เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
"...หากนับรวมการอนุมัติครั้งล่าสุด วันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่รอประกาศราชกิจจานุเบกษาจำนวน 246 (เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ 36 ราย, เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 จำนวน 210 ราย) จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,942 ราย มากกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา ขณะที่การอนุมัติครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 จำนวนผู้ขอเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 3 มีจำนวนมากที่สุดถึง 1,004 ราย..."
"ระบบการพิจารณาการมอบเหรียญสดุดีแบบเก่านี้มีปัญหาก็เพราะว่า ผู้เสนอชื่อนั้นจะประสบความลำบากต้องเดินทางมายื่นเรื่องที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติที่เดียวเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้ที่มีความเหมาะสมว่าจะได้รับพระราชทานเหรียญสดุดี จึงทำให้เกิดปัญหาว่ามีรายชื่อที่ไม่ได้รับการพิจารณาจำนวนมาก ถึง 894 ราย ตั้งแต่ปี 2556-2559 ดังนั้นในปี 2560 ที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯโดยมีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานขึ้นมาเพื่อพิจารณาการมอบเหรียญที่ค้างตั้งแต่ปี 2556 และให้ศึกษาธิการจังหวัดและลูกเสือจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการรับเรื่องและส่งเรื่องต่อมายังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเพื่อให้บอร์ดคณะกรรมการลูกเสือเพื่อพิจารณาเรื่องการมอบเหรียญต่อไป"
"แต่ละยุค แต่ละสมัย ก็มีหลักเกณฑ์เป็นของยุคใคร ยุคมัน อย่างตอนนี้ท่านธงทองเขาก็ออกเกณฑ์มาใหม่ หลังจากนี้อาจจะยากกว่านี้อีกก็ได้ เพราะการออกเกณฑ์ใหม่ก็ต้องมีความรอบคอบขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บเงิน เกิดการทุจริต แต่ผมอยากให้ไปถามท่านธงทองให้ช่วยอธิบายด้วยว่าหลักเกณฑ์เก่านั้นเป็นอย่างไร และหลักเกณฑ์ใหม่เป็นอย่างไร เพราะผมก็ไม่ได้เห็นหลักเกณฑ์เดิม"
คือ คำให้สัมภาษณ์ของ นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ที่กล่าวยืนยันล่าสุดกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงปัญหาขั้นตอนการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ที่ค้างอยู่ตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2556 -2559 รวมจำนวน 894 ราย พบว่ารายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ส่วนที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ขณะที่รายชื่อผู้ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 จำนวน 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 ราย (อ่านประกอบ :เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน)
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการ ว่า รายชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 จำนวนรวมกว่า 720 ราย ที่ไม่ผ่านการพิจารณาว่ามีใครบ้าง รวมถึงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ในยุคสมัยรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมา มีการพิจารณาอนุมัติรายชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไร
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา นับจากปัจจุบันในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้อนกับไปจนถึงยุคนายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2546 พบรายละเอียดดังต่อไปนี้
ยุค นายทักษิณ ชินวัตร
มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2546 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ) มีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2545 แยกเป็น ชั้นที่ 1 จำนวน 292 ราย ชั้นที่ 2 จำนวน 544 ราย และชั้นที่ 3 จำนวน 288 ราย รวมทั้งสิ้น 1,124 ราย
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อ 05 มกราคม พ.ศ. 2549 ) มีผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1-3 ประจำปี 2546 จำนวน 844 ราย
รวมจำนวนผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือทั้งหมด 1,968 ราย
ยุค พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์
มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 22 มี.ค. 2550 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2550 ) โดยประกาศแรก มีผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีสดุดี ประจำปี 2547 ชั้นที่ 1 จํานวน 186 ราย ชั้นที่ 2 จำนวน 253ราย และชั้นที่ 3 จํานวน 478 ราย รวมทั้งสิ้น 917 ราย
ส่วนประกาศที่สอง มีผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีสดุดี ประจำปี 2548 ชั้นที่ 1 จํานวน 87 ราย ชั้นที่ 2 จํานวน 183 ราย และชั้นที่ 3 จํานวน 188 ราย รวมทั้งสิ้น 458 ราย
รวมจำนวนผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือทั้งหมด 1,375 ราย
ยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2552 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2552) รวมจำนวน 1,192 ราย แยกเป็น ผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ จำนวน 16 ราย และเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 จํานวน 295 ราย ชั้นที่ 2 จํานวน 507 ราย และชั้นที่ 3 จํานวน 374 ราย
ครั้งสอง เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2553 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2554) มีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี จํานวน 1,623 ราย แยกเป็น ชั้นที่ 1 จํานวน 479 ราย ชั้นที่ 2 จํานวน 563 ราย และชั้นที่ 3 จํานวน 581 ราย
รวมจำนวนผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือทั้งหมด 2,815 ราย
ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 05 มิ.ย.2555)
แยกเป็น ผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี 2553 จํานวน 19 ราย และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจําปี 2553 จํานวน 1,860 ราย แยกเป็น ชั้นที่ 1 จํานวน 548 ราย ชั้นที่ 2 จํานวน 613 ราย และชั้นที่ 3 จํานวน 699 ราย
รวมจำนวนผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือทั้งหมด 1,879 ราย
ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558) รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,696 ราย แยกเป็น ผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี 2554-2557 จำนวน 13 ราย ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ประจำปี 2554-2555 จำนวน 2,683 ราย แยกเป็นชั้นที่ 1 จำนวน 863 ราย ชั้นที่ 2 จำนวน 816 ราย และชั้นที่ 3 จำนวน 1,004 ราย
อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการอนุมัติครั้งล่าสุด วันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่รอประกาศราชกิจจานุเบกษาจำนวน 246 (เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ 36 ราย, เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 จำนวน 210 ราย) จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,942 ราย มากกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา
ขณะที่การอนุมัติครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 จำนวนผู้ขอเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 3 มีจำนวนมากที่สุดถึง 1,004 ราย
คำถามใหม่จึงเกิดขึ้นกับกรณีนี้ คือ หากการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ในยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาตรวจสอบเหมือนครั้งล่าสุด จะมีจำนวนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบเป็นจำนวนเท่าไร
เพราะตัวเลขผู้ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาครั้งล่าสุด จำนวน 720 ราย อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อ่านประกอบ :
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน