จับชีพจรสถานการณ์เด่นความมั่นคงทางอาหาร
เมืองไทยกำลังก้าวไปเป็นครัวโลก แต่คนไทยอยู่ในสถานะความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งปัญหาพืชปนเปื้อนจีเอ็มโอ ปัญหาการถือครองที่ดิน บริหารจัดการน้ำกระทบชุมชน รวมศูนย์กระจายอาหาร สารเคมีเกษตรกรรม
ปัญหาการแย่งยึดที่ดินและนโยบายปฏิรูปที่ดินไม่มีข้อสรุปชัดเจน อวิชชาทำสถานการณ์การปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอเลวร้ายลงทุกขณะ บรรษัทข้ามชาติกอบโกยทุนทางชีวิตคนไทยแต่ละปีมูลค่ามหาศาล มหาอุทกภัยรวมศูนย์กระจายอาหารทำคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า นโยบายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำคนไทยตายเฉียดแสน การจัดการน้ำค้างคาใจผลกระทบส่งตรงถึงชุมชน บ่มเพาะปัญหาระยะยาว ...ทั้งหมดทั้งมวลดูเหมือนแตกต่าง แต่มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งและเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จับมาบอกเล่าบริบทเดียวกันในสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2555 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
นโยบายการบริหารจัดการน้ำกับผลกระทบต่อเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาหลังน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำคิดแต่เรื่องน้ำท่วม แก้น้ำท่วมอย่างเดียว ตั้งแต่ภาคเหนือ แนวคิดหลักคือเอาน้ำลงทะเล เปลี่ยนลำคลองให้น้ำไหลเร็วขึ้น ใช้สูตรขยายแม่น้ำให้ใหญ่ แต่พอขยายใหญ่สิ่งที่ตามมาคือแม่น้ำมีแต่ทราย การบริหารเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เมื่อก่อนน้ำท่วมประมาณ 7-15 วันก็ลด แต่เดี๋ยวนี้หรืออาจต่อไปในอนาคตต้องใช้เวลานานหลายเดือน พื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา ฝั่งติดท่าจีนนครปฐมส่วนใหญ่เป็นสวนมะม่วง กล้วยไม้และส้มโอ การทำคันกั้นน้ำสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสูญเสียพื้นที่เกษตรกว่า 2 แสนไร่ที่ติดริมน้ำทั้งหมด โครงการทั้งหมดที่กำลังทำ ชุมชนไม่มีส่วนร่วม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนปลูกข้าวให้คนกิน อาจส่งผลถึงราคาข้าวในอนาคต
“รัฐมุ่งเน้นป้องกันอุตสาหกรรม เรื่องความมั่นคงทางอาหารมีการพูดถึงน้อยมาก การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงอยากสะท้อน รัฐบาลวางแผนง่ายแต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งจะทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง”
การรวมศูนย์การกระจายอาหารกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในช่วงมหาอุทกภัย
รพิจันทร์ ภูมิสัมบรรณ นักวิจัยมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำไมจึงเกิดปัญหาในระบบกระจายอาหารในช่วงภัยพิบัติปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ สืบเนื่องจากงานวิจัยพบว่า การเปิดเสรีทางการค้าทำให้เกิดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดที่มีการขยายอำนาจการตลาด ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดรวมอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในระหว่างปี 2551 – 2554 ร้านสะดวกซื้อมีอัตราการเติบโตสูงถึง 33% ไฮเปอร์มาร์เก็ต 36 % ซูเปอร์มาร์เก็ต 15 % ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมซึ่งมีมูลค่าทางตลาดลดลงเหลือ 2.2 แสนล้านบาทเปรียบเทียบกับโมเดิร์นเทรดที่มีมูลค่าสูงถึง 5.45 ล้านบาท
การไม่ตอบสนองต่อการเข้าถึงอาหารในภาวะวิกฤติ เนื่องจากระบบการกระจายอาหารที่รวมศูนย์ ส่งผลให้โมเดิร์นเทรดหลายสาขาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มแม้ว่าจะมีร้านสะดวกซื้อทั้งหมด 612 แห่ง และไฮเปอร์มาร์เก็น 237 แห่ง เทสโก้โลตัสมีศูนย์กระจายสินค้าหลักเพียง 4 แห่งคือ อ.วังน้อย (ศูนย์กระจายอาหารสด) จ. อยุธยา อ. ลำลูกกา (ศูนย์กระจายอาหารสด) อ.สามโคก จ.ปทุมธานี อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี การสต๊อกสินค้าภายในโมเดิร์นเทรดมีจำนวนน้อย เพื่อลดต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เกินความจำเป็น อีกทั้งความไม่ยืดหยุ่นของระบบการจัดการ ปัญหาและความไม่ชัดเจนทางข้อมูลทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ
“การรับมือวิกฤตครั้งต่อไป ควรสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าในประเทศ ค้าปลีกเพื่อกระจายความเสี่ยง กระจายอำนาจทางตลาด สร้างความหลากหลายของการเข้าถึงอาหาร ปฏิรูปกฎหมายเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 สร้างกลไกการร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน ภาคประชาชนรองรับวิกฤติ จัดทำจุดยุทธศาสตร์คลังสินค้าอาหาร จัดระเบียบคลังสินค้าของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และให้อำนาจรัฐในการเข้าตรวจสต็อกในคลังดังกล่าวในภาวะวิกฤต พัฒนาระบบการพึ่งพาตนเองในชุมชน”
สถานะของปัญหาและนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่ดินมีการกระจุกตัว เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน เป็นปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิต มีการขัดแย้งในการถือครอง มายาวนาน ตัวเลขใหม่ที่มีการนำมาเปิดเผยล่าสุดคือผู้แทนราษฎรหลายร้อยคนมีที่ดินมากกว่าร้อยไร่ ที่ดินถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรรมไปเป็นนายทุน กฎหมายปฏิรูปหลายฉบับยังหาความชัดเจนในทางปฏิบัติไม่ได้
นโยบายรัฐบาลที่ผ่านมามีให้คนจนเช่าที่ราชพัสดุ ปัญหาที่พบคือที่ดินถูกเปลี่ยนมือ เพราะวิธีคิดเอาเงินเป็นตัวตั้ง ใครมีเงินก็เช่าได้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินผลักดันแนวคิดที่ดินควรถูกจัดการโดยชุมชน ซึ่งมีโฉนดชุมชนเกิดขึ้น มีการตั้งธนาคารที่ดิน ที่มีพระราชกฤษฎีกาออกมา มีการอนุมัติโครงการนำร่องประมาณ 11,063 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินที่อยู่ในข้อพิพาทใน 5 พื้นที่ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ยอมตั้งกรรมการ ทำให้ทำงานต่อไม่ได้ ขณะที่เรื่องเก็บภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างหรือที่เรียกว่าภาษีก้าวหน้า ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการยกร่าง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
“โฉนดชุมชนเป็นแนวคิดที่จะทำให้ชมชนเข้าถึงที่ดินอย่างยั่งยืนและมั่นคง มีการบริหารจัดการโดยชุมชน มีการสร้างกติกาให้ชุมชนเข้ามาดูแล ป้องกันการเปลี่ยนมือไปสู่คนภายนอก สอดรับกับธนาคารที่ดินที่มีการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนจะมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับคนมีที่ดินเยอะ ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีชุมชนเข้าร่วมโครงการโฉนด 38 ชุมชน มีการยื่นความจำนงจำนวนมาก เพราะชาวบ้านเห็นช่องทางการเข้าถึงที่ดินมากกว่าที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการสานต่อต้องดูกันต่อไป”
รายงานผลการตรวจสอบการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยพ.ศ.2554-2555
ผศ.ดร.ปิยศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ผอ.ห้องปฏิบัติการทรานส์เจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปนเปื้อนในอาหารเป็นหนึ่งประเด็นความมั่นคงทางอาหารที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารที่มีบทบาทโดยตรงกับความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่อาหารถูกท้าทายจากภัยคุกคามรอบด้าน เกิดการสูญสลายของทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นอย่างไม่หวนกลับ ฐานทรัพยากรปนเปื้อน การล่มสลายของระบบผลิตอินทรีย์ ภาระต้นทุนในการตรวจและรับรอง ความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของการผลิตทางการเกษตรของประเทศ เกิดการผูกขาดแหล่งพันธุ์โดยบริษัทข้ามชาติ เจ้าของสิทธิบัตรอาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นข้ออ้างให้กลุ่มสนับสนุนใช้เหตุผลผิดตรรกผลักดันจีเอ็มโอ
งานวิจัยเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ทุกขึ้นตอน จากการสำรวจการหลุดรอดและปะปนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงพฤศจิกายน 2554 - เมษายน 2555 ใน 319 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ฝ้าย 27 ตัวอย่าง มะละกอ 74 ตัวอย่าง ข้าว 108 ตัวอย่าง ข้าวโพด 105 ตัวอย่าง พริกมะเขือเทศ และถั่วเหลือง 5 ตัวอย่าง พบการหลุดรอดและปะบนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในฝ้าย 9 ตัวอย่าง คิดเป็น 33.33% โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัด กาญจนบุรีและสุโขทัย การหลุดรอดปะปนในมะละกอ 29 ตัวอย่างคิดเป็น 39.19 % โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ของเกษตรกร ประเทศไทยไม่มีการอนุญาตตามกฎหมายให้มีการปลูกทดสอบในพื้นที่เปิดและผลิตจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ไม่มีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
“ปัญหาสะสมเป็นระยะเวลานานเกษตรกรกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ผลกระทบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่าง ประสิทธิภาพในการควบคุมและกำกับดูแลจากภาครัฐ อีกทั้งยังสะท้อนตัวอย่างการดำเนินการเกี่ยวกับจีเอ็มโอเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน กระทบการส่งออก กระทบต่อสังคม ต่อจากนี้การตัดสินใจทำอะไรต้องโปร่งใส เป็นที่รับรู้และยอมรับ ที่สำคัญต้องไม่กระทบความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศ”
นโยบายความปลอดภัยทางอาหารกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาการใช้สารเคมีมีการตื่นตัวอย่างกว้างขวาง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบอันตรายมากมาย โดยภาวะเฉียบพลันทำให้ ตาพร่า ปวดศรีษะ หายใจติดขัด มึนงง คลื่นไส้ เหงื่อออกมาผิดปกติ ปวดก้ามเนื้อ ผิวหนังเป็นผื่นคัน ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ขณะที่โรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับสารเคมีเกษตร เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อม น้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไขกระดูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน มะเร็งกระเพาะ มะเร็งอัณฑะ ต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด สมองเสื่อม พาร์กินสัน หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต การแท้งลูก พิการแต่กำเนิด ออติสติก เบาหวาน อสุจิพิการ
ประเทศไทยพบมีคนเสียชีวิตจากสารเคมีเกษตรมากถึง 56,000 คนต่อปีมากกว่าโรคใดๆที่ว่าร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์หรือโรคอื่นๆ ขณะที่หากป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะต้องฉีดยาเข็มละประมาณ 1 แสนบาท ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดีเอ็นเอ ล่าสุดยังพบว่าเป็นสาเหตุเบาหวาน คนไทยเป็นเบาหวานมากขึ้นโดยในปี2552 คนอายุ เฉลี่ย 55 ปี ป่วยเบาหวานกว่า 88 % ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สวีเดน อเมริกามีการคุมเข้มการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างหนัก เพราะที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อประชากรประเทศอย่างกว้างขวาง
“สำหรับประเทศไทยต้องให้มีหลักเกณฑ์การพิจารณาห้ามใช้หรือเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตราย ให้ชัดเจน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังว่าจะมีมาตรการป้องกันแก้อย่างไร ไม่ใช่การกินดีอิ่มหมีพีมันแต่สุดท้ายเป็นมะเร็ง”