้นหากลุ่มผู้ประสบภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีจนพบส่งผลให้ความหวังในการช่วยเหลือแจ่มชัดขึ้น และถ้าบริเวณที่พวกเขาอยู่ปลอดภัยจากปริมาณน้ำที่ท่วมเพิ่มขึ้นและผู้ช่วยเหลือสามารถส่งความช่วยเหลือและอาหารเข้าไปได้เรื่อย ๆ พวกเขาก็จะสามารถอยู่ในถ้ำได้นานพอเท่าที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าน้ำยังท่วมบริเวณที่พวกเขาอยู่เพิ่มมากขึ้นอาจจะต้องใช้วิธีแรกซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายที่สุด คือ การพากลุ่มผู้ประสบภัยดำน้ำออกมา..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ แอนมาร์ เมอร์ซา (Anmar Mirza) ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากถ้ำแห่งสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีปฎิบัติช่วยชีวิตสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี อายุ 12-16 ปี และ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อายุ 25 ปีรวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 23 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กรณีผู้ประสบภัยชาวไทยที่ติดอยู่ในถ้ำทั้ง 13 คน (ทีมหมูป่าอคาเดมี) เป็นกรณีที่ยากที่สุดที่เคยเจอมา
แอนมาร์ เมอร์ซา กล่าวว่า โดยปกติแล้วน้ำที่ท่วมในถ้ำจะลดลงจนถึงระดับที่เข้าไปช่วยเหลือได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน แต่กรณีของประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไปเนื่องจากผ่านมาหลายวันแล้วระดับน้ำยังไม่ลดและมีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำอาจจะไม่ลดอีกเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม อย่างไรก็ดี เด็ก ๆ ทีมหมูป่าอคาเดมียังโชคดีเนื่องจากอุณหภูมิในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนอยู่ระหว่าง 21-30 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เย็นจนเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายไม่ตกลงจนเกิดอันตราย
อย่างไรก็ดี แอนมาร์ เมอร์ซา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือการติดอยู่ในถ้ำ 9 วันโดยไม่มีอาหาร เพราะมนุษย์สามารถอยู่รอดได้โดยไม่กินอาหารเลยราว ๆ 3 – 4 สัปดาห์ แต่หลังจากผ่านไป 9 วัน ระบบย่อยอาหารในร่างกายจะเริ่มหยุดทำงาน ซึ่งถ้าผู้ประสบภัยได้รับอาหารหนักเข้าไปเลยทันทีจะเป็นอันตรายถึงชีวิต
"ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือจะต้องค่อย ๆ ให้อาหารทีละน้อยอย่างระมัดระวังเพื่อฟื้นฟูระบบย่อยอาหาร ส่งผลให้อาจจะต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์ถึงจะฟื้นฟูร่างกายของผู้ประสบภัยให้กลับมาแข็งแรงจนสามารถทำกิจกรรมหนัก ๆ ในการออกจากถ้ำได้"
ในส่วนของการช่วยเหลือออกจากถ้ำนั้น แอนมาร์ เมอร์ซา ระบุว่า "ทางเลือกที่อันตรายที่สุดคือการพยายามนำผู้ประสบภัยออกจากถ้ำด้วยการฝึกดำน้ำให้กับผู้ประสบภัยเพื่อช่วยพาดำน้ำออกมาเพราะการดำน้ำออกจากถ้ำเป็นการกระทำที่ต้องใช้กำลังอย่างมาก เนื่องจากจะต้องดำน้ำลึกหลายร้อยเมตรซึ่งมีแรงดันใต้น้ำสูง อาจจะส่งผลให้ผู้ประสบภัยสลบได้"
