ย้อนรอย 11 ถ้ำสะเทือนขวัญ
เหตุการณ์ครั้งนี้คือบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับงานกู้ภัยของคนไทย รวมทั้งอาจใช้เป็นกรณีศึกษา สำหรับ ยุทธวิธีการกู้ภัย งานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การกู้ภัยและอาจยกระดับการกู้ภัยของคนไทยให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกในสถานการณ์คับขันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ถ้ำเป็นสถานที่มนุษย์ถือว่าเป็นสถานที่ลี้ลับและเป็นแดนสนธยาที่ท้าทายคนจำนวนหนึ่งให้อยากเข้าไปค้นหาความจริง การสำรวจถ้ำมีอันตรายอยู่แทบทุกฝีก้าวเพราะเราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าท่ามกลาง ความมืด ความเย็น และความซับซ้อนของถ้ำนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลายคนเข้าไปแล้วกลับออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่คนจำนวนไม่น้อยที่เอาชีวิตไปทิ้งในถ้ำอย่างน่าเสียดาย
เหตุการณ์ต่อไปนี้คือเหตุการณ์อุบัติภัยจากถ้ำ 11 เหตุการณ์เท่าที่ได้มีการบันทึกเอาไว้
๏ 30 มกราคม 2468 - นักสำรวจถ้ำชื่อ วิลเลียม ฟลอยด์ คอลลินส์ (William Floyd Collins ) เข้าไปสำรวจถ้ำชื่อ คริสตัล (Crystal cave)ในรัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจทางเข้าเส้นใหม่ของถ้ำ ในขณะที่เขากำลังแทรกตัวผ่านช่องแคบๆในโพรงถ้ำต่ำจากพื้นราว 17 เมตร อยู่นั้น ตะเกียงที่เขาใช้นำทางเริ่มใกล้จะดับวูบลง เขาพยายามดิ้นรนออกจากช่องแคบๆของถ้ำก่อนที่ไฟจะมอดหมด แต่เขาทำไม่สำเร็จเพราะถูกหินจากเพดานหล่นมาทับ ขาซ้ายของเขาถูกตรึงแน่นด้วยก้อนหิน เขาจึงติดแน่นอยู่ในช่องแคบของถ้ำและไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนได้
หลังจากนั้นสี่วันขณะที่หน่วยกู้ชีพกำลังจะนำนำและอาหารไปให้เขาได้ปรากฏว่า ถ้ำเกิดถล่ม ปากทางเข้าถ้ำถูกปิด ทำให้โอกาสที่จะช่วยเขาออกจากถ้ำเหลือน้อยเต็มที่ เสียงตะโกนจึงเป็นสิ่งเดียวที่หน่วยกู้ภัยสามารถติดต่อกับวิลเลียมได้ ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตลง จากความหิวกระหายและอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำมากหลังจากทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำเป็นเวลาถึง 14 วัน ร่างของเขาถูกเก็บไว้ในโลงศพในถ้ำแห่งนั้นและต่อมาได้ถูกนำไปฝังที่สุสานใกล้ถ้ำ เรื่องราวของเขาถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ Trapped ! The Story of Floyd Collins” เมื่อปี 1979
๏ 24 มิถุนายน 2510 - เด็กหนุ่มสาว 10 คน เข้าไปในถ้ำ มอสเดล คาเวร์น (Mossdale Caverns) ประเทศอังกฤษ สามชั่วโมงต่อมาเพื่อน 4 คน ได้ตัดสินใจกลับออกมาจากถ้ำ คงเหลือเพื่อนๆอีก 6 คน ที่ยังคงอยู่ในถ้ำต่อไป เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ถ้ำ มอสเดล คาเวร์น เป็นถ้ำหินปูนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม มีทางเดินที่แคบและเปียกชื้น บางส่วนของถ้ำอาจมีน้ำท่วมสูงถึงคอได้ บางคนในกลุ่มเคยมา
