คนตรัง-อุดรฯ ถามหาความปลอดภัยโครงการโรงไฟฟ้ารอบชุมชน
เอ็นจีโอถามหาความปลอดภัยโรงไฟฟ้าชีวมวลก่อนสร้าง 300 แห่งในอีสาน ด้านคนตรังเปิดเวทีถกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ต้องสรุปข้อดีข้อเสียให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมก่อนตัดสินใจสร้างหรือไม่
วันที่ 16 พ.ค.55 นางสาวสดใส สร่างโศก กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีเขตงานก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล หรือ“โรงงานไฟฟ้าแกลบ”ของบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ใน ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ถล่มทำให้คนงานเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าหากไม่เกิดอุบัติครั้งนี้ชาวบ้านอาจไม่รู้ว่าจะเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น และหากสร้างเสร็จจะเกิดผลกระทบใดกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนที่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าฟ้า
ซึ่งบริษัทบัวสมหมายฯ ไม่ได้สร้างแค่ที่อุดรฯ แห่งเดียว ที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการและเริ่มทยอยก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วอย่าง จ.อุบลราชธานี หรือที่กำลังดำเนินการขออนุญาตอย่าง จ.ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ ในขณะที่ภาคอีสานยังมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกกว่า 300 แห่ง
“ที่อุบลฯ หลังจากโรงงานเปิดใช้งานขึ้นก็เกิดปัญหากับชุมชน ฝุ่นโรงงานทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะกับเด็ก การแย่งแหล่งน้ำใช้จากชาวบ้านเนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องการใช้น้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าสูง ชาวบ้านที่ใช้น้ำในการเกษตรต้องมาเสียสละแบ่งปันแหล่งน้ำให้นายทุน โดยไม่ได้อะไรเลย”
สดใสกล่าวเพิ่มเติมว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล อุดรฯ เริ่มแรกจะผลิตไฟฟ้าเพียง 10 เมกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งสร้างภาพต่อชุมชนว่าเป็นอุตสหกรรมขนาดเล็กในชุมชนไม่มีผลกระทบรุนแรง แต่ผ่านไปสักระยะจะเพิ่มพลังการผลิตเป็นกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นตามอย่างทบทวีคูณ ทั้งการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เพิ่มมากขึ้น หรือการแย่งชิงแหล่งน้ำจากเกษตรกรและชุมชน บริษัทบัวสมหมายฯ หรือบริษัทอื่นที่จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่เคยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนเจ้าของพื้นที่แสดงความคิดเห็นและออกแบบการผลิตพลังงานในชุมชนของตนเลย อะไรจะเป็นมาตรฐานรองรับให้กับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบได้
“ขณะนี้มีแผนการที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในอีสานกว่า 300 โรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องของพลังหมุนเวียนที่ได้ใช้ประโยชน์ก็จริง แต่หากขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบไร้มาตรฐานในการจัดการดูแล คนที่จะต้องรับชะตากรรมโดยตรงคือชาวบ้านที่ต้องอยู่กับโรงงานกว่า 25 ปี ของระยะเวลาอนุญาตดำเนินกิจการ ไม่ใช่นายทุนเจ้าของกิจการที่มาแล้วก็ไป” สดใส กล่าวทิ้งท้าย
วันเดียวกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วิทยาเขตตรัง จ.ตรัง มีการหารือเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย (กฟผ.) โดยมีนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) นักธุรกิจ ข้าราชการ สื่อมวลชน และชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 25 คน โดย นายมานิต วงษ์สุรีย์รัตน์ ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตอนนี้ในจังหวัดตรังมีทั้งฝ่ายที่คัดค้านและสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างมาก น่าจะมีเวทีถกข้อดีข้อเสียโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขืนปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดสรรงบประมาณจัดจ้างบริษัทหรือมหาวิทยาลัยจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเกิดความขัดแย้งในตรังเพิ่มขึ้นอีก
นายศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่าตนได้ยินข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าตอนนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืององค์การบริหารส่วนตำบล มีการเจรจากว้านซื้อที่ดินในต.วังวน อ.กันตังแล้ว น่าจะมีกระบวนการของคนตรังอย่างเร่งด่วน
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน เสนอให้มีเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในวันที่ 30 พ.ค. 55 เป็นเวทีแรกโดยเชิญพลังงานจังหวัดตรัง ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมาให้ข้อมูล ตามด้วยเวทีให้ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยเชิญ กฟผ. ตัวแทนกระทรวงพลังงาน และนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูลวันที่ 13 มิ.ย. 55