รู้จัก “วิทยุถ้ำ” : เครื่องมือกู้ชีพของนักผจญถ้ำ
วิทยุถ้ำเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยกู้ชีพผู้ติดถ้ำมาแล้วนับไม่ถ้วน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือชิ้นนี้ รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆทุกชนิดและสรรพกำลังของทุกส่วนงานจะช่วยให้ทั้ง 13 ชีวิตได้กลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่และครอบครัวด้วยความปลอดภัย
การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำหรือผู้ที่ทำงานอยู่ในถ้ำนั้น อุปกรณ์สื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้การติดต่อระหว่างผู้ที่อยู่ในถ้ำกับผู้ที่อยู่ปากถ้ำหรือผู้ที่อยู่ในถ้ำด้วยกันเองเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะทุกนาทีหมายถึงเดิมพันชีวิตของผู้ประสบภัยที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ในถ้ำ เพราะลำพังโทรศัพท์มือถือ วิทยุรับ-ส่ง หรือเครื่องมือสื่อสารที่ใช้งานตามปกติบนพื้นดินที่อยู่นอกถ้ำ รวมไปถึงการใช้นกหวีดหรือการตะโกนย่อมไม่สามารถทำงานได้ หรืออาจทำงานได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะถ้ำคือพื้นที่ปิดสำหรับการติดต่อสื่อสารทั้งปวง
ดังนั้นนักผจญถ้ำมืออาชีพจึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อใช้ช่วยเหลือคนติดถ้ำโดยเฉพาะ เครื่องมือชนิดนี้เรียกว่า วิทยุถ้ำ(Cave radio) หรือโทรศัพท์ถ้ำ (Cave phone)
เครื่องมือสื่อสารภายในถ้ำมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานและมีการปรับปรุงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โทรศัพท์แบบใช้สายเป็นเครื่องมือสื่อสารยุคแรกๆที่ถูกนำมาใช้ติดต่อระหว่างผู้ทำงานอยู่ในถ้ำกับคนภายนอก แม้ว่าการติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์จะมีประสิทธิภาพสูงด้านการส่งสัญญาณ แต่การที่ต้องเดินสายโทรศัพท์และการที่คนในถ้ำจะต้องเคลื่อนที่ไปมานั้นทำให้โทรศัพท์แบบใช้สายขาดความคล่องตัวเมื่อถูกนำไปใช้ในบางสถานการณ์
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงเกิดการพัฒนาเครื่องมือสื่อสารภายในถ้ำที่ใช้คลื่นวิทยุขึ้น
อย่างไรก็ตามการใช้คลื่นวิทยุเพื่อการสื่อสารภายในถ้ำนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะผนังถ้ำจะเป็นตัวดูดซับคลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ใช้กันในระบบวิทยุ รับ-ส่ง (Walkie-Talkie) นั้นจะมีการถูกลดทอนกำลังส่งลงเมื่อผ่านผนังถ้ำ
ดังนั้นการสื่อสารภายในถ้ำหรือผ่านน้ำจึงต้องใช้คลื่นวิทยุความถี่ต่ำ เช่น ในเรือดำน้ำ ซึ่งใช้อุปกรณ์ความถี่ต่ำติดต่อกับอุปกรณ์บนผิวน้ำ รวมทั้งวิทยุถ้ำซึ่งต้องใช้ความถี่ต่ำในการติดต่อกับภายนอก แต่การใช้ความถี่ต่ำก็มีข้อเสียเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ต้องใช้สายอากาศที่มีความยาวมาก กรณีที่นำอุปกรณ์ไปใช้ในถ้ำสายอากาศจึงมักต้องขดให้เป็นวงกลมหรือเหลี่ยม รวมทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางของคลื่นที่จะแพร่กระจายออกไป