เที่ยวที่ถ้ำแห่งนี้มาก่อน ทั้งหกคนเดินลึกเข้าไปราว 3 กิโลเมตร และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก น้ำในลำธารเอ่อล้นจนท่วมบริเวณถ้ำและล้นเข้ามาในถ้ำ จนทำให้ทางเข้าถ้ำถูกปิดลง พวกเขาพยายามดิ้นรนหาทางออก เพราะหวังว่าภายในถ้ำจะมีช่องพอที่จะหายใจได้บ้าง แต่พวกเขาหมดหวัง ทั้งห้าคนถูกน้ำท่วมเสียชีวิตทันที คงเหลือชายหนุ่มที่ชื่อ จอห์น ออกเดน ( John Ogden) เพียงคนเดียวที่พอจะชูคออยู่ในช่องว่างเหนือน้ำได้ แต่กว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึงตัว เขาได้เสียชีวิตลงอย่างน่าสงสารขณะที่ร่างของเขายังติดอยู่กับช่องหินแคบๆเพื่อกระเสือกกระสนหาอากาศเพื่อต่อลมหายใจ
๏ 29 กันยายน 2527 - นักดำน้ำหนุ่ม ชื่อ ปีเตอร์ เวอร์ฮุลเชล (Peter Verhulsel) หายเข้าไปในถ้ำ ชื่อ สเติร์กฟอนทีน (Sterkfontein Caves ) ทางตะวันตกของเมือง โยฮันเนสเบอร์ก ประเทศ อัฟริกาใต้ ขณะที่ดำน้ำลงไปในถ้ำกับเพื่อนอีกสองคน ว่ากันว่าเขาไม่ค่อยได้ใส่ใจกับข้อบังคับของการดำน้ำในพื้นที่ถ้ำเท่าไรนัก
ในที่สุด ปีเตอร์ก็พลัดหลงกับเพื่อนและติดอยู่ในถ้ำนั้น เขาพยายามแหวกว่ายเพื่อหาทางออกแต่ก็ไม่สำเร็จ ในขณะที่ออกซิเจนในถังก็มีอยู่จำกัด โชคดีที่ปลายถ้ำมีเกาะเล็กๆพอที่จะเป็นที่พักพิงได้อย่างน้อยเขาก็จะรอดจากจากการจมน้ำ แต่ออกซิเจนที่กำลังจะหมดสร้างปัญหากับเขาอย่างมากที่จะช่วยเขาออกไป เมื่อหมดหนทางเขาจึงได้แต่รอความหวังจากหน่วยกู้ภัยเท่านั้น ปีเตอร์ติดอยู่บนเกาะท่ามกลางความมืดและหนาวเหน็บในถ้ำถึงหกสัปดาห์เต็มกว่ากู้ภัยจะมาพบร่างที่ผอมโซของเขานอนแน่นิ่ง เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพคาดว่าเขาเสียชีวิตมาแล้วราวสามสัปดาห์ก่อนกู้ภัยมาพบ
สิ่งน่าสะเทือนใจก็คือข้อความที่เขาเขียนไว้บนผืนทรายบนเกาะถึงแม่และภรรยาของเขา แม้เขาจะเสียชีวิตเพียงคนเดียวแต่เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เขย่าขวัญของนักดำน้ำในถ้ำที่ต้องจดจำเสมอ
๏ พ.ศ. 2531 - แอนดริว ไวท์ (Andrew Wight) นักเขียนบทภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรเลียกับเพื่อนรวม 15 คน เดินทางไปสำรวจถ้ำที่ลึกที่สุดของโลกแห่งหนึ่งชื่อ ถ้ำ แพนนิคิน(Pannikin) ซึ่งอยู่ที่ทุ่งราบ นุลลาบอร์(Nullarbor) ประเทศออสเตรเลีย ในวันสุดท้ายของการสำรวจเกิดพายุและฝนกระหน่ำในบริเวณถ้ำอย่างหนัก ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากไหลบ่าเข้าไปในถ้ำทำให้ผนังหินบริเวณทางเข้าส่วนหนึ่งและเพดานถ้ำได้พังทลายลง ปิดโอกาสที่จะใช้ทางเดิมออกจากถ้ำอย่างสิ้นเชิง ทั้งสิบห้าคนติดอยู่ใต้ผืนถ้ำ 24 ชั่วโมงเต็ม กว่าจะพบทางออกอีกด้านหนึ่งทำให้ทุกคนสามารถคืบคลานออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย
