นักวิจัยชี้สถานการณ์น้ำไทยเสี่ยงขาดแคลน แนะเก็บข้อมูลทุก 3-5 ปี กำหนดมาตรการรับมือ
นักวิชาการ จุฬาฯ เปิดผลวิจัยสถานการณ์น้ำ 10 ปี ย้อนหลัง พบผันผวนสูง เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง พื้นที่ปลูกอ้อย-ทำนา วิกฤติขาดแคลนน้ำ แนะศึกษาข้อมูลทุก 3-5 ปี กำหนดมาตรการเหมาะสม
วันที่ 3 ก.ค. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว น้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำขาด รับมืออย่างไร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 สกว.
รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการศึกษางานวิจัยสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในอดีตถึงปัจจุบันระหว่าง ปี พ.ศ.2549-2558 ในโครงการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย :ทรัพยากรน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยศึกษาข้อมูลสภาพอุทกวิทยาของ 25 ลุ่มน้ำหลัก ของไทย ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า น้ำบาดาล แหล่งน้ำ ต้นทุน สภาพปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ ข้อมูลการใช้น้ำครัวเรือน ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมถึงดัชนีชี้วัดที่สำคัญ
โดยการศึกษาทำให้พบว่า ที่ผ่านมาภาคเกษตรใช้น้ำมากที่สุด ร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด ส่วนภาคบริการมีการใช้น้ำน้อย แต่ยังเป็นภาคที่สร้างรายได้สูงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ดังเช่น ภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้น้ำในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 17-18 มากกว่าปริมาณการใช้น้ำในภาคครัวเรือนหรือเพื่ออุปโภคบริโภค
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวต่อถึงคุณภาพน้ำ พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากการระบายน้ำเสียจากชุมชนและการชะหน้าดินที่มีปุ๋ยประเภทสารเคมีตกค้างจากการเกษตรและปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีเพียงร้อยละ 29 พอใช้ร้อยละ 49 และเสื่อมโทรม ร้อยละ 22 โดยแหล่งน้ำในภาคใต้มีคุณภาพดีกว่าภาคอื่น ๆ ขณะที่ภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่า โดยกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากที่สุด และตรังเป็นจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำดีมากที่สุด
ส่วนพื้นที่ประสบวิกฤติขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง รศ.ดร.ทวนทัน ระบุข้อค้นพบว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและทำนาที่ใช้น้ำมาก เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เป็นพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปีละ 1 พันมิลลิเมตร ขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่มีสภาพดินไม่อุ้มน้ำ โดยพื้นที่เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี คือ แพร่ สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
“พื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทำให้บรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง เช่น ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และบางพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งน้ำย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว และว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่มีปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการอื่นในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ระบบแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนและใช้น้ำในฤดูแล้ง ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดลงในแผนบริหารจัดการน้ำของชาติแล้ว
รศ.ดร.ทวนทัน ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดการน้ำด้วยงานวิจัย หากสามารถประเมินความเสี่ยงวิกฤติน้ำได้ก่อนล่วงหน้าที่จะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก ดังนั้น การศึกษาสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม จะเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคมและประเทศ เพราะสถานการณ์น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันมาก จึงต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 3-5 ปี เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และนำมาพัฒนาปรับปรุงและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม
ทั้งนี้ โดยสรุป ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำของไทยมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังทำให้ทราบว่าสถานการณ์วิกฤติน้ำของแต่ละพื้นที่มีระดับความเสี่ยงภัยที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก อย่างที่ได้เกิดขึ้นใช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลที่จะได้รับจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำไปประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และกำหนดแนวทางบริหารจัดการ หามาตรการที่เหมาะสมใช้กับพื้นที่ได้ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มสถานการณ์น้ำปีนี้ จากข้อมูลการทำนาย ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2561 จะเกิดสภาพเอลนิโนแบบกลางถึงมาก ในช่วงปลาย ส.ค. -ก.พ. 2561 แสดงว่า หน้าฝนจะมาเร็วและหมดเร็ว ทำให้เกิดภัยแล้งชั่วคราว แต่เนื่องจากในเขื่อนมีน้ำสะสมอยู่มาก จึงไม่ประสบภัยแล้งเหมือนในปี 2557 .