เกษตรกรร้องปลดแอกผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเองได้ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
เกษตรกร-เอ็นจีโอเรียกร้องรัฐแก้กม.พันธุ์พืชให้สิทธิท้องถิ่นผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเชิงธุรกิจ กรมวิชาการเกษตรเผยผลิตในครัวเรือนได้ ห้ามติดฉลากจำหน่ายในตลาด
วันที่ 16 พ.ค. 55 จัดโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งและเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดประชุมสมัชชาวิชาการ “อิสรภาพทางพันธุกรรม อธิปไตย และความมั่นคงทางอาหาร” ณ อาคารวชิรานุสรณ์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน โดยในหัวข้อ นโยบายรัฐในการส่งเสริมพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวไว้ทั้งสิ้น 24,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ เก็บรักษาที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง 17,000 ตัวอย่าง ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศ 3,000 ตัวอย่าง ข้าวจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ 3,000 ตัวอย่างข้าวป่า 1,000 ตัวอย่าง และมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแล้ว 119 พันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวเจ้า 96 พันธุ์ ข้าวเหนียว 23 พันธุ์ จะเห็นว่าแม้ไทยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวมาก แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการเมล็ดพันธุ์ถึง 6 แสนตันของประชากรในประเทศ
ดังนั้นกรมการข้าวจึงขับเคลื่อนการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ของประเทศ โดยต้องให้จังหวัดเข้าบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ ร่วมกับภาคเอกชน เกษตรกร เพราะเชื่อว่ามีข้อมูลพื้นที่ปลูก ความต้องการของเกษตรกรและความเสียหายจากภัยพิบัติชัดเจนกว่าภาครัฐที่ยากเข้าถึงพื้นที่ กรมการข้าวสมควรเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางมากกว่า
อธิบดีกรมการข้าว จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอ ได้แก่ 1.จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวในทุกจังหวัด 2.สำรองเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคง 3.จัดตั้งชมรมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ระดับจังหวัด และ4.จัดตั้งหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ยังยืนยันว่าภายในปีนี้จะนำข้าวหอมมะลินาปรังเข้าสู่ระบบจำนำให้เร็วที่สุด พร้อมจะพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวป่าด้วย
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม กล่าวว่า ไทยประสบปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพในท้องถิ่นมาก เนื่องจากหลายฝ่ายบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พันธุ์พืช ปี 2518 ที่ระบุคุ้มครองให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพในทางตรงข้าม ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนขนาดใหญ่ได้สิทธิการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเพื่อธุรกิจ แต่เกษตรกรกลับถูกกีดกันสิทธิดังกล่าว จนขณะนี้มีหลายคนถูกจับกุมเพราะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
ฉะนั้นจึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนในพันธุกรรมท้องถิ่น ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการเป็นอุปสรรคจัดการตนเองเรื่องเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ รวมถึงจำเป็นต้องเกิดกระบวนการวิจัยพันธุกรรมท้องถิ่นร่วมกับชุมชนอย่างครอบคลุม เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแวดล้อมแตกต่างกัน
นายพิรุณ ทองดี กลุ่มเกษตรกรทำนาน้ำแพร่ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการรวมตัวกันผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในท้องถิ่นรวมถึงจำหน่ายเพื่อธุรกิจ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับทางการตลาดที่ดี แต่กลับถูกกรมวิชาการเกษตรแจ้งว่าไม่สามารถจะกระทำได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย เกษตรกรหลายคนจึงถูกจับดำเนินคดี เลยเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สิทธิกับเกษตรกรได้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชเองมากกว่ากลุ่มทุนที่ได้รับสิทธิขณะนี้
ด้านดร.กัลยา เนตรกัลยานิตย์ ผู้แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ค่อยคลุกคลีเรื่องกฎหมายเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เอง เพื่อใช้ในชุมชนได้ โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ส่งเสริม แต่หากต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงธุรกิจ จำเป็นต้องดำเนินการจดทะเบียนลงทุนตามกฎหมายเท่านั้น