นักวิชาการชี้ไทยขาดผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ทั้งประเทศมีแค่ 1 คน-สกว.เล็งคุยทีมวิจัย ศึกษาเป็นระบบ
นักวิชาการจุฬาฯ เผยไทยขาดผู้เชี่ยวชาญ ‘ถ้ำ’ ทั้งประเทศมีแค่ ‘ชัยพร ศิริพรไพบูลย์’ คนเดียว ด้านผู้บริหาร สกว. เตรียมพูดคุยกับนักวิจัยศึกษาอย่างเป็นระบบ
จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งสูบน้ำออกจากถ้ำเขาหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เพื่อนำเยาวชนและผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน ออกมาอย่างปลอดภัย และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสมบูรณ์ หลายองค์กรเตรียมถอดบทเรียนเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านถ้ำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญน้อยมาก
รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ภายหลังการแถลงข่าวเรื่อง น้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำขาด รับมืออย่างไร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 สกว. อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.ชนาธิป ระบุกรณี 13 ชีวิต ติดถ้ำเขาหลวงขุนน้ำนางนอนนั้น มองว่าเป็นโอกาสที่ สกว. จะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการศึกษาข้อมูลเพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวถ้ำ จากเดิมที่มีความเสี่ยง เพราะข้อมูลพื้นที่มีค่อนข้างจำกัด หลายคนจึงยังไม่ทราบว่า ถ้ำแต่ละแห่งสามารถเข้าไปได้ระยะทางมากน้อยเพียงใด ทำให้ขณะนี้ได้เริ่มพูดคุยกับทีมวิจัยพอสมควร และจะต้องทำให้เป็นรูปธรรมและเป็นระบบที่เข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดข้อมูลด้านถ้ำมาก
ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยขาดผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำหรือน้ำถ้ำ โดยปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว คือ นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา ที่มีความชื่นชอบในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่า เนื่องจากในอนาคตสถานการณ์น้ำของไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากฤดูกาลไม่แน่นอน อาจต้องทำป้ายแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเป็นระบบที่มีอักษรเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บวกลบสภาพอากาศอย่างน้อย 1 เดือน .
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
กรมทรัพยากรธรณีพบทางเข้าใหม่ ‘ถ้ำหลวงนางนอน’ ส่งทีมช่วยเด็ก-ครูฝึก 13 ชีวิต
ภาพประกอบ:https://www.thairath.co.th/content/1316431