ฮั้วประมูล: โกงขนาดนี้ อี – บิดดิ้ง ก็เอาไม่อยู่
การฮั้วประมูลอาจจะมาได้สองทาง หนึ่ง ผู้ประกอบการร่วมมือกันฮั้ว อีกทาง ผู้ประกอบการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เงินค่าฮั้วที่กล่าวถึงนี้ไม่เกี่ยวกับเงินใต้โต๊ะ เงินทอนหรือค่าเคลียร์อีกจิปาถะที่ผู้ชนะการประมูลต้องจ่ายในขั้นตอนต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่แต่ระดับอีกร้อยละ 5 – 40 หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและหน่วยงาน
การ ‘ฮั้วประมูล’ ยังคงทำกันอยู่แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนมาใช้ระบบอี - บิดดิ้งแล้วก็ตาม เห็นได้จากหลายคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ และ รมว. คลัง ก็เคยออกมายอมรับในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับคนในวงการก่อสร้างที่ยืนยันว่ามีการฮั้วตั้งแต่เริ่มใช้ อี - บิดดิ้งในปี 2558
ในปี 2560 ทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดซื้อฯ ผ่านระบบอี - บิดดิ้ง 32,908 โครงการ เป็นเงิน 437,330.15 ล้านบาท (ข้อมูลกรมบัญชีกลาง)
เมื่อสอบถามความเห็นของภาคเอกชนพบว่า การจัดฮั้วหรือโกงในขั้นตอนประมูลทำได้ยากกว่าระบบเดิม แต่ยังมีการสมรู้กันโกงในขั้นตอนอื่นๆ ของการจัดซื้ออยู่เช่นเดิม โดยที่ผ่านมาถ้าเป็นโครงการของ อปท. ร้อยละ 70 จะมีการโกงเกิดขึ้น
การฮั้ว (Bid Rigging or Collusive Tendering) จะสำเร็จได้ พวกเขาต้องรู้ว่า มีใครเข้าร่วมการเสนอราคาและเสนอราคาเท่าไหร่ จึงเกิดคำถามว่า อี - บิดดิ้งใช้เทคโนโลยี่ทันสมัย สามารถปกปิดไม่ให้รู้ว่าใครเข้าร่วมประมูลบ้าง ใครเสนอราคาเท่าไหร่ คนร่วมประมูลยังสามารถเสนอราคาผ่านอินเตอร์เน็ทจากที่บ้านหรือไหนก็ได้โดยไม่ต้องมาเจอหน้าคนอื่น อย่างนี้แล้วจะฮั้วได้อย่างไร?
ใครบ้างเกี่ยวข้องกับการฮั้ว ...
1. คนจัดฮั้ว ทำหน้าที่เป็นนายหน้าประสานงาน ตามข้อมูลปัจจุบันพบว่า คนจัดฮั้วในระยะหลังนี้มีทั้งกรณีที่ทำได้จริงและที่กุเรื่องมาต้มตุ๋นกัน
2. คนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ เอง ที่จะรู้และประเมินกันออกว่า ในโครงการนั้นมีรายใดที่สนใจและใครมีศักยภาพเข้าร่วมประมูลได้
3. คนในหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดซื้อ ที่จะรู้ว่ามีผู้ประกอบการรายไหนที่มาติดตาม - สอบถามข้อมูลก่อนการประมูล
4. คนในกรมบัญชีกลางและเอกชนผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ กรณีนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีบุคคที่เกี่ยวข้องชัดเจนและจำนวนจำกัด
5. ระบบรั่วหรือถูกเจาะข้อมูลโดยแฮกเกอร์ ซึ่งเคยจับได้แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 วิธีการคือคนที่เข้าร่วมประมูลงาน เมื่อซื้อเอกสารการประมูลแล้วจะได้ ‘รหัสผ่าน’ เข้าระบบ จากนั้นก็ส่งรหัสนี้ให้แฮกเกอร์ที่เชี่ยวชาญและมีฐานอยู่ในต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
เขาหากินอย่างไร ...
คนที่เข้าร่วมการประมูลมีทั้งพวกที่ตั้งใจมาประมูลงานจริงจัง พวกที่ไม่สนใจจะได้งานแต่ต้องการมากินฮั้ว พวกที่ถูกขอร้องให้เป็นคู่เทียบตามกฎหมาย และพวกที่ต้องการมาเก็บข้อมูลตลาด
ค่าฮั้ว เป็นคำเรียกส่วนแบ่งการฮั้วที่ผู้ชนะการประมูลต้องแบ่งเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ได้งานไปหรือราคากลาง เงินจำนวนนี้จะถูกหารด้วยจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมฮั้วและมาร่วมเคาะราคาประมูลพอเป็นพิธีให้ดูเหมือนว่ามีการแข่งขันราคาจริง เช่น งาน 100 ล้านบาท มีคนฮั้ว 5 ราย ส่วนแบ่งรายละ 1 ล้านบาท แต่ถ้า ‘ฮั้วแตก’ คือการประมูลล้มเหลวก็ยกเลิกกันไป
คนจัดฮั้ว โดยทั่วไปจะได้ร้อยละ 1 หรือบางครั้งอาจสูงถึงร้อยละ 5 จากราคาประมูล โดยจะแบ่งเงินนี้กับเจ้าหน้าที่คนละครึ่ง เช่น งานมูลค่า 100 ล้านบาท เขาและเจ้าหน้าที่จะแบ่งเงินกันคนละ 5 แสนบาท บางกรณีคนจัดฮั้วอาจได้กินฮั้ว 1 ส่วนเท่าผู้ร่วมประมูลก็มี
อี – บิดดิ้ง ถูกใช้เป็นทางการเมื่อ 1 ตุลาคม 2558 ยกเว้นการจัดซื้อแบบ จีทูจี และการซื้อจากองค์กรระหว่างประเทศ โดย รมว. คลังระบุว่า ระบบนี้ช่วยให้ประหยัดงบประมาณของรัฐได้มากถึงร้อยละ 18 ถ้าเป็นจริงตามนี้ก็เป็นโชคดีของประเทศ แต่เชื่อว่าเราจะประหยัดได้จริงจังกว่านี้หากรัฐบาลสามารถป้องกันการล็อคสเปค การฮั้วในขั้นตอนทำทีโออาร์ การแบ่งงานหรือจัดสรรโควต้าและการบริหารสัญญาได้
การฮั้วประมูลอาจจะมาได้สองทาง หนึ่งคือ ผู้ประกอบการร่วมมือกันฮั้ว อีกทางคือ ผู้ประกอบการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ต้องขอให้เข้าใจด้วยว่า เงินค่าฮั้วที่กล่าวถึงนี้ไม่เกี่ยวกับเงินใต้โต๊ะ เงินทอนหรือค่าเคลียร์อีกจิปาถะที่ผู้ชนะการประมูลต้องจ่ายในขั้นตอนต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่แต่ระดับอีกร้อยละ 5 – 40 หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและหน่วยงาน
ในแต่ละปีประเทศของเราต้องสูญเสียไปกับการฮั้วประมูลมากขนาดไหน แม้ภาครัฐจะพยายามพัฒนาวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้รัดกุมอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังมีคนตั้งหน้าตั้งตาทำสารพัดวิธีโกงก็ยากที่จะหยุดวิกฤตินี้ได้ จึงจำเป็นที่คนไทยทุกคนจะลุกขึ้นมาเป็น 'พลเมืองตื่นรู้ สู้โกง' ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ไม่สมคบคนโกงและช่วยกันปราบโกง