ในช่วงปี 1970 นักผจญถ้ำชาวอังกฤษได้ทดลองใช้อุปกรณ์สื่อสารความถี่วิทยุย่านต่ำมาก(Very Low Frequency :VLF) เพื่อติดต่อระหว่างในถ้ำกับภายนอกและได้มีการพัฒนาสายอากาศที่มีประสิทธิภาพจนเป็นผลสำเร็จในที่สุด
อุปกรณ์ที่สร้างขึ้นในยุคแรกมีขนาดใหญ่และกินไฟจากแบตเตอรีมาก แต่ในภายหลังได้พัฒนาอุปกรณ์ให้มีขนาดเล็กลงคล่องตัวต่อการใช้งานมากขึ้น วิทยุถ้ำที่พัฒนาขึ้นในระยะแรก มีสองแบบ เรียกว่า โอโกโฟน(Ogofone) และ โมเลโฟน(Molefone) สามารถใช้งานที่ความลึกราว 150 – 180 เมตร ใช้สายอากาศแบบขดเป็นวงมีความกว้างของวงสายอากาศราว 1 เมตร อุปกรณ์บรรจุในกล่องอลูมิเนียมและมีกล่องแบตเตอรีแยกต่างหากและเป็นที่นิยมใช้ในอังกฤษในยุคนั้น
ในยุคหลังมีการพัฒนา วิทยุถ้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ที่นิยมใช้กันมีอยู่สองแบบ แบบแรกชื่อ HeyPhone ออกแบบโดยนักผจญถ้ำชาวอังกฤษชื่อ John Hey และอีกแบบหนึ่งเป็นระบบของฝรั่งเศสเรียกว่า Nicola System ทั้งสองแบบทำงานที่ความถี่ 87 กิโลเฮิรตซ์ ซึ่งถือว่าเป็นความถี่ต่ำกว่าอุปกรณ์สื่อสารประเภทวิทยุรับ-ส่ง อุปกรณ์หลักของ วิทยุถ้ำ คล้ายกับระบบ สื่อสารของวิทยุรับ-ส่ง ทั่วไปคือ ประกอบด้วย ไมโครโฟน อุปกรณ์รับ-ส่ง(Transceivers) สายอากาศและแหล่งจ่ายไฟ เป็นต้น
สิ่งที่แตกต่างระหว่างอุปกรณ์แบบเดิมกับอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ นอกจากจะทำให้มีขนาดเล็กลง กินกำลังไฟน้อยลงแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่ไกลกว่าเดิม เพราะมีการปรับเปลี่ยนระบบสายอากาศใหม่ โดยใช้สายอากาศประเภทที่เรียกว่า สายอากาศลงดิน(Earth antenna) ซึ่งถ้าใช้ภายในถ้ำ พื้นถ้ำหรือผนังถ้ำก็คือส่วนหนึ่งของสายอากาศนั่นเอง ทำให้สื่อสารได้ไกลมากถึง 800 เมตร
วิทยุถ้ำ แบบ HeyPhone เป็นที่นิยมใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้ติดถ้ำในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่งเดอบีไชร์ (Derby Shire Rescue Organization : DCRO) แห่งประเทศอังกฤษนิยมใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำ เนื่องจากอุปกรณ์ประเภทนี้เป็นอุปกรณ์เฉพาะจึงมักไม่เป็นที่รู้จักหรือมีจำหน่ายโดยทั่วไป
John Hey ผู้พัฒนาอุปกรณ์ชนิดนี้ได้สร้างอุปกรณ์นี้ด้วยมือจำนวน 66 ตัวเมื่อสิบกว่าปีก่อน และถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารภายในถ้ำตั้งแต่นั้นมา
ภารกิจค้นหา 13 ชีวิตที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนทีมงานผจญถ้ำ จากองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่งเดอบีไชร์(Derby Shire Rescue Organization :DCRO) แห่งประเทศอังกฤษ ได้นำอุปกรณ์ HeyPhone มาเพื่อใช้สื่อสารภายในถ้ำจำนวน 4 ชุดด้วยกัน
วิทยุถ้ำเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยกู้ชีพผู้ติดถ้ำมาแล้วนับไม่ถ้วน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือชิ้นนี้ รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆทุกชนิดและสรรพกำลังของทุกส่วนงานจะช่วยให้ทั้ง 13 ชีวิตได้กลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่และครอบครัวด้วยความปลอดภัย
ภาพประกอบ http://mmmmargot.blogspot.com/2010/10/rescue-room-for-improvement.html