ปี60 ก.ล.ต.ฟันแพ่ง10คดี ยอมจ่ายแค่9คดี 53.8ล.เหลืออีก1คดีส่ง อสส.ฟ้องศาลเอาผิด
ก.ล.ต. แจ้งผลลงโทษทางแพ่งสิ้นปี’59-60 ให้ ครม.ทราบ เอาผิดแล้ว 27 ราย 10 คดี ยอมจ่ายแค่ 9 คดี 53.8 ล้าน เหลืออีก 1 คดีไม่ยอมชดใช้ ส่ง อสส. ฟ้องศาลแพ่ง ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯใหม่ อยู่ระหว่างสอบสวน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) แจ้งผลการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ที่บังคับใช้ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2559 เป็นต้นมา ให้คณะรัฐมนตรีทราบ
โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เสนอคดีให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. 2559-30 ธ.ค. 2560 จำนวน 27 ราย รวม 10 คดี ในการนี้มี 9 คดี (25 ราย) ที่ผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำความผิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 53,886,640 บาท และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้กับกระทรวงการคลังแล้ว
อย่างไรก็ดีมี 1 คดี (2 ราย) ที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงนำส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อศาลแพ่งแล้ว
สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า คดีที่มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับผู้กระทำความผิดข้างต้น เป็นคดีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) สำหรับการกระทำความผิดในปี 2560 ที่อาจเข้าข่ายความผิดที่สามารถดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาความผิด จึงยังไม่มีข้อมูลหรือสถิติคดีการกระทำความผิดดังกล่าวที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้บังคับมาตรการลงโทษทางแพ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุน ความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนในตลาดทุนรายอื่นโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ตนล่วงรู้มา รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่ง เช่น กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ หรือซื่อสัตย์สุจริต การใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีนอมินีในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ประกอบด้วย อสส. เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาว่าสมควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดหรือไม่