ราชวิทยาลัยทันตแพทย์ฯ แจง นมฟลูออไรด์ ไม่ทำเด็กฟันตกกระ
ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยชี้แจงนมฟลูออไรด์ไม่ได้ทำให้เด็กฟันตกกระ ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการไม่มีคุณภาพ ย้ำชัดหากเด็กฝันผุ ไม่เพียงส่งผลกระทบเฉพาะในช่องปากเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ-การเจริญเติบโต
รศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวให้ยุติส่งนมผสมฟลูออไรด์ หลังว่ามีนมดังกล่าวหลุดออกนอกพื้นที่ไปยังโรงเรียนอื่น จนทำให้เด็กฟันตกกระนั้น ข่าวนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการให้นมฟลูออไรด์ของไทยดำเนินการในเด็กอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความปลอดภัยสูง แต่ประเด็นที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวด คือการบริหารจัดการต้องมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กได้รับนมอย่างเหมาะสม
"การเติมฟลูออไรด์ในนมเป็นมาตรการทางชุมชนที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก โดยกำหนดเกณฑ์ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน สำหรับประเทศไทยได้มีข้อสรุปทางวิชาการของวิชาชีพในปี 2560 ว่าให้พิจารณาตามความชุกของโรคฟันผุ, ระดับฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม พร้อมให้มีการเฝ้าระวังการได้รับฟลูออไรด์ของเด็ก ที่สำคัญต้องมีระบบการจัดส่งนมฟลูออไรด์ที่มีคุณภาพ"
รศ.ทพ.พรชัย กล่าวถึงนมฟลูออไรด์ คือการเติมฟลูออไรด์เข้าไปในนมสด มีสี กลิ่น และรสชาติ เหมือนนมทั่วไป วิธีนี้จะทำให้เด็กได้รับฟลูออไรด์เสริมอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน และคุ้มทุน ซึ่งจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กไทยที่ได้รับนมที่โรงเรียนทุกวัน การใส่ฟลูออไรด์ในนมในปริมาณที่เหมาะสม คือ 0.5 มิลลิกรัมต่อ 1 ถุง สามารถลดโรคฟันผุได้ร้อยละ 33-77 นอกจากนี้ยังพบว่า หลังการดื่มนมฟลูออไรด์จะพบปริมาณฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากตลอดเวลาร้อยละ 55-60 และพบด้วยว่ามี ฟลูออไรด์สะสมในแผ่นคราบจุลินทรีย์สูงขึ้น หลังได้รับนมนานถึง 8 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเสริมกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนตัวฟัน ทำให้ฟันเพิ่มความแข็งแรง เพราะได้รับแร่ธาตุฟลูออไรด์ไปสู่ผิวฟันด้วย
รศ.ทพ.พรชัย กล่าวด้วยว่า ทันตแพทย์คำนึงถึงวิชาการและความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก และเห็นว่า โรคฟันผุเป็นปัญหาสำคัญในเด็กไทย ซึ่งไม่ได้ส่งผลเฉพาะช่องปากเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย การป้องกันจึงเป็นวิธีที่คุ้มค่าทั้งในแง่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่การป้องกันโดยให้ผู้ปกครองดูแลเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ รัฐจึงควรเลือกมาตรการทางชุมชนที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้การบริหารจัดการเรื่องนมฟลูออไรด์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อมิให้มีนมฟลูออไรด์หลุดออกนอกพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับ โครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทยเริ่มครั้งแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบปัญหาฟันผุสูงและมีฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคต่ำ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมฟลูออไรด์เป็นแห่งแรกในประเทศ ในรูปแบบนมพาสเจอร์ไรซ์ขนาดถุงละ 200 มิลลิลิตร มีปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัม/ถุง ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษาพบว่า การดื่ม นมฟลูออไรด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี สามารถลดโรคฟันผุในฟันแท้ได้ ร้อยละ 34.4 โดยปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต่อมาจึงได้ขยายโครงการในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาคจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคฟันผุสูง มีระดับฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคของชุมชนต่ำ ไม่มีผลในการป้องกันฟันผุยังไม่มีโครงการฟลูออไรด์เสริมในระดับชุมชน โรงนมที่ได้รับสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนในจังหวัดนั้นมีความพร้อมในการพัฒนาและการเข้าร่วมการผลิตนมฟลูออไรด์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีความพร้อมในการดำเนินงานโครงการ นมฟลูออไรด์ฯ ของจังหวัดนั้น