เหตุการณ์ครั้งนั้นคือส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ Nullarbor dreaming “ และเป็นแรงบันดาลใจให้แอนดริว ไวท์ เขียนบทและสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Sunctum” (ดิ่ง ท้า ตาย) เมื่อหลายปีก่อน แม้ว่าเขาจะรอดจากการติดถ้ำ แต่เขาต้องมาเสียชีวิตจากเครื่องบินตกในอีกหลายปีต่อมา
๏ 28 เมษายน 2538 - เด็กนักเรียน 17 คน พร้อมเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังช่องเขา เคป ครีก ( Cave creek) อุทยานแห่งชาติ ปาปารัว (Paparoa) ประเทศนิวซีแลนด์ ขณะยืนชมวิวอยู่บนจุดชมวิวนั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ชานชาลาชมวิวที่ทำด้วยไม้ไม่สามารถทานน้ำหนักคนทั้งหมดได้ จึงถล่มลงมาจากความสูง 40 เมตร ทำให้มีนักเรียนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตถึง 14 คน
๏11 กันยายน 2545 - ตำรวจในเมือง สปลิท (Split) ประเทศ โครเอเชีย ได้รับแจ้งกลางดึกจากกลุ่มนักดำน้ำว่า นักดำน้ำสัญชาติเช็คคนหนึ่งไม่กลับมาหลังจากออกไปดำน้ำในถ้ำใต้น้ำที่อ่าวโพกานิก้า (Poganica Bay) ทุกคนคาดว่าเขาคงติดอยู่ภายในถ้ำใต้น้ำ เช้าของวันเดียวกันตำรวจสองนายได้ดำน้ำเข้าไปค้นหาร่างของผู้สูญหาย แต่ปรากฏว่าตำรวจนายหนึ่งหายเข้าไปในถ้ำและไม่ได้กลับออกมาอีกเลย คงมีเพื่อนตำรวจเพียงคนเดียวที่กลับออกมาได้
ในวันต่อมาหน่วยกู้ชีพสามารถกู้ศพสองศพออกมาจากถ้ำใต้น้ำได้ ศพหนึ่งเป็นศพของตำรวจ อีกศพหนึ่งที่เป็นของนักดำน้ำ
ที่น่าตกใจคือศพนักดำน้ำมีมีดปักคาอยู่กลางอก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม แต่หลักฐานจากการชันสูตรศพในภายหลังพบว่ามีความเป็นไปได้ที่นักดำน้ำคนนี้อาจฆ่าตัวตายจากการใช้มีดปักอกตัวเองเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมานจากการขาดอากาศหายใจหลังจากติดอยู่ในถ้ำและออกซิเจนไม่เพียงพอ การตายของนักดำน้ำคนนี้ได้ถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของ Split University Hospital Center ประเทศโครเอเชีย
๏ 8 มกราคม 2548 - เหตุเกิดที่ถ้ำใต้น้ำชื่อ บุชแมน โฮล(Bushman’s Hole) ประเทศ อัฟริกาใต้ ถ้ำใต้น้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นถ้ำที่อยู่ลึกลงไปใต้น้ำถึง 270 เมตรและมีสภาพแวดล้อมที่น่ากลัวกว่าที่ใดๆ นักดำน้ำน้อยคนนักที่มีโอกาสที่เข้าไปถึงถ้ำแห่งนี้และนักดำน้ำหลายคนเอาชีวิตไปทิ้งไว้ที่นี่ ถ้ำแห่งนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักดำน้ำในถ้ำ
เดฟ ชอร์ (Dave Shaw) หนุ่มนักดำน้ำและเป็นนักบินสายการบินคาเธย์แปซิฟิก ชาวออสเตรเลียได้ตัดสินใจที่จะลงไปกู้ศพของนักดำน้ำชื่อ ดิออน เดรเยอ (Deon Dreyer) ซึ่งสูญหายไปในถ้ำนี้เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้และที่แห่งนี้คือสถานที่ดำน้ำแห่งสุดท้ายของ เดฟ ชอร์ เพราะนอกจากจะเอากระดูกของ ดิออน เดรเยอ กลับมาให้กับครอบครัวไม่ได้แล้ว ตัวเขาเองยังไม่สามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ แม้ว่าเขามีโอกาสที่จะสัมผัสร่างของ ดิออน เดรเยอ แล้วก็ตามแต่เขากลับไม่สามารถเอาร่างที่เหลือแต่โครงกระดูกนั้นกลับมาได้ เพราะนอกจากเครื่องช่วยหายใจจะทำงานไม่ทันจนทำให้คาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าปอดของเขาแล้ว การหายใจที่เร็วเกินไปทำให้เขาสำลัก ขณะเดียวกันถุงที่บรรจุร่างที่ไร้ชีวิตของดิออนกลับเป็นภาระที่ดึงให้เขาจมดิ่งลงไปอีกและในที่สุดร่างของเขาก็ต้องนอนอยู่เคียงข้างกับศพของคนที่เขาจะไปกู้ขึ้นมา