"ในสถานการณ์ปกติการดำน้ำลึกในถ้ำ เป็นสิ่งที่นักดำน้ำที่มีประสบการณ์ดำน้ำภายนอกถ้ำมาระยะเวลาหนึ่ง อาจจะต้องฝึกอีกหลายร้อยชั่วโมง เนื่องจากการดำน้ำในถ้ำสำหรับมือใหม่อาจจะส่งผลให้เกิดความกลัวระหว่างดำอยู่ใต้น้ำรวมถึงการกลัวหน้ากากดำน้ำหลุดได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ประสบภัยรวมถึงก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือด้วย"
"ส่วนการเจาะผนังถ้ำทำทางออกใหม่ จะต้องใช้เครื่องมือขุดเจาะขนาดใหญ่ขนมาตั้งยังบริเวณที่ถนนถูกสร้างอย่างสมบูรณ์ และยังต้องมีการทำแผนที่รวมถึงใช้รังสีสแกนพื้นที่ภายในถ้ำอย่างละเอียด และถึงแม้จะมีการสำรวจอย่างละเอียดการหาพื้นที่เจาะผนังก็ยังเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรอยู่ดี ซึ่งในส่วนการหาทางออกจากถ้ำทางใหม่ ผู้ช่วยเหลือต่างใช้เวลาค้นหากว่า 10 วันแล้วแต่ก็ยังไม่พบ ดังนั้นความหวังในการค้นหาทางออกจากถ้ำใหม่จึงน้อยลงเรื่อย ๆ"
เมื่อพูดถึงการรอให้น้ำในถ้ำลด แอนมาร์ เมอร์ซา เห็นว่า "ในช่วงเวลานี้เป็นฤดูมรสุมอยู่ส่งผลให้น้ำในถ้ำลดลงช้ามาก ถึงจะใช้วิธีสูบน้ำออกก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์ถ้าอากาศเป็นใจ และอาจจะใช้เวลามากกว่านี้หากอากาศไม่ดี"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากถ้ำรายนี้ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "การค้นหากลุ่มผู้ประสบภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีจนพบส่งผลให้ความหวังในการช่วยเหลือแจ่มชัดขึ้น และถ้าบริเวณที่พวกเขาอยู่ปลอดภัยจากปริมาณน้ำที่ท่วมเพิ่มขึ้นและผู้ช่วยเหลือสามารถส่งความช่วยเหลือและอาหารเข้าไปได้เรื่อย ๆ พวกเขาก็จะสามารถอยู่ในถ้ำได้นานพอเท่าที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าน้ำยังท่วมบริเวณที่พวกเขาอยู่เพิ่มมากขึ้นอาจจะต้องใช้วิธีแรกซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายที่สุด คือ การพากลุ่มผู้ประสบภัยดำน้ำออกมา"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากถ้ำรายนี้ ยังกล่าวทิ้งทายด้วยว่า "ในขณะนี้ทั่วโลกกำลังกำลังจับตามองการช่วยเหลืออยู่และผู้ช่วยเหลือก็กำลังอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากผู้ประสบภัยทุกคนไม่ถูกช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัยผู้ช่วยเหลือก็อาจจะถูกตำหนิว่ามีบางสิ่งที่สะเพร่าหรือเปล่าหรือผู้ช่วยเหลืออาจจะเกิดข้อสงสัยต่อวิธีการที่ตนเองใช้ช่วยเหลือว่าดีที่สุดจริง ๆ หรือเปล่า"
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองผ่านประสบการณ์ของ ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากถ้ำแห่งสหรัฐอเมริกาโดยตรง ต่อกรณีปฎิบัติช่วยชีวิตและนำตัวสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงกลับบ้าน ที่กำลังได้รับความสนใจและถูกจับตามองจากคนทั่วโลกในห้วงเวลานี้
หมายเหตุ ที่มาเรื่องจาก https://edition.cnn.com/2018/07/03/opinions/cave-expertthai-rescue-is-one-of-the-toughest-ive-seen-mirza/index.html
รูปภาพประกอบจาก: https://www.thairath.co.th/content/1316634 และ https://edition.cnn.com/2018/07/03/opinions/cave-expertthai-rescue-is-one-of-the-toughest-ive-seen-mirza/index.html