นักเศรษฐศาสตร์ชี้ TCAS ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงการเรียนอุดมศึกษา
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ TCAS ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงการเรียนระดับอุดมศึกษา เหตุลดต้นทุนคนรวย-จน เท่ากันหมด แตกต่างจาก ตปท. สร้างหลักเกณฑ์เอื้อผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสมากขึ้น
วันที่ 29 มิ.ย. 2561 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง หนึ่งความยินดีในร้อยความเศร้า:พิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยหยิบยกสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในโรงเรียนแยกตามกลุ่มอายุ พบว่า ในระดับชั้นประถมศึกษา (อายุ 6-11 ปี) และมัธยมศึกษาตอนต้น (อายุ 12-14 ปี) นักเรียนได้รับการเข้าถึงการศึกษาสูงถึง ร้อยละ 99.4 และร้อยละ 97.0 ตามลำดับ และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 15-17 ปี) เหลือเพียงร้อยละ 78.5 และระดับอุดมศึกษา (อายุ 18-21 ปี) ร้อยละ 41.4
ขณะที่เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด สัดส่วนเด็กอายุ 15-17 ปีที่ อยู่ในโรงเรียน ได้รับการเข้าถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมปี 2535 เข้าถึงการศึกษา (กรุงเทพฯ) ร้อยละ 60.89 (ต่างจังหวัด) ร้อยละ 47.16 เพิ่มเป็นร้อยละ 81.59 และร้อยละ 79.76 ตามลำดับ ในปี 2554 โดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ‘เรียนฟรี’ ของรัฐบาล ทำให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำค่อย ๆ ลดลง
นักวิชาการ มธ. กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น คือ ครอบครัวที่มีส่วนในการตัดสินใจเรื่องการศึกษา โดยพิจารณาจากรายได้ การศึกษาของพ่อแม่ และจำนวนสมาชิกในครัวเรือน บ่งบอกให้เห็นถึงภาระความรับผิดชอบ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
ทั้งนี้ พบด้วยว่า ครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมีผลต่อแนวโน้มตัดสินใจให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งไม่แตกต่างกันระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“ถ้าครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,000 บาท/เดือน มีโอกาสที่นักเรียนจะอยู่ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.2-0.3” ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว และว่า ส่วนการศึกษาของหัวหน้าครอบครัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง หากมีการศึกษาสูงขั้นตอนระดับมัธยมต้น โอกาสที่นักเรียนจะศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นักวิชาการ มธ. ยังกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่า จากการคำนวณเงินเดือนของแรงงานที่มีอายุระหว่าง 35-40 ปี พบผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากระดับมัธยมศึกษา โดยสถิติทั่วประเทศ ผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 14,163 บาท ขณะที่ปริญญาตรี ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 30,187 บาท
โดยสรุป คือ การเข้าถึงศึกษาระดับอุดมศึกษา มีส่วนช่วยผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการศึกษา เพราะมีเพียงครอบครัวที่มีรายได้สูง ดังนั้น จะเห็นว่า การศึกษาในระดับนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำมากเท่าไหร่
ส่วนระบบการสอบเข้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai University Central Admission System:TCAS )หรือระบบใด มักจะให้ความสำคัญกับคะแนนสอบที่ขึ้นอยู่กับรายได้ ดังนั้น ผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีมักเป็นคนที่มีฐานะดี จึงไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนที่ระบุว่า TCAS ช่วยลดต้นทุน ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ช่วยลดต้นทุนทั้งคนมีฐานะร่ำรวยและยากจน เท่ากันหมด เพื่อไม่เสียเวลาสอบตามที่ต่าง ๆ แต่ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำดีขึ้น เพราะไม่ได้ช่วยลดต้นทุนเฉพาะคนยากจน ในขณะที่ต่างประเทศมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ฐานะไม่ดีหรือด้อยโอกาสเข้ามาเรียนได้ อย่างเช่น สหรัฐฯ มี Affirmative Action โดยใช้หลักเกณฑ์แตกต่างกันออกไป อีกทั้งปัจจุบันมีอิงจากฐานรายได้ด้วย
“มธ.มีระบบการรับเข้ากลุ่มคนด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ เดิมจะมีโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ราว 1 พันคน/ปี หรือร้อยละ 10 จากจำนวนรับนักศึกษาทั้งหมดกว่า 1.4 หมื่นคน/ปี แต่ช่วงสองปีหลัง พบว่า จำนวนกลุ่มคนด้อยโอกาสกลับมียอดตกลงมา ซึ่งยังไม่ได้ศึกษาว่า เกิดจากสาเหตุอะไร” นักวิชาการ มธ. กล่าวทิ้งท้าย