๏13 ตุลาคม 2550 - นักท่องเที่ยวชาว เยอรมัน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ พร้อมไกด์และคนขับรถรวมทั้งหมด 9 คน เดินทางเข้าไปที่ถ้ำน้ำทะลุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่เข้าไปในถ้ำเกิดน้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณถ้ำอย่างฉับพลัน เฮเลนา แครอล (Helena Carroll) ผู้รอดชีวิตจากการติดอยู่ในถ้ำราว 20 ชั่วโมงเล่าว่า ชาวบ้านได้เตือนนักท่องเที่ยวแล้วว่าไม่ควรเข้าไปในถ้ำเพราะฤดูนี้อาจเกิดอันตรายจากน้ำป่าได้ แต่เธอและคนอื่นๆไม่ได้ใส่ใจ ทั้งหมดจึงเข้าไปในถ้ำ เพียงไม่นานพวกเขาได้ยินเสียงอื้ออึงคล้ายเสียงน้ำไหลมาจากด้านหลังและเห็นน้ำบ่าเข้าท่วมบริเวณถ้ำ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 8 คน
๏ 24 พฤศจิกายน 2552 - จอห์น เอ็ดเวิร์ด โจน (John Edward Jones) นักศึกษาแพทย์หนุ่มวัย 26 ปี และครอบครัวรวมทั้งเพื่อนๆ รวม 11 คน เดินทางไปยังถ้ำ นัทตี้ พัตตี้(Nutty Putty cave) รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ ทางตะวันตกของทะเลสาบยูทาห์ จอห์น คลานเข้าไปในช่องแคบของถ้ำและเริ่มติดอยู่ในช่องแคบขนาดเท่าๆกับฝาเปิด-ปิด เครื่องซักผ้า ในลักษณะหันหัวลงไปยังช่องแคบที่โค้งและมีพื้นที่จำกัดทำให้ไม่สามารถขยับตัวขึ้นหรือลงต่อไปอีกได้อย่างถาวร ทีมกู้ภัยเองไม่สามารถเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของลำตัวเขาได้เลยนอกจากเท้าที่โผล่ออกมาเล็กน้อยเกือบชิดเพดานถ้ำเท่านั้น ด้วยท่าติดช่องแคบที่มีลักษณะคล้ายกับเบ็ดจึงทำให้ทีมกู้ภัยไม่สามารถดึงร่างของเขาออกมาได้โดยตรง เพราะหากดึงขึ้นมาอวัยวะแรกคือขาของจอห์นต้องหักหรือขาดอย่างไม่ต้องสงสัย ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตหลังจากติดอยู่นาน 27 ชั่วโมง
การเสียชีวิตของจอห์นเป็นที่กล่าวขวัญกันมากเราะเขาไม่ได้เสียชีวิตในแบบมนุษย์ทั่วๆไป แต่เขาเสียชีวิตโดยห้อยหัวปักลงไปด้านล่างและภารกิจการช่วยเหลือครั้งนั้นล้มเหลว สุดวิสัยที่จะดึงจอห์นออกมาจากช่องแคบในถ้ำได้
ถ้ำ นัทตี้ พัตตี้ จึงกลายเป็นที่ฝังร่างไร้วิญญาณของจอห์นตั้งแต่นั้นมา ถ้ำแห่งนี้ได้ถูกปิดตายในที่สุดพร้อมกับร่างของจอห์นที่นอนสงบอยู่ในโพรงถ้ำแห่งนั้น เรื่องราวการติดถ้ำของ จอห์น โจน ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ The Last Descent ออกฉายเมื่อเดือนกันยายน 2016
๏ 6 กุมภาพันธ์ 2557 นักดำน้ำชาวฟินแลนด์ 5 คนได้ลงไปยังถ้ำใต้น้ำชื่อ พลูรา (Plura) ในประเทศ นอร์เวย์ พวกเขาวางแผนกันว่าจะเข้าถ้ำด้านหนึ่งแล้วดำน้ำไปโผล่อีกด้านหนึ่งของถ้ำ การดำน้ำแบ่งออกเป็นสองทีม ทีมแรกสองคน ทีมหลังสามคน น้ำบริเวณถ้ำเย็นจัดจนกลายเป็นน้ำแข็ง นักดำน้ำจึงต้องตัดแผ่นน้ำแข็งหน้าถ้ำให้เป็นช่องก่อนที่จะดำน้ำเข้าไปในถ้ำ ขณะที่ดำลึกลงไปโดยมีนักดำน้ำทีมแรกสองคนนำไปข้างหน้าก่อน หนึ่งในนักดำน้ำทีมแรกเกิดติดอยู่ในช่องแคบ เพื่อนร่วมทีมพยายามเข้าช่วยเหลือ แต่สุดวิสัยทำให้นักดำน้ำเสียชีวิตลงทันที นักดำน้ำหนึ่งเดียวของทีมแรกที่เหลือพยายามเอาตัวรอด โดยการดำน้ำย้อนกลับไปทางเดิม แต่เขาไม่สามารถหาทางไปยังโพรงที่เจาะไว้ตอนขาเข้าได้ เขาติดอยู่ในถ้ำด้วยความหนาวเหน็บถึง 11 ชั่วโมงกว่าเพื่อนอีกทีมหนึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือพาออกจากถ้ำอีกทางหนึ่งได้
๏ 23 มิถุนายน 2561 เด็กนักเรียนและโค้ชฟุตบอลทีม หมูป่า อคาเดมี 13 ชีวิต ได้หายเข้าไปใน ถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยพบรถจักรยานหลายคันถูกจอดทิ้งไว้หน้าถ้ำ คาดว่าทั้งหมดติดอยู่ในถ้ำไม่สามารถออกจากถ้ำได้เนื่องจากน้ำท่วมทางออก ปฏิบัติการค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากบริเวณถ้ำมีนำท่วมและฝนเป็นอุปสรรคต่อการค้นหา
ภารกิจการค้นหา 13 ชีวิต เป็นข่าวดังไปทั่วโลกมีการใช้กำลัง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน องค์กรต่างๆทั้งไทยและต่างประเทศระดมกำลังกันค้นหาตลอด 9 วัน ปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะเป็นการกู้ชีพการติดถ้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดและใช้กำลังพลตลอดจนเครื่องมือต่างๆมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลกเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติจากถ้ำทั้งหมดที่ผ่านมาและในที่สุดปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้ง 13 ชีวิตได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย
การกู้ภัยโดยไม่รู้ชะตากรรมของผู้ติดถ้ำและยังมีความหวังที่จะได้ชีวิตของผู้ติดถ้ำคืนมานั้น เป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นหัวใจของผู้อยู่ข้างหลังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ พ่อ แม่ และครอบครัวของทุกคนที่ต้องตกอยู่ในความทุกข์อย่างยิ่งตลอดช่วงการเวลาค้นหา
เหตุการณ์ครั้งนี้คือบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับงานกู้ภัยของคนไทย รวมทั้งอาจใช้เป็นกรณีศึกษา สำหรับ ยุทธวิธีการกู้ภัย งานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การกู้ภัยและอาจยกระดับการกู้ภัยของคนไทยให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกในสถานการณ์คับขันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งดีงามทั้งหลายที่เพื่อนร่วมชาติและร่วมโลกร่วมกันส่งไปถึงผู้ประสบภัยและทีมช่วยเหลือนั้น น่าจะทำให้คนไทยได้ซึมซับเอาไว้และระลึกถึงตลอดไป
ภาพประกอบ http://news.siamza.com/4623